สุนทรพจน์: นโยบายการเงินกับยุคทองของเอเชีย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 4, 2011 13:48 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

สุนทรพจน์

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เรื่อง “นโยบายการเงินกับยุคทองของเอเชีย” ในงาน Post Today Investment Expo 2011

ณ เวทีนิทรรศการ ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554

สวัสดีครับท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมขอแสดงความยินดีกับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ที่ครบรอบปีที่ 8 และกำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 9 ในปีนี้ ซึ่งทั้งเลข 8 และเลข 9 นั้นมีความหมายดีมากในวัฒนธรรมเอเชียของเรา ดังนั้นจึงเป็นนิมิตหมายที่ดีและเป็นเกียรติที่ผมจะได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “นโยบายการเงินกับยุคทองของเอเชีย” ในวันนี้ โดยมี 3 ส่วนหลักคือ (1) ยุคทองของเอเชียหมายถึงอะไร และน่าจะเป็นจริงหรือไม่ (2) หากเศรษฐกิจเอเชียอยู่ในยุคทองจริงนัยต่อประเทศไทยคืออะไร และสุดท้ายคือ (3) บทบาทของนโยบายการเงินไทยในยุคทองของเอเชีย

1. ยุคทองของเอเชีย

ท่านผู้มีเกียรติครับ

คำว่า “ยุคทอง” หรือ Golden Age ในภาษาอังกฤษนั้น มีที่มาย้อนกลับไปอย่างน้อยถึงสมัยกรีกและอินเดียโบราณ คำนี้มีอยู่ในหลายๆ วัฒนธรรมทั่วโลก และมีความหมายคล้ายๆ กัน คือเป็นยุคที่มี 3 องค์ประกอบหลักอันได้แก่ (1) สันติภาพและความกลมเกลียว (2) ความมั่นคง และ (3) ความมั่งคั่ง ซึ่งผมมองว่ายุคใดมีทั้ง 3 องค์ประกอบดังกล่าวก็มักทำให้เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยโอกาสและความหวังด้วยเช่นกัน

ดังนั้น คำถามแรกที่เราจะต้องหันกลับมาถามตัวเองคือ ปัจจุบันถือเป็นยุคทองของเอเชียได้จริงหรือไม่ ซึ่งผมขอเริ่มพิจารณาไปทีละองค์ประกอบ

สันติภาพและความกลมเกลียว

ในส่วนของสันติภาพและความกลมเกลียว ปัจจุบันความร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียมีแนวโน้มใกล้ชิดกันมากขึ้น สะท้อนได้จากสนธิสัญญาความร่วมมือพหุภาคีต่างๆ ที่มุ่งเน้นทั้งการร่วมมือสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการร่วมมือกันตัดสินใจแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ในระดับอาเซียนนั้น การเปิดเสรีการค้าภายในกลุ่มอาเซียนในปี 2015 และการเปิดเสรีการลงทุนภายในปี 2020 ภายใต้กรอบ ASEAN Economic Community จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศภายในกลุ่มมีความใกล้ชิดเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การรวมกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรมดังกล่าวสะท้อนความร่วมมือกลมเกลียวของภูมิภาคได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้น ความร่วมมือกลมเกลียวทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มอาเซียนกับประเทศเอเชียอื่นๆ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดเจนเช่นกัน โดยเฉพาะในกรณีความร่วมมือของกลุ่ม ASEAN + 3 อันได้แก่กลุ่มอาเซียน จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ที่มีการร่วมลงเงินกันและจัดตั้งกลไกความร่วมมือเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาค

ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ในส่วนของความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเอเชีย ในปัจจุบัน ผมประเมินว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ จากการที่ (1) เศรษฐกิจเอเชียโดยรวมสามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจโลกมาได้อย่างค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยการขยายตัวในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก แม้ว่ากลุ่มประเทศ G3 ซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของโลกและคู่ค้าสำคัญยังคงอ่อนแอ (2) การที่ระดับหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่มเอเชียยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ สะท้อนถึงความสามารถของภาครัฐในการรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และ (3) เงินสำรองระหว่างประเทศของเอเชียที่อยู่ในปริมาณสูง จะช่วยรองรับความผันผวนในระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่อาจเกิดขึ้นพร้อมทั้งมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน

ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

ในส่วนของความมั่งคั่งนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความมั่งคั่งของกลุ่มเอเชียโดยรวมได้ก้าวกระโดดขึ้นมาจากในอดีต การเปิดเสรีของประเทศขนาดใหญ่เช่นจีนและอินเดีย ทำให้ขนาดของเศรษฐกิจเหล่านั้นขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้แรงงานจำนวนมากในประเทศเหล่ามีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งจะช่วยให้กลายเป็นตลาดส่งออกสำคัญแก่ประเทศอื่นๆในภูมิภาค และทำให้ความมั่งคั่งของภูมิภาคโดยรวมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้สัดส่วนของเศรษฐกิจเอเชีย*(1) ใน GDP โลก ซึ่งประเมินโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากประมาณร้อยละ 8 เมื่อต้นทศวรรษ 1980 เป็นร้อยละ 25 ในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ในปี 2015 ขณะที่สัดส่วนของกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งเป็นประเทศพัฒนากลับลดลงจากร้อยละ 50 ในต้นทศวรรษที่ 1980 เหลือร้อยละ 40 ในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะลดลงเหลือร้อยละ 36-37 ในปี 2015 ซึ่งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในสัดส่วน GDP โลกนี้สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงแนวโน้มความมั่งคั่งของเอเชียที่น่าจะมีต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ สิ่งที่เราคาดหวังต่อไปก็คือ ความมั่นคงและมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะช่วยให้บทบาทของเอเชียในเวทีโลก เช่นสัดส่วนการออกเสียงในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

*(1) ASEAN 4 + China + India + Newly Industrialized Economies

ท่านผู้มีเกียรติครับ

เมื่อพิจารณาครบทั้ง (1) สันติภาพและความกลมเกลียว (2) ความมั่นคง และ (3) ความมั่งคั่งเราก็อาจพอที่จะประเมินได้ว่า เอเชียนั้นกำลังอยู่ในยุคทองจริง หรืออย่างน้อยก็กำลังเข้าสู่ยุคทอง ที่จะนำมาซึ่งโอกาสและความหวัง ซึ่งสมกับที่บทวิเคราะห์จากหลายสำนักทั่วโลกชี้ว่า ช่วงเวลาต่อไปจะเป็นศตวรรษของเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วผมคิดว่าประวัติศาสตร์จะตัดสินว่า ช่วงเวลาต่อไปเป็นยุคทองของเอเชียจริงหรือไม่ ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันเอเชียเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของโลกแล้วเพราะการเปิดเสรีการค้าการลงทุนที่ทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมากจากภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรม แต่การเป็นศูนย์กลางการผลิต (production hub) คงไม่เพียงพอ เอเชียจะเข้าสู่ยุคทองได้จริงเมื่อสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรม (innovation hub) ด้วย ซึ่งเราจะต้องรอดูต่อไป

นอกจากนั้นยังคงต้องประเมินด้วยว่า การเป็นยุคทองนี้ ได้ครอบคลุมทั่วถึงทุกประเทศหรือเฉพาะเพียงบางประเทศในภูมิภาคเท่านั้น คำถามสำคัญคือ ประเทศในภูมิภาค จะสามารถแสวงหาและผสมผสานผลประโยชน์จากการเติบโตของจีนซึ่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคและเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกได้ดีเพียงใด

2. ยุคทองของเอเชียและนัยต่อเศรษฐกิจไทย

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ยุคทองของเอเชียมีนัยต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในมิติของโอกาสและความท้าทาย โดยในมิติของโอกาสนั้น ความใกล้ชิดทั้งด้านภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมือง กับประเทศในภูมิภาคที่กำลังขยายตัวดีต่อเนื่องส่งผลให้ไทยมีโอกาสสูงที่จะแสวงหาประโยชน์จากทั้งการค้าและการลงทุนกับประเทศเหล่านั้น ขณะที่ความท้าทายสองเรื่องที่สำคัญคือ (1) การพัฒนาศักยภาพของประเทศเพื่อให้สามารถใช้โอกาสจากยุคทองของเอเชียได้อย่างเต็มที่ และ (2) การรักษาความสมดุลทางเศรษฐกิจในสภาวะที่ภูมิภาคนี้เต็มไปด้วย โอกาสและความหวัง ขณะที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่นอกภูมิภาคกลับยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเปราะบางสูง

การพัฒนาศักยภาพของประเทศ

ท่านผู้มีเกียรติครับ

การพัฒนาศักยภาพมีความสำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได ? ที่ผ่านมา เศรษฐกิจขนาดกลางเช่นไทย เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตแบบเครือข่ายในภูมิภาค ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะจีนเป็นศูนย์กลางการผลิตและมีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีโดยเฉพาะในด้านคอมพิวเตอร์และอิเล็คโทรนิกส์ ขณะที่เราเป็นฐานการผลิตและผู้ป้อนวัตถุดิบและชิ้นส่วนขั้นกลางให้กับเครือข่ายการผลิตนี้ ในระยะถัดไปหากเราต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนี้อย่างมั่นคง เราจำเป็นจะต้องพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีและระบบการผลิตที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพยายามก้าวขึ้นเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีต่อไป เนื่องจากมูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่จะมาจากการค้นคิดและพัฒนาเทคโนโลยี และขณะเดียวกันความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานของเราเองนั้นมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

ท่านผู้มีเกียรติครับ

หากเรายังไม่มีการเตรียมตัวที่เป็นระบบและครอบคลุมดีพอ การเพิ่มบทบาทหรือแม้แต่การรักษาสถานะในเครือข่าย การผลิตของภูมิภาคก็คงจะลำบาก และคู่แข่งก็คงจะแย่งตลาดในภูมิภาคไปในที่สุดการพัฒนาศักยภาพรวมทั้งกำหนดกลยุทธ์ของประเทศเพื่อแสวงหาประโยชน์จากยุคทองเอเชียจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้พยายามย้ำกับภาครัฐและเอกชนเสมอว่าประเทศอื่นๆในเอเชียต่างมีกลยุทธ์และแผนพัฒนาศักยภาพระยะยาวที่ครอบคลุม เป็นระบบ และชัดเจนกว่าไทย เช่น เกาหลี กำหนดแผนพัฒนาประเทศอย่างชัดเจนว่าจะเป็นผู้นำทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์สิงคโปร์ต้องการเป็นประเทศผู้นำทางนวัตกรรมของโลก สำหรับประเทศใกล้ตัวเช่น มาเลเซียก็ตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในสิ้นทศวรรษนี้ เป็นต้น

ดังนั้น หากไทยไม่สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เพิ่มขึ้นเพียงพอ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นประเทศชายขอบ (Periphery) ที่ถูกทิ้งให้ย้ำอยู่กับที่ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วในยุคทองนี้

การรักษาความสมดุลทางเศรษฐกิจ

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ในส่วนของการรักษาความสมดุลทางเศรษฐกิจนั้น ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกชี้ว่า ในยุคที่ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยสันติภาพ ความกลมเลียว ความมั่นคง และความมั่งคั่งนั้น ความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจการเงินมักจะเพิ่มสูงขึ้น และในหลายๆครั้งก็นำไปสู่วิกฤต สาเหตุสำคัญคือ ในช่วงเวลาที่โอกาสและความหวังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ความระมัดระวังจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐมักจะลดน้อยลงไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ วิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกครั้งล่าสุด รวมทั้ง วิกฤตเอเชียในทศวรรษก่อนหน้า

ท่ามกลางการเชื่อมโยงทางการค้า การเงิน และการลงทุน ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ความเสี่ยงจากความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นหัวจักรเศรษฐกิจหลักของเอเชีย ตลอดจนความเสี่ยงจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาซื้อสินทรัพย์ในกลุ่มประเทศเอเชียในปริมาณที่สูงเพราะมีปัจจัยพื้นฐานดีกว่าประเทศ G3 จึงเป็นความท้าทายสำคัญต่อการรักษาสมดุลของเศรษฐกิจไทยและกลุ่มประเทศเอเชียโดยรวม

ท่านผู้มีเกียรติครับ

การรักษาความสมดุลทางเศรษฐกิจให้ได้ดีในยุคที่เต็มไปด้วยโอกาสและความหวังนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ทุกท่านคงจำกันได้ดี เมื่อประมาณ 15 ปีก่อนหน้านี้ คำว่า “ปาฏิหาริย์ของเอเชีย” หรือ“Asian Miracle” นั้นเป็นคำพูดที่ติดปากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จำนวนมาก ขณะที่ประเทศไทยเองก็ดูเหมือนจะกลายเป็นเสือตัวที่ 5 จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการขยายตัวดี แต่ในที่สุดเราก็ประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียที่ทำให้เศรษฐกิจของเรากลับถอยหลังไประยะหนึ่ง ดังนั้น การก้าวเดินต่อไปของเศรษฐกิจเอเชียจำเป็นต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำเดิม

3. บทบาทของนโยบายการเงินในยุคทองของเอเชีย

ท่านผู้มีเกียรติครับ

การก้าวเข้าสู่ยุคทองของเอเชียดูเหมือนมีแนวโน้มจะสร้างความท้าทายอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในส่วน (1) การพัฒนาศักยภาพของประเทศ และ (2) การรักษาความสมดุลทางเศรษฐกิจ ผมเห็นว่านโยบายการเงินมีบทบาทที่จะช่วยในการจัดการกับความท้าทายดังกล่าวได้บางส่วน แต่คงไม่สามารถทำได้โดยลำพังทั้งหมด

พันธกิจของนโยบายการเงิน

โดยหลักการแล้ว ธนาคารกลางทั่วโลกต่างเข้าใจถึงพันธกิจหลักของนโยบายการเงิน คือการมุ่งเสริมสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างสมดุล ในทางปฏิบัติ เป้าหมายหลักในการดำเนินนโยบายการเงินคือ การดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน เพราะจะช่วยรักษาอำนาจซื้อของประชาชนในการใช้จ่าย และเอื้อให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคสามารถวางแผนตัดสินใจลงทุนและบริโภคได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขัน ในการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนั้น นโยบายการเงินยังมีบทบาทช่วยดูแลและลดความเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงทางการเงินที่จะสร้างความเปราะบางแก่ระบบ

นโยบายการเงินกับการสร้างโอกาสและลดความเสี่ยงจากยุคทองของเอเชีย

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ผมคิดว่า บทบาทการเสริมสร้างเสถียรภาพแก่ระบบเศรษฐกิจของนโยบายการเงินดังที่กล่าวข้างต้นนั้น จะช่วยทั้งเสริมสร้างโอกาส และลดความเสี่ยงจากความท้าทายของยุคทองของเอเชีย กล่าวคือเสถียรภาพจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม ย่อมจะช่วยสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง ลดความไม่แน่นอน สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถต่อยอดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากเศรษฐกิจไม่สมดุล เปราะบาง และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนแล้ว การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและประชาชนย่อมไม่สามารถบรรลุผลเต็มที่

ท่านผู้มีเกียรติครับ

หลายท่านอาจมีความสงสัยว่าการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา ที่ธนาคารกลางในภูมิภาคได้เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สอดคล้องกับการเข้าสู่ยุคทองของเอเชียแล้วหรือไม่และเพียงใด ผมขอเรียนว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่แนวโน้มปกติ ความจำเป็นในการใช้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากเป็นพิเศษได้ลดลงไป ความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ทยอยลดความน่ากังวลลง โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะปรับเข้าสู่ระดับการขยายตัวระยะยาว (potential growth) จากทั้งการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาค แต่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจากปัจจัยด้านอุปสงค์จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง และปัจจัยด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้น การทยอยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากระดับที่ต่ำกว่าปกติ ก็เสมือนเป็นการถอนยาแก้ไข้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

ท่านผู้มีเกียรติครับ

การดำเนินนโยบายการเงินในยุคทองของเอเชีย จะต้องมองให้ไกลเพื่อให้การกำหนดนโยบายทำได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังต้องมองให้กว้างด้วย การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะที่ผ่านมานอกจากช่วยลดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อแล้ว เราประเมินว่า จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างสมดุลในระยะถัดไปด้วย ทั้งนี้เพราะปัจจุบันเป็นที่เข้าใจกันดีว่า อัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ติดลบยาวนานขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง อาจทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ของธุรกิจและประชาชนเร่งขึ้น จนนำไปสู่ปัญหาฟองสบู่ในท้ายที่สุดได้

นอกจากนั้น การดำเนินนโยบายการเงินในยุคทองของเอเชีย จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงต่างๆ ในเศรษฐกิจประเทศหลัก รวมทั้งในกลุ่มประเทศเอเชียอย่างใกล้ชิดประกอบกัน โดยเฉพาะเมื่อความเชื่อมโยงของเรากับประเทศในภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตอย่างร้อนแรงสูงขึ้น และทำใหก้ รส่งผ่านความเสี่ยงจากประเทศเหล่านั้นเป็นไปได้ง่ายขึ้นตาม

นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือจำเป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับ Macro-stability แต่ยังไม่พอ

ท่านผู้มีเกียรติครับ

แม้ว่านโยบายการเงินจะมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ (Macrostability) แต่โดยลำพังแล้วการใช้นโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวในการดูแลอาจไม่เพียงพอ เพราะยุคทองของเอเชียมาพร้อมกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจการเงินในหลายมิติไม่ว่าจะเป็นการไหลเข้าของเงินทุนระหว่างประเทศจำนวนมาก หรือความเสี่ยงของการเกิดภาวะฟองสบู่ในประเทศที่เศรษฐกิจร้อนแรงเช่น จีน

ในระยะที่ผ่านมาธนาคารกลางเอเชียในหลายประเทศได้นำเครื่องมือประเภท Macro-prudential measures มาใช้ในการลดความเสี่ยงจากความร้อนแรงของเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากการใช้นโยบายการเงินส่วนหนึ่งเนื่องจากนโยบายการเงินนั้นส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง แต่เครื่องมือประเภทนี้สามารถช่วยจัดการกับการสะสมความเสี่ยงเชิงระบบที่ก่อตัวอยู่เพียงในเฉพาะบางภาคเศรษฐกิจเช่น อสังหาริมทรัพย์เป็นต้น สำหรับทางธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ได้ใช้เครื่องมือประเภท Macro-prudential ในการลดความเสี่ยงเชิงระบบด้วย เช่นการประกาศเพิ่มน้ำหนักความเสี่ยง (Risk-weight) ของการปล่อยสินเชื่อต่อมูลค่าสินทรัพย์ (Loan to value ratio: LTV) ที่เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมา

นอกจากนั้นนโยบายอื่นๆ เช่น การพัฒนาเครื่องมือที่เอื้อให้ประชาชนสามารถป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้รองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ดีขึ้น และการพัฒนาขนาดและความลึกของตลาดการเงินผ่านความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ก็เป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามทำเพื่อสร้างเสริมการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจต่อไป

การจะก้าวเดินไปได้อย่างมั่นคงในยุคทองต้องมีการวางแผนที่สอดคล้องครอบคลุม

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ผมขอสรุปการปาฐกถาในวันนี้ว่า การที่ประเทศไทยจะก้าวเดินไปได้อย่างมั่นคงในยุคทองของเอเชีย เราจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถของประเทศโดยมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนและปฏิบัติได้จริง ทั้งนโยบายเศรษฐกิจในระดับมหภาคและจุลภาค นโยบายการศึกษา การสาธารณสุข ระบบโครงสร้างพื้นฐานตลอดจนการปรับตัวของภาคเอกชน เป็นต้น ขณะที่รักษาความสมดุลทางเศรษฐกิจเองก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด การดำเนินนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน ตลอดจนนโยบายการคลังจำเป็นต้องสอดคล้องและเหมาะสม

การเตรียมพร้อมแสวงหาโอกาสและลดความเสี่ยงในยุคทองของเอเชียนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง มีการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเองยินดีที่จะฟังมุมมองจากผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน และพร้อมที่จะร่วมมอื และสนับสนุนตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มที่ต่อไป

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ