แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนธันวาคม 2553 และปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 2, 2011 13:21 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 2/2554

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนธันวาคม 2553 โดยรวมขยายตัวดี ตามการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การส่งออกขยายตัว รายได้ของเกษตรกรทรงตัว การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น ดัชนีการค้าขยายตัวดีทุกหมวด ส่วนภาคอุตสาหกรรมหดตัวตามความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องดื่ม การใช้จ่ายภาครัฐหดตัว เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อชะลอลง การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ด้านเงินฝากและเงินให้สินเชื่อขยายตัวดี

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

อุปสงค์ในประเทศขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.6 สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และการฟื้นฟูที่อยู่อาศัยหลังประสบอุทกภัย รวมถึงการลงทุนในเครื่องจักรของอุตสาหกรรมส่งออกและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐหดตัวเป็นผลจากการเร่งเบิกจ่ายในระยะเดียวกันปีก่อน

ด้านการส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือมีมูลค่า 277.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือขยายตัวร้อยละ 8.1 ส่วนหนึ่งเป็นการขยายตัวตามการส่งออกสินค้าเกษตร ขณะที่การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.2 รวมมูลค่า 116.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภค

ด้านอุปทาน ผลผลิตภาคเกษตรพืชสำคัญยังหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตพืชหลักลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ทำให้ราคายังคงเพิ่มขึ้น ยกเว้นข้าวเปลือกเจ้านาปีซึ่งเป็นพืชหลักที่ราคาลดลง เนื่องจากพ่อค้าโรงสีชะลอการรับซื้อ ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรทรงตัวใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัด ประกอบกับมีวันหยุดต่อเนื่องและภาวะอากาศเย็นจูงใจนักท่องเที่ยวไทย ส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.6 ตามการลดลงของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตเพื่อส่งออกชะลอตัวลง

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ชะลอลงจากเดือนก่อน ราคาอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ ข้าวเหนียวผักและผลไม้ ยังอยู่ในระดับสูงเนื่องจากผลของอุทกภัย ในขณะที่ราคาพลังงานเร่งตัวสูงขึ้น ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน

การจ้างงานของภาคเหนือ ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ขยายตัวจากการจ้างงานนอกภาคเกษตร ในสาขาการค้าส่ง/ปลีก และโรงแรม/ภัตตาคาร ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น ทำให้อัตราการว่างงานต่ำอยู่ที่ร้อยละ 0.7 สำหรับจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 มีจำนวน 736,396 ราย เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.4

ยอดเงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนการให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 12.8 จากความต้องการใช้สินเชื่อกระจายตัวไปในหลายภาคธุรกิจ ได้แก่ สินเชื่อตัวกลางทางการเงินสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลทั้งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อรถยนต์ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง รับเหมา/ค้าวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจโรงสีข้าว/ค้าพืชไร่ และแปรรูปการเกษตร เป็นต้น

ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามการลงทุนที่ปรับดีขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคก่อสร้าง การส่งออกเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่ขยายตัว โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ขณะที่การบริโภคชะลอลงตามรายได้ของเกษตรกร เพราะผลผลิตลดลงจากภัยธรรมชาติ ในขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดหดตัว เพราะการเร่งเบิกจ่ายในช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราเงินเฟ้อชะลอลง ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ทางด้านเงินให้สินเชื่อและเงินฝากขยายตัวในเกณฑ์ดี

ปี 2553 ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือโดยรวมขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อน แม้ว่าในช่วงต้นปีจะประสบปัญหาจากภัยธรรมชาติทั้งในช่วงเพาะปลูกและช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชสำคัญ และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วงไตรมาส 2 ภาคการส่งออกขยายตัวดีจากความต้องการสินค้าของตลาดต่างประเทศตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกขยายตัวดี ขณะที่รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นตามราคาพืชหลัก การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย และการเบิกจ่ายของภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคเหนือ โดยเฉพาะแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำช่วยรักษากำลังซื้อ ทำให้การบริโภคและการค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น ทางด้านอัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพืชผักเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย กอปรกับการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน สำหรับเงินให้สินเชื่อและเงินฝากขยายตัว

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณทวีศักดิ์ ใจคำสืบ

โทร 0 5393 1162 E-mail : Thaveesc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ