สุนทรพจน์: เศรษฐกิจไทยภายใต้ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 9, 2011 10:39 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปาฐกถาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่อง “เศรษฐกิจไทยภายใต้ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย”

ในการสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทยภายใต้ความเปราะบางของ ... เงินทุนเคลื่อนย้าย

จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล

วันที่ 8 มีนาคม 2554

สวัสดีครับท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มากล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง เศรษฐกิจไทยภายใต้ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายในปี 2554 ในการสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทยภายใต้ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของหลายท่าน และถือเป็นโอกาสอันดีที่ผมจะได้ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่แบงก์ชาติได้เตรียมไว้รับมือกับความท้าทายสำคัญในปีนี้ โดยการปาฐกถาวันนี้จะแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ (1) แนวโน้มของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในปัจจุบัน (2) นโยบายของแบงก์ชาติที่เตรียมไว้รับมือกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในปีนี้ และสุดท้าย คือ (3) ความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการรองรับกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายดังกล่าว

ท่านผู้มีเกียรติครับ

สำหรับในเรื่องแรกที่เกี่ยวกับเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ จะเห็นว่าขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นโดยมีเอเชียเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้มีเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยจำนวนมาก ทั้งในรูปของการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์และพันธบัตร จากการที่เศรษฐกิจเอเชียฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศในกลุ่ม G3 อย่างชัดเจนมองไปข้างหน้า แม้ในภาพรวมเงินทุนเคลื่อนย้ายต่างประเทศน่าจะยังมีแนวโน้มไหลเข้าสุทธิทั้งในปีนี้และปีหน้า แต่ยังมีปัจจัยบางประการที่อาจสร้างความผันผวนให้เกิดขึ้นได้ ทั้งทางด้านเงินทุนไหลเข้าและออกในช่วงเวลาต่างๆ ได้แก่ ความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปัญหาหนี้ภาครัฐและการรัดเข็มขัดทางการคลังในยุโรป รวมทั้งปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในแถบตะวันออกกลางที่ดูท่าจะมีแนวโน้มยืดเยื้อล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นความเสี่ยงในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ควรระมัดระวัง นอกจากนี้ การปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และในเอเชียเองก็เป็นสิ่งที่เราต้องจับตามอง ว่าจะทำให้เศรษฐกิจเกิดความสมดุล ไม่ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ และช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ในส่วนของไทยก็อาจต้องเพิ่มเรื่องปัจจัยการเมืองในประเทศเข้าไปด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญและแบงก์ชาติเองก็ได้เฝ้าติดตามในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ผมอยากเรียนเพิ่มเติมว่าไม่เพียงแต่ปัจจัยเศรษฐกิจเท่านั้นที่อาจสร้างความผันผวนให้เกิดขึ้นกับเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในระยะต่อไป ผมอยากชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของตัวแปรด้านสถาบันหรือที่เรียกว่า Institutional factor ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่าตัวแปรด้านเศรษฐกิจแต่อย่างใด ทั้งนี้เราได้เห็นถึงความพยายามร่วมมือกันของประเทศต่างๆ ในการประชุมสุดยอดผู้นำทางเศรษฐกิจโลก (G20) ในสองครั้งที่ผ่านมา ทั้งที่เกาหลีใต้และล่าสุดที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ เพื่อร่วมกันปรับความไม่สมดุลในโครงสร้างการค้าและการเงินระหว่างประเทศ (Global imbalances) ที่เกิดขึ้นจากการที่บางประเทศโดยเฉพาะประเทศในเอเชีย เกินดุลบัญชีเดินสะพัดระดับสูงจากการขยายตัวของการส่งออกเป็นเวลานาน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการดูแลค่าเงินเพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขัน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ต้องชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดด้วยการกู้ยืมเงินจากตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมาที่ผ่านมา ความคืบหน้าในการลดความไม่สมดุล หรือ Global imbalance นี้ปรับดีขึ้นบ้างเพราะกลุ่มประเทศ G3 สามารถส่งออกได้ดีขึ้น ขณะที่เอเชียหันมาขยายความต้องการในประเทศและเพิ่มศักยภาพในการค้าขายด้วยกันเอง แต่ความคืบหน้าก็ยังไม่มากพอที่จะแก้ปัญหาความไม่สมดุลได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้แรงกดดันที่เอเชียจะต้องทำให้ค่าเงินแข็งขึ้นยังมีอยู่ อีกทั้งการที่ภูมิภาคเอเชียเติบโตเร็วที่สุดในโลกก็ยังเป็นปัจจัยเร่งเงินทุนนำเข้ามาสู่ภูมิภาค ผลที่ได้ก็ล้วนส่งผลต่อความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในระยะต่อไปทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องทำความเข้าใจและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ในเรื่องที่สอง ด้านนโยบายของ ธปท. เพื่อรับมือกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายฯ ปีนี้ หลายท่านอาจตั้งคำถามในใจว่าแบงก์ชาติในฐานะที่มีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจมีแผนเพื่อรับมือกับความท้าทายในปีนี้อย่างไร ผมขอเรียนว่าขณะที่เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมากในช่วงปีที่ผ่านมา แบงก์ชาติก็ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายฯ ตามลำดับ เช่น การจัดตั้งระบบการติดตาม (Monitoring system) ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเงินทุนเคลื่อนย้ายฯ ที่ทันต่อสถานการณ์ มีประสิทธิภาพ และสามารถใช้ป้องกันปัญหาได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในส่วนของมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยกำชับบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศทุกแห่งไม่ให้ออกตั๋วแลกเงินทุกสัญญาเพื่อการกู้ยืมเงินบาทจากต่างชาติ พร้อมกับให้จัดส่งข้อมูลยอดคงค้างการถือครองตราสารทางการเงินของต่างชาติเป็นรายวันด้วย

นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังได้ออกมาตรการเพื่อเพิ่มความสมดุลระหว่างเงินทุนไหลเข้าและไหลออกด้วยการผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับเงินทุนไหลออกต่างๆ เช่น (1) การผ่อนคลายให้นิติบุคคลสามารถลงทุนหรือให้กู้ยืมในสกุลเงินต่างประเทศแก่กิจการในเครือได้ไม่จำกัดจำนวนและสำหรับกิจการนอกเครือได้ในวงเงินเพิ่มขึ้น (2) การอนุญาตให้เอกชนสามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีวงเงินสูงขึ้น ทั้งเพื่อการลงทุนและเพื่ออยู่อาศัย ตลอดจน (3) การเพิ่มวงเงินที่จัดสรรโดย กลต. ให้กับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนส่วนบุคคลไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น อีกทั้ง เพื่อให้นักลงทุนสถาบันสามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น แบงก์ชาติยังได้ผ่อนคลายให้นักลงทุนสถาบันสามารถเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงินต่างชาติ เพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ มาตรการของแบงก์ชาติ ทั้งหมดนี้ได้ดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับมาตรการของภาครัฐอื่นๆ พร้อมกับการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทเป็นระยะๆ เพื่อดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากเกินไป เห็นได้จากระดับเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับแผนระยะยาวในการดูแลเสถียรภาพด้านเงินทุนที่หลายท่านให้ความสนใจอยู่นั้น แบงก์ชาติตระหนักดีว่าในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกแบ่งเป็นสองขั้วที่มีความแตกต่างด้านภาวะเศรษฐกิจและแนวนโยบายการเงิน เงินทุนเคลื่อนย้ายมีโอกาสที่จะผันผวนได้มากกว่าเดิม แบงก์ชาติจึงได้เตรียมความพร้อมรองรับความเสี่ยงดังกล่าว 3 เรื่องหลักๆ คือ เรื่องแรกเพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินระหว่างประเทศในระยะยาวของเราเอง ด้วยการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ชัดเจน เป็นระบบ และมีขั้นตอนที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและสภาวะแวดล้อมทางการเงินโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ สำหรับคนไทยที่ต้องการลงทุนในต่างประเทศเพื่อเสริมสร้างให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศมีความสมดุลมากขึ้น

ในเรื่องที่สอง แบงก์ชาติจะสนับสนุนให้มีการใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมและเอื้อต่อการบริหารความเสี่ยงของภาคเอกชน ด้วยการส่งเสริมและกระตุ้นภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้เข้าถึงเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น ส่วนเรื่องสุดท้าย คือ การเตรียมความพร้อมในด้านมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะมีระดับความเข้มงวดที่แตกต่างกันเพื่อปรับใช้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในขณะนั้น

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ในเรื่องที่สาม จะเป็นเรื่องของความร่วมมือในภูมิภาคในการรับมือกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือเพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มีการดำเนินการระดับภูมิภาค ซึ่งช่วยสนับสนุนการรองรับความผันผวนดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งผมอยากจะขอกล่าวถึงใน 2 มิติที่สำคัญด้วยกัน คือ มิติแรกเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อรองรับกับปัญหาสภาพคล่องที่อาจเกิดขึ้นจากการไหลออกของเงินทุนเฉียบพลัน โดยในภูมิภาค กลุ่ม ประเทศ ASEAN+3 ได้จัดทำข้อตกลง Chiang Mai Initiative Multilateralization หรือ CMIM เพื่อเป็น Regional financial safety net เพื่อป้องกันไม่ให้การไหลออกของเงินทุนอย่างเฉียบพลันนำไปสู่วิกฤตการเงิน ส่วนในระดับสากล กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ตอบรับกับข้อเสนอของกลุ่ม G20 โดยได้ดำเนินการปฏิรูปกลไกทางการเงินให้มีความยืดหยุ่น และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศสมาชิกมากขึ้น เพื่อเพิ่มความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรทางการเงินเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ และป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการเงินอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ ในกลุ่มธนาคารกลางเองก็มีการหารือและติดตามประเด็นเกี่ยวกับเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะผ่านกลุ่ม BIS ซึ่งมีธนาคารกลางจากทั่วโลกเข้าร่วมหารือ หรือกลุ่ม EMEAP ซึ่งเป็นกลุ่มธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

อย่างไรก็ตาม การรับมือกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายดังกล่าวเป็นเพียงความท้าทายในระยะสั้น เพื่อป้องกันมิให้ส่งผลลบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาฟองสบู่และเงินเฟ้อ แต่ในระยะปานกลางความท้าทายที่สำคัญกว่าที่จะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะความสามารถในการเติบโตและปรับกลยุทธ์ของภาคธุรกิจ จะมาจากภูมิทัศน์เศรษฐกิจและการเงิน (Economic and financial landscape) ที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน ผมเห็นว่ากรอบความร่วมมืออาเซียนนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าในภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการค้าภูมิภาคถือเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียมาตลอด

ในการเตรียมการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านภาคการค้านี้ จะต้องคำนึงถึงความร่วมมือทางการเงินที่จะมาสนับสนุนการเติบโตทางการค้าด้วย ซึ่งนำมาถึงความร่วมมือระดับภูมิภาคในมิติที่ 2 คือ การหาแนวร่วมในระดับภูมิภาค เพื่อลดผลกระทบของความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของการค้าในภูมิภาค ที่ผ่านมาในเรื่องนี้ได้มีแนวคิดมากมายในเรื่องของการร่วมมือด้านอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินสกุลอาเซียนก็ดี หรือการใช้สกุลเงินท้องถิ่นของประเทศในภูมิภาคในการชำระการค้าในกลุ่ม เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ลดต้นทุนการค้า และลดการพึ่งพาการใช้เงินสกุลดอลลาร์ที่อาจมีความผันผวนได้อีกในอนาคต

อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน การศึกษาส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่า การใช้สกุลเงินเดียวกันอาจยังไม่ได้เป็นรูปแบบที่เหมาะสม เนื่องจากจะต้องเกิดขึ้นต่อเมื่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินของแต่ละประเทศมีระดับความพัฒนาที่ใกล้เคียงกันและมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจผ่านการรวมตัวทางการค้าค่อนข้างมาก ในส่วนของการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อชำระค่าสินค้านั้น หนึ่งในเงื่อนไขที่จะทำให้ได้ผลและช่วยในการลดต้นทุนได้จริง คือการที่ประเทศคู่ค้ามีปริมาณการค้าระหว่างกันที่ใช้เงินสกุลนั้นมากพอ หรือที่เรียกได้ว่ามี Critical mass ที่จะทำให้ต้นทุนนั้นลดลงมากพอที่จะคุ้มค่ากับการเปลี่ยนแปลงจากระบบที่ใช้ดอลลาร์สหรัฐฯ ในการชำระค่าสินค้าอยู่ ซึ่งในปัจจุบันในอาเซียนนั้นยังมีข้อจำกัดในทั้ง 2 เงื่อนไข อย่างไรก็ตามอาเซียนยังดำเนินการเพื่อพัฒนาตลาดการเงินและการลดข้อจำกัดของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นการสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกลไกเหล่านี้ต่อไป

แต่อีกกระแสที่มีการหันมาสนใจค่อนข้างมาก เพื่อเป็นการรับมือกับอัตราแลกเปลี่ยนที่แปรผันตามความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย คือ ความเป็นไปได้ในการนำเงินสกุลหยวนมาใช้ในการค้าภายในภูมิภาคด้วย เพื่อช่วยบรรเทาความผันผวนของสกุลเงินในภูมิภาคเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งในกรณีของประเทศจีนและเงินหยวน ส่วนใหญ่มีการมองว่าเงื่อนไขที่ผมกล่าวไปแล้วในเบื้องต้น ในเรื่องของความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและปริมาณการค้าที่สูงพอ หรือการมี Critical mass ที่เพียงพอนั้น ไม่น่าจะเป็นข้อจำกัดที่มีนัยสำคัญ แต่ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ยังทำให้การใช้เงินสกุลหยวนไม่แพร่หลาย โดยเฉพาะนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของรัฐบาลจีนในเรื่อง non-convertibility ของหยวนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมามาตรการและพัฒนาการต่างๆ ของรัฐบาลจีนเอง ก็ได้ส่งสัญญาณว่าจีนกำลังสนับสนุนและดำเนินการผลักดันเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินทางเลือกหนึ่งในระบบเงินตราระหว่างประเทศควบคู่ไปกับดอลลาร์และยูโร (Internationalization) โดยมาตรการดังกล่าวซึ่งรวมถึงการให้ฮ่องกงเป็นศูนย์การซื้อขายและการลงทุนของ เงินหยวนและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อยู่ในรูปของหยวน การที่มีบริษัทของจีนเกือบ 70,000 บริษัททำการค้า โดยใช้เงินหยวนแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ การอนุญาตให้บริษัทต่างประเทศออกพันธบัตรที่เรียกว่า ติมซำบอนด์ ในฮ่องกงได้ และการให้ Bank of China รับเปิดบัญชีเงินฝากเงินหยวนในนิวยอร์ค ทำให้การชำระค่าสินค้าด้วยสกุลเงินหยวนน่าจะเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพ ที่จะเป็นรูปแบบใหม่ของการรองรับการความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจจะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

ท่านผู้มีเกียรติครับ

แนวโน้มของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในปีนี้น่าจะจะมีขนาดที่สูงต่อเนื่อง และความผันผวนก็น่าจะมีมากขึ้นด้วย ซึ่งส่วนมากมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการเมืองในต่างประเทศ แบงก์ชาติไม่ได้นิ่งนอนใจในภาวะการณ์เช่นนี้ เราได้ออกมาตรการด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบของภาคเอกชนตั้งแต่ปีที่แล้ว นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังได้กำหนดแผนระยะยาวที่มีความชัดเจน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดอีกด้วย ในระดับภูมิภาค มีการร่วมมือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากวิกฤตการเงินอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ปัจจุบัน ก็มีการร่วมมือเพื่อศึกษาแนวทางในการรับมือกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวด้านการค้าต่อไป

อย่างไรก็ดี เพื่อรับมือกับความท้าทายครั้งนี้ คงต้องอาศัยความร่วมมือและการปรับตัวซึ่งรวมถึงการให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงของภาคเอกชนด้วย ซึ่งในเรื่องของการป้องกันความเสี่ยงนั้นแบงก์ชาติพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว และภาคเอกชนเองก็มีการปรับตัวเป็นอย่างดีในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการขยายตลาด การปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการ และที่อาจทำได้มากขึ้นก็คือ การศึกษาและใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ต่างๆ ที่มีอยู่ โดยเฉพาะในกรอบอาเซียนและประเทศคู่ค้า(*1) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ตลอดจนการออกไปลงทุนทางตรงในต่างประเทศของภาคเอกชนไทย ซึ่งจะช่วยขยายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศให้เพิ่มขึ้น สำหรับการเสวนาในช่วงต่อไปของวันนี้ ผมหวังว่าจะช่วยให้ทุกท่านได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่าน ทั้งจากภาคธุรกิจ สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย ซึ่งจะช่วยเปิดมุมมองในการทำธุรกิจของท่านให้กว้างขึ้น เพิ่มเติมประสบการณ์ที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น และสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ธุรกิจของท่านมากยิ่งขึ้น

ขอบคุณครับ

(*1) อาเซียนได้ทำ FTA กับประเทศอื่นๆ เช่น จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ