ราคาน้ำมันปาล์มปี 53 พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 21, 2011 13:12 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางอรัญญา ศรีวิโรจน์ เศรษฐกรอาวุโส

ส่วนเศรษฐกิจภาค ธปท.สำนักงานภาคใต้

ราคาน้ำมันปาล์มปี 2553 เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง จากปัจจัยพื้นฐานคือ ความต้องการเพื่อบริโภคขยายตัว โดยเฉพาะการขยายตัวของการผลิตไบโอดีเซลตามนโยบายภาครัฐ ขณะเดียวกันสภาพอากาศที่แปรปรวนทั้งเอลนิโญและลานีญา ทำให้อุปทานตึงตัว ทั้งนี้ภาวะเอลนิโญยังกดดันต่อชีววิทยาของต้นปาล์มต่อเนื่องมาในปี 2554 จึงคาดว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันจะยังไม่เพียงพอต่อการขยายตัวของอุปสงค์ทำให้ราคาผลปาล์มทะลายและนำมันปาล์มยังทรงตัวในระดับสูง

ปี 2553 เป็นปีทองของเกษตรกรไทยผู้ปลูกปาล์มน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากผลปาล์มมีราคาสูงเป็นประวัติการณ์กว่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2551 ส่วนราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันปาล์มของมาเลเซียแตะ New Highs หลายครั้ง และสูงเกินกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ที่เคยคาดการณ์ว่า ราคาจะอยู่ที่ 2,800-2,900 ริงกิตต่อตัน คำถามที่เกิดขึ้นที่สำคัญมี 2 ประการ คือ ประการแรก ปัจจัยใดที่ทำให้ราคาสูงเกินกว่าที่คาดหมายแล้วทำไมราคาในไทยจึงสูงกว่าตลาดโลกมาก ประการที่สองราคาน้ำมันปาล์ม จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ หรือหยุดที่จุดใด มีโอกาสแค่ไหนที่ราคาจะกลับไปสู่ฐานเดิม(ประมาณ 3 บาท) วัตถุประสงค์ของบทความนี้จึงเสนอบทวิเคราะห์เพื่อตอบคำถามดังกล่าว

ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ราคาน้ำมันปาล์มดิบและผลปาล์มทะลายไทยเดือนธันวาคมเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาน้ำมันปาล์มดิบกิโลกรัมละ 43.80 บาท และราคาผลปาล์มทะลายกิโลกรัมละ 7.40 บาท ส่วนราคาเฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 19.6 และร้อยละ 21.1 ตามลำดับ ที่สำคัญสถานการณ์ปัจจุบันราคายังเพิ่มสูงต่อเนื่อง ภาวะที่ราคาเพิ่มสูงอย่างรวดเร็วสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่มากขึ้น จนอุปทานไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกิน (excess demand) โดยปัจจัยที่กดดันให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับอุปทานน้ำมัน คือ

(1) ปี 2553 ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศทั้งเพื่อการบริโภคและผลิตไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 จากปีก่อน ที่สำคัญในเดือนมิถุนายน 2553 ภาครัฐได้ประกาศเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลจาก บี 2 เป็นบี 3 ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตไบโอดีเซลในปี 2553 เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 14.4 และมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2554 ความต้องการน้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตไบโอดีเซล จะเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 53.8 จากนโยบายเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลเป็น บี5 เกรดเดียวใน ปี2554 *(1)

(2) อุปทานตึงตัวจากปัญหาภัยแล้งตั้งแต่กลาง ปี 2553 และน้ำท่วมในช่วงปลายปี ทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยผลผลิตปาล์มทะลายที่โรงงานสกัดรับซื้อในไตรมาส4 ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 27.5 เป็นปริมาณที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี

จากปัจจัยดังกล่าวคาดว่าสต็อกน้ำมันปาล์มในประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม จะเหลือเพียงประมาณ 80,000 ตัน (ปกติอยู่ที่ระดับ 1.2 แสนตัน )ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ66.7 ของการความต้องการใช้ในประเทศ*(2)

(3) ในภาวะที่ผลผลิตตึงตัวและความต้องการเพิ่มขึ้น แต่มีข้อจำกัดในการนำเข้าจากการที่น้ำมันปาล์มเป็นสินค้าควบคุม ยิ่งกดดันให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้นอย่าง รวดเร็วและสูงกว่าตลาดมาเลเซียถึงลิตรละ 8.78 บาท ในเดือนธันวาคม(ปกติมีส่วนต่างประมาณ 2 บาทต่อลิตร)

นอกจากนี้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดมาเลเซียซึ่งเป็นราคาอ้างอิงในตลาดโลกเร่งตัวขึ้นมากในครึ่งหลังปี 2553 ทำให้ราคาของไทยเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นตามราคาในมาเลเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยราคาตลาดโลกขึ้นสูงสุดในเดือนธันวาคมอยู่ที่ 1,229 ดอลลาร์ต่อตัน และเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 901 ดอลลาร์ต่อตัน จากปัจจัยด้านอุปสงค์ส่วนเกินเช่นเดียวกับสถานการณ์ของไทย ดังนี้

ปัจจัยแรก อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 และเร่งตัวค่อนข้างสูงในปี 2550 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มโลกเพิ่มขึ้นจาก 27.7 ล้านตันในปี 2546 เป็น 44.7 ล้านตันในปี 2553 โดยเฉพาะประเทศจีนและอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และประชากรจำนวนมาก มีความต้องการน้ำมันปาล์ม เพื่อบริโภคขยายตัวอย่างรวดเร็ว และปี 2553 การบริโภคของทั้งสองประเทศมีสัดส่วนร้อยละ 28.4 ของโลก

ปัจจัยที่สอง มาตรการใช้พลังงานทดแทนของประเทศต่าง ๆ เพื่อที่จะลดภาวะเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน กระแสการผลิตไบโอดีเซลร้อนแรงตั้งแต่ปี 2549 ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในภูมิภาคเอเชีย สหภาพยุโรป และอเมริกา โดยสหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานทั้งหมดภายในปี 2563 ถึงแม้การผลิตไบโอดีเซลของกลุ่มสหภาพยุโรป ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบถั่วเหลืองและเมล็ดเรพซีด แต่มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มเพื่อเป็นวัตถุดิบด้วย โดยสหภาพยุโรปนำเข้าน้ำมันปาล์มเป็นอันดับสามของโลก

นอกจากนี้เป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้โบโอดีเซลเพิ่มขึ้นในปี 2553-2554 ทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซียและไทย ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น

ปัจจัยที่สาม อุปทานโลกตึงตัว เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนทั้งเอลนิโญและลานีญาในปลายปี 2553 ส่งผลให้ผลผลิตพืชน้ำมันและธัญพืชทั่วโลกตึงตัว โดยผลผลิตน้ำมันปาล์มโลกปี 2553 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.0 จากที่เคยเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 8.3 ต่อปี*(3) และสต็อกลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.6 ขณะเดียวกันน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งเป็นสินค้าทดแทนกันได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแห้งแล้งในประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกคือ บราซิลและอาร์เจนตินา ทำให้การส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองปี 2552/53 ของทั้งสองประเทศลดลงร้อยละ 24.1 และร้อยละ 5.8 ตามลำดับ

ปัจจัยที่สี่ การเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า จากการที่นักลงทุนคาดว่าผลผลิตจะมีแนวโน้มตึงตัวและราคาน้ำมันดิบ ((crude oil) อาจพุ่งสูงเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ความต้องการน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซลจะเพิ่มขึ้นจนราคามีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้มีการเก็งกำไร ซึ่งเป็นการเพิ่มอุปสงค์เทียมขึ้นมา เป็นแรงกดดันให้ราคาปัจจุบันสูงขึ้น โดยปริมาณการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าปี 2553 มีจำนวน 4.06 ล้านสัญญา เพิ่มขึ้นร้อยละ 82.2 จากจำนวน 2.23 ล้านสัญญาในปี 2549

ราคาน้ำมันปาล์มในปี 2554 คาดว่ายังอยู่ในระดับสูง

ประเทศไทย แม้ว่าในระยะสั้นราคาจะอ่อนตัวลงจากการอนุญาตนำเข้าน้ำมันปาล์ม 30,000 ตันในเดือนมกราคม (คิดเป็นร้อยละ 2.3 ของความต้องการใช้ในประเทศ) และผลผลิตฤดูกาลใหม่จะเริ่มเข้าสู่ตลาดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนก็ตาม อย่างไรก็ตามคาดว่า ราคาปาล์มน้ำมันในปี 2554ยังอยู่ในระดับสูงกิโลกรัมละ 6-7 บาท เนื่องจากอุปสงค์ยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตไบโอดีเซลตามมาตรการภาครัฐที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล เป็น บี5 ขณะที่ผลผลิตในปี 2554 คาดว่าจะมีปริมาณใกล้เคียงกับปี 2553*(4) ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะภัยแล้งในปี 2553 ส่งผลให้ต้นปาล์มเจริญเติบโตไม่เต็มที่และกระทบต่อผลผลิตต่อไร่ของปาล์มน้ำมันใน 12-24 เดือนข้างหน้า ขณะเดียวกันอุทกภัยและวาตภัยมีผลให้ดอกที่จะเจริญเติบโตเป็นผลปาล์มร่วงไปมาก

ตลาดโลก Oil World คาดว่าในปี 2554 ราคาน้ำมันปาล์มเฉลี่ย 1,092 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 23.1 โดยปัจจัยที่มีผลต่อราคาปาล์มในตลาดโลก มีดังนี้

(1) ความต้องการน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคและผลิต พลังงานทดแทนยังขยายตัวต่อเนื่อง จากข้อมูลของ USDA*(5) ความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มของโลกปี 2553/54 ยังขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2552/53 ร้อยละ 7.9 ในขณะที่ผลผลิตขยายตัวร้อยละ 6.9 สะท้อนให้เห็นว่าผลผลิตยังตึงตัว (โดยเฉพาะอินเดียและจีนจะบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 และร้อยละ 5.9 ตามลำดับ)

(2) ปัจจุบันน้ำมันปาล์มเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่นักลงทุนมีการเก็งกำไรและราคาเคลื่อนไหวตามสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก อุปสงค์ที่เกิดจากการเก็งกำไรจึงขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลก การเมือง ผลทางด้านจิตวิทยาและการคาดการณ์ปัจจุบันอยู่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวและราคาน้ำมันจากฟอสซิลยังอยู่ในระดับสูง

บทสรุป

ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะอ่อนตัวลงบ้างหลังจากมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียและเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลให้ผลผลิต และผลผลิตน่าจะเข้าสู่ตลาดมากขึ้นในปลายไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม ราคาในปี 2554 คาดว่ายังอยู่ในระดับสูงจากการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ในประเทศส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลเป็น บี5 ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอมาตรการเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว โดย 1) จัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคา 2) จัดระเบียบผู้รับซื้อปาล์ม(ลานเท) และ3) บริหารปริมาณสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับ 1.5 แสนตัน

เอกสารอ้างอิง : www.dit.go.th

www.dede.go.th

http://www.fas.usda.gov/commodities.asp

The Economist Intelligence Unit Limited

www.mpob.gov.my

http://www.economywatch.com/world_economy/world-economic-indicators/worldgdp.html

http://en.wikipedia.org/wiki/Biodiesel_by_region

www.bursamalaysia.com

*(1) ปัจจุบันนโยบายบี 5 เกรดเดียว ได้เลื่อนออกไปไม่มีกำหนด

*(2) ใช้การจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบในประเทศเดือน มิ.ย.53 เป็นตัวแทนของความต้องการใช้ในประเทศ เนื่องจากเดือนนี้เริ่มใช้ บี3 แทน บี2

*(3) อัตราเฉลี่ยผลผลิตปี 2543-2552

*(4) The Economist Intelligence Unit Limited พยากรณ์ผลผลิตน้ำมันปาล์มโลกปี 2554 ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

*(5) พยากรณ์เดือนธันวาคม 2553

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ