สุนทรพจน์: “ทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2554”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 26, 2011 13:39 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

สุนทรพจน์

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

งานแถลงนโยบาย

เรื่อง “ทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2554”

ณ ห้องประชุม ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

วันพุธที่ 26 มกราคม 2554 เวลา 12.30 น.

ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดให้มีการแถลงสื่อสารต่อประชาชน ถึงแนวทางการดำเนินนโยบายในระยะหนึ่งปีข้างหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ มีหน้าที่รับผิดชอบอยู่ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันกับทุกฝ่าย ทั้งในแง่ทิศทางนโยบาย และแนวคิดที่มาของนโยบายดังกล่าว และเพื่อเป็นการสร้างเสริมให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานของแบงก์ชาติ ซึ่งผมและพนักงานแบงก์ชาติทุกคนถือเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของธนาคารกลางที่ดี ผมจึงขอขอบคุณท่านผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนทุกท่านอย่างยิ่ง ที่ได้สละเวลามาร่วมงานแถลงในวันนี้

สภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจ

หากมองย้อนกลับไป ผมคิดว่าปี 2553 น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ดี ถึงความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจไทย เพราะแม้ว่าจะมีปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยหลายประการ ทั้งสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย และอุทกภัยในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่ในด้านต่างประเทศ กลุ่มเศรษฐกิจหลักก็ฟื้นตัวได้ช้า จากตลาดแรงงานที่ซบเซาเรื้อรัง และปัญหาเสถียรภาพทางการคลัง ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายสำหรับประเทศไทยแต่ถึงกระนั้น ก็ไม่ได้ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยชะงักไป นอกจากนี้ แรงกระตุ้นจากภาคการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง ยังช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุน ให้สามารถดำเนินต่อไปได้ตลอดช่วงที่ผ่านมา และกลายเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสำคัญให้กับประเทศ โดยแบงก์ชาติคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวในปีที่แล้วได้ถึงประมาณร้อยละ 8

จากแรงส่งทางเศรษฐกิจของปีก่อน กอปรกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่แข็งแกร่ง แบงก์ชาติจึงประเมินว่าในปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตต่อเนื่องและจะขยายตัวได้ร้อยละ 3-5 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเจริญเติบโตที่กลับมาสอดคล้องกับภาวะทางเศรษฐกิจที่เป็นปกติ คือไม่สูงหรือไม่ต่ำเกินไป แต่เป็นไปตามศักยภาพระยะยาวของประเทศ แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นการชะลอลงจากปีก่อน แต่ก็เพียงเพราะว่า การขยายตัวที่สูงในปีก่อนนั้นเป็นการคำนวณมาจากฐานที่ต่ำผิดปกติ ผมจึงคิดว่าปี 2554 นี้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้เร่งขึ้นมากตามกระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา

ภาวะเศรษฐกิจที่สมดุลขึ้นนี้จะเพิ่มแรงกดดันจากอุปสงค์ต่อราคา (demand-pull) ทำให้อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสปรับสูงขึ้นกว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับสูงขึ้นตามที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ก็จะเป็นอีกช่องทางสำคัญที่ส่งผลเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อได้ (cost-push) ดังนั้นในปีนี้ ผมจึงมองว่าแนวโน้มเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ทยอยลดความน่ากังวลลง ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน

ในขณะเดียวกัน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายๆ ปัจจัยที่เคยสร้างความกังวลในปีที่แล้ว ก็ยังมีโอกาสกลับมาสร้างความท้าทายในปีนี้อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านภาวะการเงินระหว่างประเทศและการเคลื่อนย้ายของเงินทุน ที่ผันผวนตามพัฒนาการเศรษฐกิจโลกระหว่างขั้วประเทศพัฒนาแล้วกับขั้วเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือในด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ซึ่งยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เป้าหมายทางเศรษฐกิจปี 2554 สำหรับประเทศไทย

ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ผมคิดว่าเป้าหมายทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทยในปีนี้ แบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลัก ประการแรกคือ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมให้คงอยู่ไว้ และ ประการที่สองคือ การส่งเสริมพัฒนาความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

การรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวมในระดับมหภาค (Macroeconomic stability) นั้นครอบคลุมไปถึงทั้งการมีเสถียรภาพทางด้านราคา เสถียรภาพทางการเงิน และการมีเสถียรภาพทางด้านการคลังด้วย จึงมีความหมายที่กว้าง เช่นเดียวกัน ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจนั้นก็มีหลากหลายมิติ ทั้งความเข้มแข็งของภาคเอกชน และภาครัฐ ความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจในการรองรับความผันผวนต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นการจะบรรลุเป้าหมายทั้ง 2 ประการนี้ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนต่างก็มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบทบาทของแบงก์ชาติเอง เช่น รัฐบาลเองก็มีหน้าที่ดูแลฐานะทางการคลังของประเทศให้อยู่ในกรอบวินัยทางการคลังที่เข้มงวดและมั่นคงในระยะยาว เพื่อรักษาสมดุลและเสถียรภาพด้านการคลังให้กับประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องดูแลให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเป็นแรงสนับสนุนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจโดยรวม

นโยบายการเงิน

ในส่วนหน้าที่ความรับผิดชอบของแบงก์ชาตินั้น ความสมดุลนับเป็นหัวใจหลักในการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากอันดับต้นๆ สำหรับการมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค ในทางปฏิบัตินั้นมีความหมายว่า เมื่อเศรษฐกิจกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่มีความสมดุลแล้ว ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นโยบายการเงินจะต้องปรับเข้าสู่ภาวะสมดุลให้สอดคล้องกัน เพราะหากนโยบายการเงินยังคงผ่อนคลายเกินพอดีแม้ว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ก็จะส่งแรงผลักดันต่ออัตราเงินเฟ้อจนในที่สุดแล้วเป็นเหตุให้ระบบเศรษฐกิจเสียความสมดุลเสียเอง ดังนั้นในปี 2554 นี้ จึงเป็นปีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. นั้นยังมีความจำเป็นต้องทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อนำนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

ผมอยากเรียนให้ทุกท่านสบายใจได้ว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้จะเป็นไปในอัตราและขนาดที่เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และความเสี่ยงด้านต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยอยู่บนพื้นฐานของความรอบคอบตามแนวทางที่ กนง. ได้ปฏิบัติเสมอมา ซึ่งทั้งหมดเป็นไปเพื่อบรรลุพันธกิจหลักที่แบงก์ชาติมีต่อสังคม นั่นคือการรักษาเสถียรภาพด้านราคาและดูแลให้เงินเฟ้อพื้นฐานนั้นอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่ทั้งนี้ โดยธรรมชาติของภาวะเศรษฐกิจ ย่อมมีทั้งปัจจัยระยะสั้นและปัจจัยเชิงโครงสร้างเข้ามากระทบตลอดเวลา จึงเป็นการยากที่จะระบุล่วงหน้าได้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมสำหรับปีนี้ควรจะอยู่ที่ระดับใด แต่อย่างน้อย ผมคิดว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่เป็นลบนั้น ไม่เป็นระดับที่เอื้อต่อความสมดุลทางเศรษฐกิจของประเทศในภาวะปกติ

บางท่านอาจมีความกังวลว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น จะไปเพิ่มต้นทุนทางการเงินและเพิ่มภาระต่อผู้ประกอบการโดยไม่จำเป็นหรือไม่ ผมขอเรียนว่าระดับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับนั้น ในระยะยาวจะอยู่ในระดับต่ำได้ก็ต่อเมื่อเงินเฟ้อเองนั้นอยู่ในระดับต่ำ เพราะหากนโยบายการเงินนั้นปล่อยปละละเลยให้เงินเฟ้อปรับขึ้นสูงเสียแล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เองก็เหมือนกับต้นทุนสินค้าอื่นๆ ที่ต้องปรับสูงขึ้นตามด้วย ซึ่งจะเป็นภาระต่อทั้งผู้ประกอบการและประชาชนในวงกว้าง ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินตามแนวทางที่แบงก์ชาติปฏิบัติคือมุ่งรักษาให้เงินเฟ้อต่ำและมีเสถียรภาพเสียตั้งแต่ต้นนั้น สุดท้ายก็เป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เดียวกันกับผู้ประกอบการทุกคน คือเพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำได้อย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับความสมดุลของสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมนั่นเอง

การอธิบายชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่สาธารณชนอาจมีความสงสัยเช่นที่ผมเพิ่งกล่าวถึงนี้ เป็นสิ่งที่แบงก์ชาติให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายการเงิน ดังนั้น เพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสารแนวคิดและเหตุผลในการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.ต่อสาธารณชน เราจึงได้ริเริ่มเปิดเผยผลการลงคะแนนของคณะกรรมการเป็นครั้งแรกในการประชุมเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา และได้มีการเปิดเผยบันทึกการประชุมฉบับย่อด้วย ซึ่งฉบับแรกได้มีการเผยแพร่ไปเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ผมหวังว่าการเปิดเผยข้อมูลการตัดสินใจของ กนง. นั้นจะช่วยให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นตลาดการเงิน นักธุรกิจและประชาชน มีความเข้าใจมากขึ้นถึงที่มาที่ไปของการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินในแต่ละครั้งและช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถคาดการณ์วางแผนล่วงหน้า ทั้งในเชิงธุรกิจและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

อีกประเด็นหนึ่งที่มีผู้ให้ความสนใจกันพอสมควร คือแนวทางการบริหารจัดการของแบงก์ชาติในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน หรือค่าเงินบาท ว่าจะเป็นอย่างไรในปีนี้ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลทำให้ค่าเงินแข็งค่า ทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ ก่อนอื่นผมขอเรียนยืนยันว่ากรอบการทำงานของแบงก์ชาติ ไม่ได้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือนโยบาย และเรายังยึดมั่นในแนวคิดที่ให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวได้ตามกลไกตลาด โดยแบงก์ชาติจะไม่เป็นผู้กำหนดระดับที่เหมาะสมของค่าเงินบาท แต่ให้ค่าเงินสามารถยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงได้ไปตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แบงก์ชาติยังคงยึดหลักการนี้ในการดำเนินนโยบายอยู่เช่นเดิม

ในขณะเดียวกัน แบงก์ชาติก็ตระหนักดีว่า ในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกแบ่งเป็นสองขั้วเงินทุนเคลื่อนย้ายจะสามารถผันผวนได้มากกว่าเดิม แบงก์ชาติจึงได้มีแผนเตรียมความพร้อมรองรับความเสี่ยงดังกล่าว 3 ด้านหลักๆ ด้านแรกเป็นแผนเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินระหว่างประเทศในระยะยาวของเราเอง ด้วยการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ชัดเจน เป็นระบบ และมีขั้นตอนที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและสภาวะแวดล้อมทางการเงินโลก เช่นการผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆสำหรับคนไทยที่ต้องการลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างเสริมให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศมีความสมดุลมากขึ้น โดยมุ่งผลระยะยาวคือการเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดการเงินและตลาดเงินตราต่างประเทศ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของคนไทยบนพื้นฐานระบบการกำกับดูแลที่เหมาะสม และการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ

ในด้านที่สอง แบงก์ชาติจะสนับสนุนให้มีการใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม และเอื้อต่อการบริหารความเสี่ยงของภาคเอกชน ด้วยการส่งเสริมและกระตุ้นภาคธุรกิจโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้เข้าถึงเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถของภาคเอกชนในการรองรับความผันผวน ซึ่งในปีนี้ ความไม่แน่นอนในทิศทางของค่าเงินก็ยังคงมีอยู่จากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว หรือความเสี่ยงที่กลุ่มประเทศในเอเชียอาจหันมาพึ่งมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายมากขึ้น ดังนั้นภาคเอกชนจึงควรอย่างยิ่งที่จะเร่งศึกษาการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินให้พร้อมมากยิ่งขึ้นในปีนี้

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนรุนแรงและรวดเร็วกว่าปกติมาก จนอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม แบงก์ชาติก็ได้มีการซักซ้อมเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าวเป็นแผนที่ 3 คือการเตรียมความพร้อมในด้านมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งมีระดับความเข้มงวดที่แตกต่างกัน แล้วแต่ความเหมาะสมต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

แผนทั้งสามด้านนี้ คงจะเป็นหลักประกันได้ว่าประเทศไทยจะมีความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายทางด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ทั้งในแง่การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีทั้งในด้านตลาดการเงินที่มีประสิทธิภาพและผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีการป้องกันความเสี่ยง และยังมีเข็มขัดนิรภัย คือ การเตรียมความพร้อมด้านมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายไว้รองรับอีกชั้นหนึ่ง ผมคิดว่าแผนทั้งสามด้านนี้เป็นการรับมือกับปัญหาด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ตรงจุดที่สุด และสอดคล้องกับพันธะกิจหลักของแบงก์ชาติ คือการรักษาความสมดุลและเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทย

นโยบายสถาบันการเงิน

การดำเนินนโยบายการเงินนั้น จะสัมฤทธิ์ผลในการรักษาความสมดุลทางเศรษฐกิจได้ ก็ต่อเมื่ออยู่บนรากฐานของระบบสถาบันการเงินที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งนอกเหนือจากความหมายที่ว่าสถาบันการเงินนั้นมีความมั่นคงและการทำงานที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังจำเป็นต้องมีความสามารถในการปรับตัวให้เหมาะสมและทันท่วงทีต่อสภาวะแวดล้อมทางการเงินทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้ทั้งเศรษฐกิจและตลาดการเงินระหว่างประเทศมีความเชื่อมโยงกันและมีความผันผวนที่สร้างความท้าทายมากขึ้นต่อทั้งภาคธุรกิจและระบบสถาบันการเงิน หรือกระแสนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ที่มีมากขึ้น ซึ่งแม้จะเพิ่มทางเลือกให้กับธุรกิจและประชาชนในการบริหารความเสี่ยง แต่ก็ทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างตลาดเงิน ตลาดทุน และธุรกิจประกันภัยมีความซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนั้นในด้านผู้ใช้บริการทางการเงินเอง ซึ่งแม้จะมีความต้องการบริการทางการเงินมากขึ้น แต่ก็ยังประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากระบบสถาบันการเงิน เป็นต้น

การกำหนดนโยบายด้านสถาบันการเงินของแบงก์ชาติที่เหมาะสมนั้น จำเป็นต้องสอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ซึ่งแนวทางนโยบายที่แบงก์ชาติจะดำเนินในระยะข้างหน้าอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ด้านหลักๆ คือ 1. การรักษาความมั่นคง 2. การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงิน และ 3. การให้ความคุ้มครองผู้บริโภค

ประการแรก คือสิ่งที่แบงก์ชาติให้ความสำคัญสูงสุดเสมอมา คือการดูแลให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งมีความมั่นคง (Micro-prudential) และมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจมีภาวะผันผวน ทั้งนี้ผมขอเรียนยืนยันว่า ระบบสถาบันการเงินของไทยในปัจจุบันนั้นเรียกได้ว่ามีความมั่นคงมาก โดยในปีที่แล้วมีสัดส่วน NPL ที่ต่ำเพียงร้อยละ 3.6 แม้ว่าจะได้มีการขยายสินเชื่อสูงถึงร้อยละ 11.3 ในด้านความมั่นคงนั้น จึงนับว่าเป็นจุดแข็งที่เราจำเป็นต้องรักษาไว้ โดยแบงก์ชาติจะยังคงให้ความสำคัญกับการป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งมีการสะสมความเสี่ยงมากเกินไปเสียตั้งแต่ต้น ด้วยการดูแลให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ได้มาตรฐานสากล และมีเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่รอบคอบและระมัดระวัง และในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการไม่ประมาท แบงก์ชาติก็จะดูแลให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งมีการดำรงเงินกองทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ และเหมาะสมภายใต้เกณฑ์กติกาที่สอดคล้องกับมาตรฐานของโลก เช่น เกณฑ์ Basel III เป็นต้น

ความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินนั้น มีมิติที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับภาวะเศรษฐกิจการเงินในระดับมหภาค บทเรียนหนึ่งที่เราได้จากวิกฤตการเงินโลกนั้น คือความสำคัญในการดูแลความเสี่ยงในเชิงระบบ (systemic risk) เพราะเป็นความเสี่ยงที่สามารถส่งผลกระทบรุนแรงได้มากดังเช่นที่เราได้เห็นในช่วงที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยที่มีแบงก์ชาติทำหน้าที่ทั้งกำกับดูแลสถาบันการเงิน และยังเป็นผู้ดำเนินนโยบายการเงินในระดับมหภาคด้วย ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ประชาชนจะฝากความหวังไว้กับแบงก์ชาติในการระแวดระวังดูแลทั้งความเสี่ยงในแต่ละสถาบันการเงินและความเสี่ยงเชิงระบบ ซึ่งแบงก์ชาติก็ได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างสม่ำเสมอสำหรับความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยมีกระบวนการตรวจสอบ ที่ช่วยสะท้อนความเสี่ยงของระบบสถาบันการเงินล่วงหน้า (macro-surveillance) เช่น การกระจุกตัวของสินเชื่อความผันแปรในราคาอสังหาริมทรัพย์เป็นต้น ส่วนในแง่ปฏิบัตินั้น ประเทศไทยก็นับว่าเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้ริเริ่มใช้นโยบาย Macro-prudential ซึ่งคือการกำหนดกฎระเบียบที่ตามปกติแบงก์ชาติใช้ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน มาเป็นเครื่องมือนโยบายเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบขึ้นแต่เนิ่นๆ ตัวอย่างล่าสุดของนโยบายประเภทนี้ที่แบงก์ชาติได้ดำเนินการแล้ว คือการปรับลดอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าสินทรัพย์สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมเป็นต้น

จากมาตรการและแผนรองรับต่างๆที่แบงก์ชาติเตรียมไว้นั้น ผมจึงมั่นใจว่าเรามีความพร้อมเพียงพอ และขอให้ความมั่นใจกับทุกฝ่ายว่า สถาบันการเงินของไทยมีความมั่นคง พร้อมที่จะรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจจริงและตลาดการเงินที่จะมีมากขึ้น หรือจะเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้ ก็จะอยู่ในกรอบการดูแลความเสี่ยงที่เหมาะสม และไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงโดยรวมของสถาบันการเงิน

ในประการที่สอง แบงก์ชาติจะดูแลให้สถาบันการเงินให้บริการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคธุรกิจและประชาชนในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดพัฒนาการในการให้บริการเครื่องมือบริหารความเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมในการรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในตลาดการเงินในกระแสโลกใหม่ หรือการสนับสนุนให้ธุรกิจ SME และลูกค้าทางการเงินรายย่อย มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น ผ่านการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ อีกทั้งแบงก์ชาติจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมให้มีศูนย์ข้อมูล SME เพื่อช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก

นอกจากนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจ ประชาชน รัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ สามารถชำระเงินได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ แบงก์ชาติจะร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ ส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น เช่น การโอนเงินแทนการใช้เช็ค การใช้บัตรเดบิตแทนเงินสดเป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐและเอกชนมีต้นทุนในการชำระเงินลดลงและบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ แบงก์ชาติได้พัฒนาระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพ (ICAS) เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงในการขนย้ายเช็ค ธนาคารสามารถขยายเวลารับเช็คจากลูกค้าได้นานขึ้นและลดเวลาการเรียกเก็บให้เหลือ 1 วันทั่วประเทศ โดยจะเริ่มดำเนินการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี 2554 และจะขยายไปทั่วประเทศภายในปี 2555

โดยทั้งหมดนี้ แบงก์ชาติมีเป้าหมายเพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้รับผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม และทั่วถึงกัน อันเป็นคุณลักษณะที่สำคัญประการที่สองของระบบสถาบันการเงินที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยสร้างและกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปทุกส่วนมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกกันสมัยนี้ว่า Inclusive growth นั่นเอง

ประการสุดท้าย คือในมุมมองของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้ได้รับบริการทางการเงินนั้นจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและได้รับบริการที่ดี บทบาทของแบงก์ชาติในด้านนี้ คือการดูแลให้สถาบันการเงินให้ข้อมูลอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจของลูกค้า เช่นให้ข้อมูลค่าธรรมเนียมให้ลูกค้าทราบก่อนตัดสินใจใช้บริการ มีการให้ความรู้ทางการเงินด้านต่างๆ แก่ประชาชน ในขณะที่การเสนอขายผลิตภัณฑ์ต้องมีความเหมาะสมกับลูกค้า ทั้งในด้านความต้องการเชิงธุรกิจและความสามารถในการบริหารความเสี่ยงของลูกค้า รวมไปถึงการติดตามดูแลหลังการขายอย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทุกคนในประเทศมีโอกาสได้รับประโยชน์ โดยตรงจากความเข้มแข็งของระบบการเงินอย่างเสมอภาคกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิด Inclusive growth อีกทางหนึ่ง

นโยบายอื่นๆ

นอกเหนือจากภารกิจด้านนโยบายการเงินและการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ผมได้กล่าวไปแล้ว แบงก์ชาติยังจะเร่งเสริมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของไทย ผ่านหน้าที่อื่นๆ ที่เป็นความรับผิดชอบของแบงก์ชาติเช่นเดียวกัน

ในด้านการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ เราจะมีการพิจารณาขยายช่องทางการลงทุน ตามที่ พรบ. ใหม่อนุญาต เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารเงินสำรองให้สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุนโดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่พันธบัตรรัฐบาลของกลุ่มประเทศหลักๆให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้เพื่อสร้างเสริมความมั่นคงต่อระดับเงินสำรองทางการ และช่วยเพิ่มความเข้มแข็งของไทยในด้านการเงินระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ แบงก์ชาติจะร่วมกับกระทรวงการคลังในการผลักดันเร่งกระบวนการชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF ที่ได้ผ่านการตกลงร่วมกันแล้ว เพื่อเป็นการเร่งสะสางภาระหนี้และช่วยลดภาระต้นทุนต่อประเทศ โดยทั้งแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง จะยืนยันแนวทางการชำระหนี้ที่มีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลเสียต่ออิสรภาพการดำเนินนโยบายการเงินของแบงก์ชาติ หรือวินัยทางการคลังของรัฐบาล

ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจประการสุดท้ายที่ผมจะกล่าวถึงในวันนี้ ซึ่งมีความสำคัญมาก คือขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยซึ่งยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปได้อีกและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนา บทบาทของแบงก์ชาติในการบรรลุเป้าประสงค์นี้คือการดูแลรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และดูแลให้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็งเพื่อเป็นรากฐานที่ดี สำหรับระบบเศรษฐกิจ แต่แน่นอนว่าบทบาทของแบงก์ชาติอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ ในส่วนของภาคเอกชนนั้น จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพทางด้านการผลิตและการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง โดยไม่พึ่งพาการแข่งขันทางด้านราคาแต่เพียงอย่างเดียว แต่หันมาพัฒนาด้านคุณภาพด้วย เราได้เห็นในช่วงที่ผ่านมาว่าภาคเอกชนเราทำได้น่าพอใจมาก จากการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีแม้ในภาวะที่ค่าเงินมีความผันผวน ส่วนในด้านภาครัฐเอง ผมคิดว่ารัฐบาลอาจสามารถมีบทบาทช่วยกระตุ้นการลงทุนของประเทศได้ ด้วยการดูแลให้มีงบประมาณที่เพียงพอและสม่ำเสมอในส่วนของการลงทุนภาครัฐ เพราะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างต่อเนื่องนั้นมีผลโดยตรงในการสนับสนุนศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาว อย่างยั่งยืน และสร้างประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง

สรุป

ทั้งหมดนี้ คือแนวทางการทำงานของแบงก์ชาติที่ผมและพนักงานทุกคนมีความตั้งใจที่จะดำเนินการร่วมกันในปีนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดีเช่นเดิม และผมมั่นใจว่าความร่วมมือกันนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุทั้ง 2 เป้าหมายคือ การรักษาความสมดุล และการพัฒนาความเข้มแข็ง ซึ่งประโยชน์ที่สุดแล้ว ก็จะตกอยู่กับประชาชนคนไทยทุกคน คือความเป็นดีอยู่ดีที่ยั่งยืนและทั่วถึงนั่นเอง

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ