แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคม และทั้งปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 31, 2011 17:06 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 3/2554

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2553 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวชะลอลง ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนจากผลของฐานที่สูง

เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง แต่เงินเฟ้อเร่งขึ้นชัดเจน และแรงกดดันด้านราคาสูงขึ้นจากทั้งเงินเฟ้อคาดการณ์และต้นทุนการผลิต

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

การขยายตัวของเศรษฐกิจในเดือนนี้มีแรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศเป็นสำคัญ โดยการส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 17,220 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.6 ขยายตัวดีในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดเกษตรที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของราคายางพาราและมันสำปะหลัง ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมแม้ชะลอลงจากกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีสูงจากฐานที่สูงในปีก่อนแต่มูลค่าการส่งออกในหมวดนี้ยังอยู่ในระดับสูง สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมีจำนวน 1.8 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน เอเชียใต้ และรัสเซีย ส่วนอัตราการเข้าพักโรงแรมในเดือนธันวาคมอยู่ที่ร้อยละ 58.2 สูงขึ้นจากร้อยละ 55.4 ในเดือนก่อน โดยเป็นการปรับดีขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ

สำหรับอุปสงค์ในประเทศ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.8 ทั้งจากการบริโภคสินค้าคงทนและไม่คงทน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และปริมาณการจำหน่ายยานยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากรายได้ภาคเกษตร การจ้างงาน ที่อยู่ในเกณฑ์ดี และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำส่วนการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อน โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.0 เทียบกับร้อยละ 15.5 ในเดือนก่อน โดยเป็นการชะลอลงจากเครื่องชี้ทุกหมวด โดยเฉพาะพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างประเภทอาคารชุด อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจในระยะ 3 เดือนข้างหน้ายังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนแนวโน้มการลงทุนในระยะต่อไปที่ยังคงมีอยู่ สำหรับภาครัฐยังคงมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้ชะลอลงบ้างส่วนหนึ่งจากความล่าช้าในการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ภาคการผลิต หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 2.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของการผลิตในหมวด Hard Disk Drive เป็นสำคัญ เนื่องจากฐานสูงจากการเร่งผลิตเพื่อชดเชยสต็อกในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับสินค้าคงคลังในปัจจุบันอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม การผลิตในหลายอุตสาหกรรมอาทิ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ยังคงขยายตัวดีตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับผลผลิตพืชผลภาคเกษตร กลับมาขยายตัวจากผลผลิตข้าวที่เลื่อนมาให้ผลผลิตมากขึ้นในเดือนนี้จากการเพาะปลูกที่ช้ากว่าปกติจากผลกระทบของภัยแล้งในช่วงกลางปี 2553 ในขณะที่ผลผลิตปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมันสำปะหลังยังคงได้รับความเสียหายจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งปัญหาเพลี้ยระบาด ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและตลาดโลกยังมีสูง ทำให้ราคาพืชผลยังขยายตัวดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 18.5 ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 19.5

การนำเข้าในเดือนนี้มีมูลค่า 15,911 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.8 ชะลอลงจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานเดือนเดียวกันปีก่อนที่นำเข้าสูงสุดในรอบปี และการชะลอตัวดังกล่าวสอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงและการผลิตในอุตสาหกรรม Hard Disk Drive ที่หดตัวในเดือนนี้

ด้านสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินลดลงเล็กน้อยตามการขยายตัวของสินเชื่อที่สูงกว่าเงินฝาก โดยสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินยังคงเร่งตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.5 จากการเพิ่มขึ้นสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ ขณะที่เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (รวมตั๋วแลกเงิน) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งระดมเงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดเครื่องประกอบอาหารและอาหารสำเร็จรูป และหมวดพลังงานที่ราคาเร่งขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ทั้งนี้ แรงกดดันด้านราคายังคงมีอย่างต่อเนื่อง จากทั้งการส่งผ่านต้นทุนที่ยังไม่เต็มที่เงินเฟ้อคาดการณ์ และต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น สำหรับเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง และเงินทุนสำรองทางการอยู่ในระดับมั่นคง

สำหรับภาวะเศรษฐกิจทั้งปี 2553 แม้เผชิญปัจจัยลบหลายด้านตลอดทั้งปี ทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกปัญหาการเมืองภายในประเทศ ความผันผวนของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้าย รวมทั้งภัยธรรมชาติต่างๆ แต่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 8 จากการส่งออกสินค้าและบริการ รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เมื่อประกอบกับพื้นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และมีปัจจัยสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งการดำเนินนโยบายการคลังและการเงินที่ยังคงผ่อนคลาย จะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจในปี 2554 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งปี 2553 โดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง แต่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากปีก่อน และมีแรงกดดันด้านราคามากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว และการปรับขึ้นค่าจ้างและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพและการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2554 สำหรับเสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคง ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินเกินดุล และสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นยังอยู่ในระดับสูงสถานการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงขึ้นในเดือนนี้ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงเหลือเพียง 0.82 ล้าน เนื่องจากมีบางอุตสาหกรรม

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ