ฉบับที่ 2/2554
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนมกราคม 2554 ในวันที่ 21 มกราคม 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 หดตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าตามแรงส่งของอุปสงค์จากทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแรงลง โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวหลังจากเร่งตัวสูงในช่วงครึ่งแรกของปี ขณะที่ภาคการส่งออกแผ่วลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ต่อมาในไตรมาสที่ 4 แม้สถานการณ์น้ำท่วมจะกระทบเศรษฐกิจไทยบ้าง แต่ข้อมูลเครื่องชี้เบื้องต้นสะท้อนว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังแข็งแกร่งและสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ในภาพรวมทั้งปี 2553 เศรษฐกิจไทยจึงสามารถขยายตัวได้สูงกว่าประมาณการครั้งก่อนเล็กน้อย
สำหรับแรงกดดันเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ค่อนข้างทรงตัวจากไตรมาสก่อน ปัจจัยสำคัญมาจากความเชื่อมั่นโดยรวมที่ปรับลดลงจากสถานการณ์น้ำท่วมและนโยบายของกรมการค้าภายในที่จะไม่พิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้าจนถึงสิ้นปี ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสดโดยเฉพาะในหมวดผักและผลไม้ แม้ราคาในหมวดพลังงานจะเร่งขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ตาม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวจากไตรมาสก่อนตามราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
ในการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้า คณะกรรมการฯ ได้ทบทวนข้อสมมติประกอบการคาดการณ์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับข้อสมมติเมื่อ 3 เดือนก่อนสรุปได้ ดังนี้
1. ข้อสมมติอัตราการขยายตัวของอุปสงค์ที่ประเทศคู่ค้ามีต่อการส่งออกของไทย ปรับสูงขึ้นจากเดิมเล็กน้อยในปี 2554 ตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะดีขึ้นเป็นสำคัญ และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2555
2. ข้อสมมติอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไม่แตกต่างจากรายงานฉบับก่อน โดยคาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจมีความเปราะบางและล่าช้าได้
3. ค่าเงินในภูมิภาคเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. โน้มแข็งค่าขึ้นมากกว่าข้อสมมติเดิมตลอดช่วงประมาณการ สอดคล้องกับข้อมูลจริงและแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีต่อเนื่องโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย
4. ข้อสมมติรายจ่ายโดยตรงของภาครัฐ สูงขึ้นจากข้อสมมติเดิมในปีงบประมาณ 2554 โดยเป็นผลจากการจัดประเภทรายจ่ายของรัฐบาลกลางตามข้อมูลใหม่ซึ่งทำให้เงินโอนบางส่วนมารวมอยู่ในรายจ่ายอุปโภคเป็นสำคัญ สำหรับปีงบประมาณ 2555 ทั้งรายจ่ายอุปโภคและรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้าตาม กรอบวงเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้น
5. ข้อสมมติราคาน้ำมันดูไบ ข้อสมมติราคาน้ำมันดูไบปรับเพิ่มขึ้นจากข้อสมมติครั้งก่อนตลอดช่วงประมาณการ ตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นกว่าปกติและเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง โดยในระยะต่อไปราคาจะโน้มสูงขึ้นตามการเร่งตัวของอุปสงค์จากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เป็นสำคัญ ทำให้ราคาโดยเฉลี่ยทั้งปี 2554 และ 2555 อยู่ที่ 91.3 และ 98.1 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
6. ข้อสมมติราคาสินค้าเกษตร มีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นในระยะต่อไป โดยเป็นผลจากทั้งอุปทานที่ได้รับผลกระทบในระยะสั้นจากปัญหาอุทกภัยและอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวดี สำหรับ ข้อสมมติราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มิใช่เชื้อเพลิง ปรับสูงขึ้นจากข้อสมมติเดิมค่อนข้างมากตามราคาในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และวัตถุดิบทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นจากอุปทานที่ตึงตัวเพราะปัญหาสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ IMF ที่ให้ราคาในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และวัตถุดิบทางการเกษตรปรับสูงขึ้นค่อนข้างมากในระยะสั้น
7. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปรับเพิ่มขึ้นจากข้อสมมติครั้งก่อนมาอยู่ที่ 215 บาทต่อวันในปี 2554 และปรับสูงขึ้นเป็น 226 บาทต่อวันในปี 2555 เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ภายใต้ประมาณการกรณีฐานที่อิงข้อสมมติข้างต้น คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2554 เป็นต้นไป โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนจะกลับมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้งเมื่อผลลบจากปัจจัยชั่วคราวต่างๆ หมดลงไป ภาพดังกล่าวสอดคล้องกับเครื่องชี้เบื้องต้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ที่ยืนยันว่าอุปสงค์ภายในประเทศมีความแข็งแกร่งและสามารถฟื้นตัวได้เร็ว นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังจะได้รับแรงสนับสนุนอีกทางหนึ่งจากภาคการส่งออกที่จะดีขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นชัดเจนในระยะต่อไป โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2554 จะเร่งขึ้น ส่วนหนึ่งจากการที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องส่งผ่านภาระต้นทุนไปยังราคาสินค้ามากขึ้นหลังจากอั้นการปรับขึ้นราคามาแล้วระยะหนึ่ง โดยต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบที่จะสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกและต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่อาจเพิ่มขึ้นบ้างตามการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้ แรงกดดันจากอุปสงค์ภายในประเทศที่จะเร่งขึ้นในระยะต่อไปจะส่งผลให้ช่องว่างการผลิต (Output Gap) แคบลงเป็นลำดับ ซึ่งจะเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถส่งผ่านภาระต้นทุนได้มากขึ้นด้วย สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางเร่งขึ้นเช่นกันตามแรงส่งจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและแนวโน้มราคาในกลุ่มพลังงานและอาหารสด แต่จะชะลอลงจากประมาณการเดิมเล็กน้อยเนื่องจากภาครัฐได้ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทั้งนี้ แรงกดดันต่อเงินเฟ้อจะมีต่อเนื่องไปในปี 2555 แต่อาจเห็นอัตราเงินเฟ้อชะลอลงบ้าง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงขึ้นจากการสิ้นสุดอายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพที่ไม่รวมค่าไฟฟ้าในปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ เห็นว่ามีความเสี่ยงที่อาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเบี่ยงเบนไปจากประมาณการในกรณีฐานได้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าความเสี่ยงด้านต่ำต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงมีมากกว่าความเสี่ยงด้านสูง โดยความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกโดยรวมลดลงจากประมาณการครั้งก่อน ขณะที่ความเสี่ยงจากปัจจัยภายในประเทศยังอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมโดยเฉพาะการเมืองภายในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนในระดับหนึ่ง ดังนั้น Fan Chart ของประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้จึงเบ้ลงน้อยกว่าในรายงานฉบับก่อนเพื่อสะท้อนความเสี่ยงด้านต่ำจากปัจจัยภายนอกที่ลดลง โดยมีช่วงประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 3.0-5.0 ทั้งในปี 2554 และในปี 2555
สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อ คณะกรรมการฯ มองว่าความเสี่ยงด้านสูงยังมีมากกว่าความเสี่ยงด้านต่ำ ที่สำคัญคือแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกและราคาอาหารสดที่อาจสูงกว่าในกรณีฐาน ทำให้ Fan Chart ของทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเบ้ขึ้นตลอดช่วงประมาณการ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.5-4.5 ในปี 2554 และร้อยละ 2.0-4.0 ในปี 2555 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0-3.0 ในปี 2554 และร้อยละ 1.5-2.5 ในปี 2555 การดำเนินนโยบายการเงินในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นตามแรงกดดันด้านต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ยังผ่อนคลายมากในขณะนั้นมีความจำเป็นน้อยลง และมีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี ต่อมาในการประชุมเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2554 คณะกรรมการฯ ยังคงมองแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไปในทิศทางเดียวกับการประชุมครั้งก่อน โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเข้าสู่แนวโน้มปกติได้อย่างต่อเนื่อง จากแรงส่งของอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นชัดเจนตามอุปสงค์ที่เร่งตัวขึ้น การส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าที่จะมีมากขึ้น และแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะสูงขึ้นในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 2.25 ต่อปี
ข้อมูลเพิ่มเติม : บดินทร์ ศิวิลัย โทร. 0 2356 7876 E-mail: bodinc@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย