เศรษฐกิจภาคใต้ ปี 2553 และแนวโน้มปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 2, 2011 15:16 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 2/2554

เศรษฐกิจภาคใต้ ปี 2553

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมขยายตัว ตามการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ เนื่องจากรายได้จากภาคเกษตร การผลิตอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวขยายตัว ขณะเดียวกันการส่งออกและการลงทุนภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้น ทางด้านเงินฝากและเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวดี ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นจากปีที่ผ่านมา รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

1. ด้านอุปทาน

ภาคเกษตร รายได้ภาคเกษตรขยายตัวสูง ถึงร้อยละ 59.8 จากปี 2552 ที่ติดลบร้อยละ 29.0 ตามการเพิ่มขึ้นของราคา เป็นสำคัญ เนื่องจากผลผลิต ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมันลดลงจากปีก่อน จากสภาพอากาศที่แปรปรวน และได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและวาตภัยในช่วงปลายปี ขณะที่ความต้องการพืชผลเกษตรในตลาดโลกยังมีต่อเนื่อง ทำให้ราคาพืชผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.8 โดยราคายางเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 78.8 และปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2

การทำประมงทะเล การผลิตชะลอลงมาก โดยปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นที่ท่าเทียบเรือเพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 1.9 ส่วนหนึ่งเป็นนำสัตวน้ำจากการทำประมงในน่านน้ำมาเลเซียและอินโดนีเซียมาขึ้นที่ท่าเทียบเรือประมงสงขลาและปัตตานีเป็นสำคัญ ส่วนผลผลิตกุ้งขาวจากการเพาะเลี้ยงลดลง เนื่องจากประสบปัญหาโรคระบาด ขณะเดียวกัน การเลี้ยงกุ้งในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศคู่แข่ง อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน ต่างได้รับความเสียหายจากโรคระบาดและภัยธรรมชาติ รวมทั้งการเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ทำให้ผลผลิตกุ้งของโลกลดลงสวนทางกับความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคากุ้งปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ภาคอุตสาหกรรม การผลิตขยายตัวร้อยละ 4.5 ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 จากการผลิตอุตสาหกรรมยาง และน้ำมันปาล์มที่ลดลงตามปริมาณวัตถุดิบแม้ว่าความต้องการในประเทศและต่างประเทศยังมีต่อเนื่องก็ตาม อย่างไรก็ตามการผลิตอุตสาหกรรมหลักอื่นยังขยายตัวดี ทั้งไม้ยางแปรรูป ถุงมือยาง อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง และดีบุก

ภาคบริการ การท่องเที่ยว ขยายตัวในเกณฑ์ดี เนื่องจากฟื้นตัวจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 และอุทกภัยในช่วงปลายปีได้เร็ว โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศในช่วงปี 2553 มีจำนวน 4.7 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 36.2 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชียและออสเตรเลีย ช่วยชดเชยนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปที่หดตัวลงจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบกับในปี 2552 นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไม่มากนัก เนื่องจากตลาดท่องเที่ยวหลักประสบภาวะเศรษฐกิจและผลกระทบจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียประกาศเตือนการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ส่วนอัตราการเข้าพักในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 56.14 สูงกว่าปีก่อน ซึ่งมีอัตราเข้าพักร้อยละ 48.9

2. ด้านอุปสงค์

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวดี โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 5.1 จากปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยเฉพาะสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ จากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตามแนวโน้มระดับราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้าง ซึ่งพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 จากปี 2552 ที่ติดลบร้อยละ 2.6 เช่นเดียวกับการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลที่ขยายตัวดีเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้ มูลค่า 14,954.7 ล้านดอลลาร์สรอ. ขยายตัวสูงร้อยละ 47.7 ตามการส่งออกสินค้าสำคัญทั้งยางพารา สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง สำหรับการนำเข้ามีมูลค่า 8,010.8 ล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 จาการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์และหัวขุดเจาะน้ำมัน และน้ำมันเชื้อเพลิง

ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการลดลงร้อยละ 10.1 ตามการลดลงของรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ ส่วนการจัดเก็บรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 ตามการเพิ่มขึ้นของภาษีสรรพากรที่ขยายตัวร้อยละ 19.9

3. ภาวะการเงิน

จากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้เงินฝากและสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ขยายตัวดี โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 เงินฝากขยายตัวร้อยละ 9.0 และสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 10.8 เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งสินเชื่อเพื่อการผลิตในอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ยาง สัตว์น้ำแปรรูป และไม้ยาง และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลโดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถขยายตัว

4. อัตราเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เร่งตัวขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ตามราคาสินค้ากลุ่มพลังงานและอาหารโดยเฉพาะผักและผลไม้ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก

5. แนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ปี 2554

เศรษฐกิจภาคใต้ในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัว แม้จะชะลอลงจากปีก่อน โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ จากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญได้แก่ สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรอยู่ในเกณฑ์ดี การท่องเที่ยวขยายตัวดี การปรับค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการ รวมทั้งสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกจะขยายตัวตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่เริ่มฟื้นตัว

สำหรับอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาพืชผล รวมทั้งต้นทุนค่าจ้างที่อาจปรับสูงขึ้นบ้างจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ จากการปรับค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการ รวมถึงภาวะราคาสินค้าเกษตร และราคาน้ำมันที่โน้มสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อในปีหน้าคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : นาฏน้อย แก้วมีจีน

โทร.0-7427-2000 ต่อ 4329 e-mail : nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ