สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนธันวาคมและไตรมาส 4 ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 2, 2011 15:27 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 1/2554

เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนธันวาคม

เศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยภาคการผลิต ผลผลิตทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องลดลง ด้านการท่องเที่ยวชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรป ค่าเงินบาทแข็งค่า ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวในสงขลายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากภาวะอุทกภัย การจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลและเงินลงทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนลดลง อย่างไรก็ตามยังมีแรงขับเคลื่อนด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะด้านการใช้จ่ายของภาคเอกชน ซึ่งได้รับผลดีจากราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์สูง ส่วนการลงทุนยังขยายตัว โดยการก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากการก่อสร้างภาครัฐ ด้านเงินเฟ้อเร่งตัวตามราคาในหมวดยานพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยในภาคใต้ที่ปรับเพิ่มขึ้น

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ภาคการผลิต ผลผลิตภาคการเกษตรลดลง ทั้งผลผลิตยางและปาล์มน้ำมัน ไม่เพียงพอกับความต้องการส่งผลให้ ดัชนีราคาพืชผลเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนร้อยละ 52.8 โดยราคายางและปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 56.6 และ 59.1 ทำให้รายได้เกษตรกรปรับเพิ่มขึ้น ทางด้านผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 10.1 ทั้งการผลิตยางแปรรูป น้ำมันปาล์มดิบ อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง และถุงมือยาง ส่วนหนึ่งเนื่องจากปริมาณวัตถุดิบลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งผลิตเพิ่มขึ้น

ภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.3 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 30.6 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวในฝั่งอันดามันชะลอลงจากปัญหาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรป ทำให้การเดินทางท่องเที่ยว การใช้จ่าย และระยะเวลาพักของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้บางส่วนลดลง ในขณะที่การท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลาเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตอุทกภัย

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว เป็นผลจากภาวะอุทกภัยที่คลี่คลายลง รายได้จากภาคเกษตรยังขยายตัว โดยเครื่องชี้ในหมวดยานยนต์ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวดี อย่างไรก็ตามแนวโน้มระดับราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

การส่งออก ยังขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการเพิ่มขึ้นของมูลค่าส่งออกยางพาราเป็นสำคัญรวมทั้งไม้ยางพาราแปรรูป อาหารกระป๋อง สัตว์น้ำแช่แข็ง และดีบุก ด้านการนำเข้าขยายตัวตาม การนำเข้าน้ำยางสังเคราะห์ และสัตว์น้ำแช่แข็ง เป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เครื่องจักรและอุปกรณ์ ลดลงต่อเนื่อง

จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัว ทำให้เงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 10.8 ทั้งสินเชื่อเพื่อธุรกิจและสินเชื่อการอุปโภคบริโภค ขณะที่เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 9.0 จากการขยายฐานเงินฝากเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ตามราคาในหมวดยานพาหนะการขนส่ง และการสื่อสาร เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยในภาคใต้ที่ปรับเพิ่มขึ้นส่วนสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่เท่ากับเดือนก่อน ตามราคาสินค้าในหมวดย่อยเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

เศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 4

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ไตรมาสที่ 4 โดยรวมขยายตัว แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงบ้างจากไตรมาสก่อน เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงต้นปีและอุทกภัยในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ทำให้ในภาคการผลิตลดลง ทั้งการผลิตภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม ส่วนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง จากรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวตามราคาพืชผล

ภาคบริการท่องเที่ยวยังคงขยายตัว แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจะชะลอ ลงจากไตรมาสก่อน โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.4 เนื่องจากจังหวัดสงขลาเกิดวิกฤตอุทกภัย ทำให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียเดือนทางเข้ามาลดลง และยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ในช่วงสิ้นปี ส่วนการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ชะลอลง โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป และสแกนดิเนเวียเดินทางเข้ามาลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรป

ภาคต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์สรอ. แม้จะชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังขยายตัวในเกณฑ์สูง โดยมีมูลค่าการส่งออก 3,978.9 ล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกยางพารา ไม้ยางพาราแปรรูป สัตว์น้ำแช่แข็ง และอาหารทะเลกระป๋อง เพิ่มขึ้น และมูลค่าการนำเข้า 1,824.1 ล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5

สำหรับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง จากรายได้เกษตรกรที่ยังคงขยายตัวเป็นสำคัญ ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อ จะเห็นได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และการใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตามการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดลง ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนภาคการก่อสร้างเร่งตัวขึ้นเช่นกัน โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ส่วนเงินลงทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนขยายตัวดี

ภาคการผลิต ลดลง โดยดัชนีผลผลิตพืชผลเกษตรลดลงร้อยละ 10.7 ตามผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ขณะเดียวกันปริมาณผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 12.0 ตามการผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน ถุงมือยาง และอาหารทะเลกระป๋อง ส่วนการผลิตอาหารทะเลแปรรูปยังขยายตัวเนื่องจากอุปทานการผลิตกุ้งแปรรูปตึงตัวในประเทศผู้ผลิต อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการส่งออกกุ้งของไทย

เงินฝากและสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเงินฝากขยายตัวร้อยละ 9.0 และสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 10.8 เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งสินเชื่อธุรกิจและการบริโภคส่วนบุคคล

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลง ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง โดยสินค้าที่ราคาชะลอลงมาก ได้แก่ ผักและผลไม้ ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ขณะที่ราคาหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเร่งขึ้นเล็กน้อยตามหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร เป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : นาฏน้อย แก้วมีจีน

โทร.0-7427-2000 ต่อ 4329 e-mail : nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ