แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 28, 2011 13:29 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 7/2554

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2554 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้ดีหลังจากชะลอลงในเดือนก่อน ในขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่องทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงมีแรงกดดันด้านราคาอย่างต่อเนื่องและชัดเจนขึ้นจากทั้งอุปสงค์ที่ขยายตัว การคาดการณ์เงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งตลาดแรงงานที่ตึงตัว

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

อุปสงค์ในประเทศกลับมาขยายตัวได้ดีและยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำซึ่งเอื้อต่อการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักธุรกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ขยายตัวเร่งขึ้นในอัตราร้อยละ 13.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวของเครื่องชี้ทุกหมวด โดยหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวสูงจากการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นมากส่วนหนึ่งจากการนำเข้าแท่นขุดเจาะน้ำมัน และอีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกที่คำสั่งซื้อยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่วนหมวดก่อสร้างขยายตัวมากขึ้นตามการก่อสร้างและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในช่วงก่อนหน้า ขณะเดียวกัน ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทีย บกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องชี้ในทุกหมวดทั้งสินค้าคงทนและไม่คงทนยังขยายตัวในเกณฑ์ดีจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับภาครัฐยังคงมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยในเดือนนี้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 120.4 พันล้านบาท จากการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เร่งขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งรายจ่ายอื่นๆ ทั้งงบประจำและงบลงทุนยังคงเบิกจ่ายในเกณฑ์ดี

อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว โดยการส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 16,523 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 21.4 ขยายตัวดีในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรที่มูลค่าการส่งออกยังคงขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของราคายางพาราและมันสำปะหลัง ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวดีตามการส่งออกยานยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสำคัญ ด้านการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมีจำนวน 1.8 ล้านคน เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและรัสเซียเป็นสำคัญส่วนอัตราการเข้าพักโรงแรมในเดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 62.6 สูงขึ้นจากร้อยละ 58.5 ในเดือนก่อน โดยเป็นการปรับดีขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ ยกเว้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคการผลิต ขยายตัวสอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.7 จากที่หดตัวร้อยละ 3.4 ในเดือนก่อน ตามการขยายตัวของการผลิตในหมวดสิ่งทอ ปิโตรเลียม ยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การผลิตในหมวด Hard Disk Drive ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากฐานการผลิตที่สูงในระยะเดียวกันปีก่อน สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องจากผลผลิตข้าวที่เลื่อนมาให้ผลผลิตมากขึ้นจากการเพาะปลูกที่ช้ากว่าและอุทิศตนเพื่อดูแลเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นความผันผวนได้อย่างราบรื่นปกติจากผลกระทบของภัยแล้งในช่วงกลางปี 2553 ในขณะที่ผลผลิตปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และมันสำปะหลัง ยังคงได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งปัญหาแมลงระบาด ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและตลาดโลกยังมีสูงทำให้ราคาสินค้าเกษตรยังขยายตัวเร่งขึ้นถึงร้อยละ 26.3 ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 30.6

อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัว ประกอบกับราคาทองคำที่ลดลงทำให้มีการนำเข้าทองคำสูงถึง 1,789 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้การนำเข้ารวมในเดือนนี้มีมูลค่าสูงถึง 17,111 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวเร่งขึ้นถึงร้อยละ 31.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่มากกว่ามูลค่าการส่งออกทำให้ดุลการค้ากลับมาขาดดุลในรอบ 5 เดือน

สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินยังคงเร่งตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.4 จากการเพิ่มขึ้นของทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนและสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจ ขณะที่เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (รวมตั๋วแลกเงิน) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งระดมเงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ ยังคงมีแรงกดดันด้านราคาอย่างต่อเนื่องและมีความชัดเจนขึ้นจากทั้งอุปสงค์ที่ขยายตัว การคาดการณ์เงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งตลาดแรงงานที่ตึงตัว สำหรับเสถียรภาพด้านต่างประเทศ แม้ดุลการค้าจะขาดดุล แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลจากภาคบริการ และเงินสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648 e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ