นางวิเรขา สันตะพันธุ์
ผู้บริหารส่วน
สำนักนโยบายธุรกิจและบัญชีสถาบันการเงิน
ช่วงปลายปีที่ผ่านมามีบทความหรือบทสัมภาษณ์มากมายที่เขียนเกี่ยวกับการนำมาตรฐานการบัญชีใหม่ๆหลายฉบับที่สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นผู้กำหนดให้มาใช้กับกิจการในประเทศไทย ซึ่งจะมีผลกับงบการเงินที่จัดทำขึ้นในปี2554 โดยสภาวิชาชีพบัญชีเองก็มีบทความเผยแพร่ใน website ให้ ผู้จัดทำบัญชีนักลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาเป็นระยะๆการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อาจพูดได้ว่า เป็นการปรับหลักการบัญชีของไทยส่วนใหญ่ให้เป็นมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งดีที่จะช่วยส่งเสริมให้กิจการต่างๆสามารถลดต้นทุนในการระดมทุนไม่ว่าจะอยู่ในรูปการกู้ยืมเงิน หรือระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ในหรือต่างประเทศได้ในระยะยาว
หากถามว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จะมีผลกระทบต่องบการเงินของกิจการหรือไม่ ก็คงมีนักวิชาการหรือGuruหลายท่านออกมาตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าก็คงมีผลกระทบบ้างโดยเฉพาะมาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ๆ ที่เมืองไทยยังไม่เคยนำมาใช้เลยเช่นการบันทึกบัญชีเกี่ยวกับผลประโยชน์ของพนักงานหรือผลตอบแทนที่กิจการให้แก่พนักงานเมื่อเกษียณอายุหรือรางวัลต่างๆที่ให้แก่พนักงานผู้ซึ่งทำงานกับกิจการมาเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี โดยสมัยก่อนกิจการในเมืองไทยส่วนใหญ่ก็จะลงบันทึกบัญชีค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้พนักงานเหล่านี้เมื่อกิจการจะจ่ายเงินออกไปจริงในปีนั้นๆซึ่งหลักการบัญชีใหม่มองว่าควรมีการกระจายค่าใช้จ่ายเหล่านั้นออกไปตามช่วงเวลาที่พนักงานนั้นๆ ได้ให้บริการแก่กิจการเป็นการจับคู่ระหว่างผลตอบแทนที่กิจการจ่ายให้กับสิ่งที่กิจการได้รับจากการให้บริการของพนักงาน ทำให้งบการเงินสะท้อนข้อเท็จจริงได้ชดเจนยิ่งขึ้น แต่อาจมีความยุ่งยากในทางปฏิบัติบ้างคือจะรู้ได้อย่างไรว่าพนักงานคนนั้นๆจะทำงานกับกิจการจนเกษียณอายุหรือจะไม่มีการลาออกไปเสียก่อนซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่บอกเราว่านักบัญชีไม่สามารถทำงานเพียงฝ่ายเดียวได้อีกต่อไปแล้ว อาจต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายฝ่ายงานในองค์กรเช่นฝ่ายทรัพยากรบุคคลผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติหรือที่เรียกกันว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัยมาช่วยในการประมาณการว่าจะมีพนักงานที่ทำงานจนเกษียณอายุอยู่มากน้อยแค่ไหน อัตราเงินเดือนในช่วงนั้นควรเป็นเช่นไร โดยใช้ข้อมูลเชิงสถิติเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นเป็นการสะท้อนว่า ผู้บริหารระดับสูงของกิจการไม่ว่าจะเป็น CEO หรือ CFO ก็ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วย เนื่องจาก จะมีผลกระทบต่อฐานะการเงิน ผลประกอบการ และกระบวนการทำงานภายในของกิจการโดยผลกระทบจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นกับจำนวนพนักงาน อัตราการขึ้นเงินเดือน และนโยบายการจ่ายผลตอบแทนต่างๆของแต่ ละกิจการนอกจากนี้ยังสามารถสะท้อนให้เห็นว่านักบัญชีในยุคโลกาภิวัตน์นี้จะไม่ใช่ผู้เรียนรู้แค่วิธีการลงบัญชีเพียงอย่างเดียวแล้วแต่จำเป็นต้องรู้เรื่องการเงิน และการสร้างสัมพันธ์ภายในองค์กรเป็นอย่างน้อยด้วย
นอกจากนี้ อาจมีคำถามตามมาว่าแล้วจะมีมาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ๆ ออกมาอีกหรือไม่ในอนาคต คำตอบก็คงหนีไม่พ้นว่ามีแน่นอน โดยเฉพาะหลังจากวิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็มีกลุ่มนักวิชาการหน่วยงานที่ดูแลธุรกิจต่างๆรวมทั้งผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินในต่างประเทศออกมาส่งสัญญาณขอให้ผู้กำหนดมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่เมืองไทยนำมาถือปฏิบัติด้วยนั้น พิจารณาปรับปรุงหลักการบัญชีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยเป็นกลไกให้นักลงทุนหรือผู้ใช้งบการเงินสามารถอ่านงบการเงินได้เข้าใจง่ายขึ้นและสามารถประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับกิจการนั้นๆ ได้ ส่วนมาตรฐานการบัญชีที่น่าจะมีผลต่องบการเงินของกิจการต่างๆไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการผลิตหรือการให้บริการที่มีการให้เครดิตแก่ลูกค้า หรือสถาบันการเงินที่มีการให้สินเชื่อ ก็คงหนีไม่พ้น มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 39 ที่เรามักคุ้นเคยกับคำว่า "IAS 39" หรือที่กำลังมีการปรับปรุงแก้ไขแล้วออกเป็นฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่9(International Financial Reporting Standard no. 9 - IFRS 9)ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเงินๆทองๆ หรือที่เราเรียกว่า เครื่องมือทางการเงิน เช่น ลูกหนี้การค้า เงินให้สินเชื่อ เงินลงทุนไม่ว่าจะเป็นตราสารทุน ตราสารหนี้ หรือตราสารที่มีความซับซ้อนต่างๆ รวมทั้งด้านหนี้สินที่เป็นเจ้าหนี้เงินกู้ในรูปแบบต่างๆ โดยมาตรฐานฉบับนี้ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม คาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งก็จะมีการนำหลักการทางการเงิน เช่น การคำนวณหามูลค่าปัจจุบัน และการใช้มูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินที่กล่าวข้างต้นและ Business model ในการทำธุรกิจ มาเกี่ยวข้องในการลงบันทึกบัญชีด้วย นอกจากนั้น ยังมีการอาศัยข้อมูลเชิงสถิติในอดีต เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับลูกหนี้ที่ค้างชำระ หรือลูกหนี้ที่ไม่ชำระหนี้ ผลตอบแทนที่กิจการได้รับจากการติดตามทวงถามหนี้ดังกล่าวเพื่อนำมาพิจารณาโอกาสและจำนวนเงินที่คาดว่ากิจการจะมีความเสียหายเกิดขึ้นหรืออาจคุ้นกับคำว่ามีการด้อยค่าเกิดขึ้นเพื่อนำมาลงบันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการต่อไป
นั่นยิ่งเป็นการส่งสัญญาณว่ากิจการในเมืองไทยคงต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 2-3 ปีข้างหน้าแต่เนิ่นๆ โดยผู้บริหารระดับสูงของแต่ละกิจการ คงต้องเริ่มเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งควรรายงานให้คณะกรรมการของกิจการทราบการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้ด้วยการเตรียมการนั้น คงต้องเริ่มตั้งแต่จัดกลุ่มพนักงานที่มีความรู้ความเข้าใจหลักการบัญชีใหม่ๆ การติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาพิจารณาว่าจะมีอะไรบ้างที่อาจส่งกระทบต่อระบบการทำงาน กลยุทธ์ในการทำธุรกิจ ฐานะและผลการดำเนินงานรวมทั้งผลตอบแทนที่จะส่งผ่านผู้ถือหุ้นเพื่อจะได้เตรียมแผนการดำเนินงานไว้แต่เนิ่นๆรวมทั้งคงต้องเริ่มพัฒนาข้อมูลเชิงสถิติที่จำเป็น ระบบการประมวลผล การตรวจเช็กความถูกต้องของข้อมูล และที่สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาความรู้ความเข้าใจของบุคลากรในองค์กร นอกเหนือจากฝ่ายบัญชี ซึ่งคงต้องประกอบด้วยหลายฝ่ายงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายบริหารเงิน ฝ่ายสินเชื่อ ฝ่ายการตลาดที่ดูแลลูกค้า ให้รู้เท่าทันหลักการบัญชีที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป
หากเรารีบเตรียมพร้อมเมื่อรู้ว่ากำลังจะมีสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทายเกิดขึ้นเสียแต่เนิ่นๆก็จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งนักลงทุนและผู้ใช้งบการเงินสามารถปรับตัวรับได้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ของธุรกิจในระยะยาวต่อไป
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 27 - 29 มกราคม 2554 ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย