สุนทรพจน์: รับมือเศรษฐกิจไทยกับนโยบายการเงินปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 9, 2011 13:45 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปาฐกถาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่อง“รับมือเศรษฐกิจไทยกับนโยบายการเงินปี 2554”

งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2554 ณ สำนักงานภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 2 มีนาคม 2554

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มากล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของสำนักงานภาคเหนือ ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายวงการจะได้พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น และให้มุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ผมขอขอบคุณผู้ร่วมเสวนาและผู้ร่วมงานทุกท่าน ที่ได้ให้การสนับสนุนงานสัมมนาวิชาการของธนาคารด้วยดีเสมอมา

การปาฐกถาของผมในวันนี้ ประกอบไปด้วยสามส่วนหลัก คือ (1) ทิศทางนโยบายการเงินในปีนี้ (2) การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างระบบเศรษฐกิจการเงินโลกและนัยต่อเศรษฐกิจไทยและ (3) ปัญหาเศรษฐกิจที่ธุรกิจในภาคเหนือประสบกันอยู่ในขณะนี้และข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไข

ผมขอเริ่มต้นด้วยประเด็นที่อยู่ในความสนใจของท่าน คือแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในปีนี้ ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า หลักสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินที่ดีนั้น ต้องเอื้อให้เศรษฐกิจโดยรวมสามารถเจริญเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และรักษาความสมดุลของเศรษฐกิจให้คงอยู่ไว้ ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นคือการดูแลให้นโยบายมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของเศรษฐกิจนั่นเอง ผมคิดว่าสัญญาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายๆ ประการในขณะนี้นั้น บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นช่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และกลับเข้าสู่ภาวะการขยายตัวในระดับปกติ ที่สามารถขับเคลื่อนตัวเองไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยพึ่งพาการกระตุ้นจากนโยบายการเงินและการคลังอีกต่อไป

ในทางตรงกันข้าม หากผู้ดำเนินนโยบายยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องไปอีกแม้จะหมดความจำเป็นแล้ว ก็จะกลับไปสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายที่มากเกินควร หรือที่เรียกกันว่า demand pull จนเศรษฐกิจเสียความสมดุล ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะที่ผ่านมา จึงเป็นการทยอยลดแรงกระตุ้นจากนโยบายการเงิน ที่มาจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในช่วงปลายปี 2551 ถึงกลางปี 2552 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เมื่อเศรษฐกิจไทยได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ติดลบต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานย่อมจะไม่ใช่สัญญาณที่ดีต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

ผมทราบดีว่า หลายฝ่ายมีความกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะปัจจุบันที่ต้นทุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทั้งตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย และสถานการณ์การเมืองในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง บางท่านอาจจะเกรงว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินนั้น เสมือนเป็นการซ้ำเติมภาคธุรกิจเพราะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนทางการเงิน และจะทำให้เงินเฟ้อยิ่งสูงขึ้นไปอีก ผมขอเรียนว่า ต้นทุนทางการเงินหรือดอกเบี้ยเงินกู้ที่ภาคเอกชนต้องแบกรับนั้น ก็เหมือนกับราคาสินค้าอื่นๆ จะอยู่ในระดับต่ำได้ ก็ต่อเมื่อเงินเฟ้อนั้นอยู่ในระดับต่ำ การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมานั้น คือ การดำเนินนโยบายเชิงรุก แม้ในช่วงต้น อัตราดอกเบี้ยจะต้องปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อโดยรวมปรับสูงขึ้นมากจนเป็นปัญหารุนแรงเสียตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่สามารถทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจนั้นอยู่ต่ำได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง เพราะเมื่อเงินเฟ้อไม่สูงจนเกินไป ดอกเบี้ยก็ไม่ต้องปรับขึ้นอย่างรุนแรง ต้นทุนการกู้ยืมในอนาคตของภาคธุรกิจก็จะไม่สูงมากเช่นกัน

ผมขอให้ความมั่นใจกับทุกท่านว่า การดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงินทุกครั้งนั้น ทำด้วยความรอบคอบ และอยู่บนพื้นฐานของการประเมินข้อมูลและความเสี่ยงด้านต่างๆ อย่างรอบด้าน ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องเงินเฟ้อเท่านั้น แต่รวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจภาวะตลาดการเงิน ตลอดจนข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ ด้วย โดยมีเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ การประเมินของคณะกรรมการฯ ในการประชุมแต่ละครั้งนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่คณะกรรมการฯ ยังคงยึดมั่นไม่เปลี่ยนแปลง ก็คือพันธกิจในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา หรืออัตราเงินเฟ้อ ให้อยู่ในกรอบเป้าหมายตามที่แบงก์ชาติและกระทรวงการคลังได้ตกลงกำหนดร่วมกัน เพราะเมื่อเงินเฟ้อในระยะยาวต่ำแล้ว ระดับราคาสินค้าและต้นทุนก็จะไม่ผันผวนมากจนเกินไป นักลงทุนหรือผู้ประกอบการก็จะมีความมั่นใจ สามารถวางแผนการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าและบริการ ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมหรือดอกเบี้ยในระยะยาวก็จะไม่สูงจนเกินไปเช่นกัน และผู้บริโภคก็จะยังคงอำนาจซื้อไว้ได้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ผมจึงขอให้ทุกฝ่ายวางใจได้ว่าคณะกรรมการฯ ได้ให้ความสำคัญสูงสุด ต่อการบรรลุเป้าประสงค์นี้

ทุกท่านที่ติดตามข่าวสารการเงินระหว่างประเทศคงทราบดีว่า ประเทศไทยนั้นไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังทยอยลดแรงกระตุ้นจากนโยบายการเงิน ในหลายประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีก็กำลังดำเนินนโยบายในลักษณะเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเพราะธนาคารกลางแต่ละประเทศมีหลักการดำเนินนโยบายที่เป็นสากลเหมือนกัน ผมคิดว่าการลดบทบาทของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละประเทศยังคงมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อเนื่องไปในปีนี้ และจะเกิดในหลากหลายประเทศมากขึ้นอีกด้วย ในภาพรวมแล้ว ปีนี้จึงน่าจะเป็นปีเริ่มต้นของการปรับตัวเข้าสู่ทศวรรษใหม่ทางเศรษฐกิจการเงินโลก ที่ผู้ดำเนินนโยบายให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นน้อยลง และหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาเชิงโครงสร้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ในการประชุมสุดยอดผู้นำทางเศรษฐกิจโลก (G20) ในสองครั้งที่ผ่านมา ทั้งที่เกาหลีใต้ และล่าสุดที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพนั้น มีการถกกันมากถึงปัญหาความไม่สมดุล ในโครงสร้างการค้าและการเงินระหว่างประเทศ หรือที่มักเรียกกันว่า Global imbalance กล่าวคือการที่บางกลุ่มประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียเช่นจีน มีดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องซึ่งสะท้อนถึงความต้องการจากต่างประเทศต่อสินค้าจีนมากกว่าความต้องการของจีนต่อสินค้าต่างประเทศ ส่วนหนึ่งผ่านการกำหนดค่าเงินเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วเช่นสหรัฐฯ กลับต้องกลายเป็นลูกหนี้ เพราะเป็นผู้ที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อีกทั้งยังมีตลาดการเงินที่พัฒนามากทำให้ง่ายต่อการกู้ยืมจากประเทศอื่นด้วย ปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนให้ความสำคัญถึงกระทั่งมองว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่วิกฤต Sub-prime ที่เพิ่งผ่านมา และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

ผลสรุปที่ได้จากการเจรจาตกลงระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ต่อการแก้ปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกนั้น น่าจะทยอยมีความชัดเจนมากขึ้นในหนึ่งหรือสองปีข้างหน้าและจะมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนเศรษฐกิจไทยเองในทศวรรษข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ความเข้าใจต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นและการติดตามการแก้ไขปัญหา ของโครงสร้างการเงินระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่เพียงต่อผู้ดำเนินนโยบายเช่นแบงก์ชาติ แต่รวมไปถึงภาคเอกชนและผู้ประกอบการ ที่จะเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงด้วย

ผมคิดว่าประเด็นสำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจก็คือว่า ภาวะที่เศรษฐกิจโลกจะเดินด้วยขาเดียวเช่นที่ผ่านมาในปีที่แล้ว โดยหนุนด้วยการเติบโตของกลุ่มประเทศเอเชียเป็นหลักนั้น ไม่ได้เป็นภาวะที่ยั่งยืนหรือสามารถดำเนินต่อเนื่องไปได้ หากปราศจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างการค้าและการเงินระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้อาจเกิดได้ในหลายรูปแบบ โดยมีความเป็นไปได้สามประการหลักๆ ด้วยกัน

ประการแรก ประเทศกลุ่มเอเชียอาจสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต และหันมาพึ่งพาการบริโภคและแรงซื้อภายในประเทศหรือภายในภูมิภาคกันเอง แทนการพึ่งพาตลาดต่างประเทศหลัก เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งหากทำได้สำเร็จ ภูมิภาคเอเชียก็จะสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นกลไกขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกได้อย่างยั่งยืนและเต็มภาคภูมิ อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกผ่านการเพิ่มบทบาทอุปสงค์ภายในภูมิภาคด้วย นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบแรกนี้นับว่าประจวบเหมาะกับกระบวนการของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะมีผลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งน่าจะเป็นแรงสนับสนุนที่ดีได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการผลิตนั้น ในที่สุดต้องนำโดยภาคเอกชนเป็นหลัก ผ่านการวิจัยและการลงทุนเพื่อเจาะตลาดใหม่ภายในประเทศและภายในภูมิภาค ดังนั้น ความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือความสามารถของภาคเอกชนที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองได้อย่างทันท่วงที

สำหรับความเป็นไปได้ที่สองนั้น คือการที่กลุ่มประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากโดยเฉพาะจีน ยอมให้ค่าเงินของตัวเองแข็งค่าเร็วขึ้น เพื่อช่วยเร่งให้เกิดการ rebalance หรือเพิ่มความสมดุลในด้านการค้าระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่สองนี้ ในระยะสั้นเป็นเสมือนการผ่องถ่ายแรงส่งทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าของภูมิภาคเอเชียไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว จึงเป็นทางออกที่ประเทศพัฒนาแล้วพยายามสนับสนุนให้เกิด แต่ในมุมมองของประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้น ประเทศใดที่ผู้ส่งออกเคยชินกับการอาศัยความได้เปรียบทางด้านราคาผ่านอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลักในการแข่งขัน ก็จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากค่าเงินแข็งค่ารวดเร็วขึ้น ในทางตรงกันข้ามประเทศที่จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดหรืออาจได้รับประโยชน์ด้วยซ้ำไป ก็คือประเทศที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันในเชิงคุณภาพสินค้าโดยไม่ต้องพึ่งพาค่าเงินนั่นเอง

ความเป็นไปได้ประการสุดท้าย หากการเจรจาระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจยืดเยื้อและไม่สามารถหาทางออกเป็นรูปธรรมได้ และกระบวนการ Rebalancing ไม่เกิดขึ้น ปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกก็จะยังคงมีอยู่ และมีโอกาสปะทุออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่นภาวะวิกฤตการเงินอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในกรณีดังกล่าวก็แน่นอนว่าทุกฝ่ายต้องได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล

การคาดเดาล่วงหน้าว่าการเจรจาของประเทศมหาอำนาจนั้นจะได้ผลลงเอยในรูปแบบใดนั้นคงจะเป็นหน้าที่ของนักรัฐศาสตร์ แต่ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์และผู้ดำเนินนโยบายแล้ว ข้อสังเกตหลักก็คือ แรงกดดันในระดับการค้าระหว่างประเทศนั้นยังคงมีอยู่ และไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงที่ตามมาจะเกิดขึ้นในรูปแบบใด สุดท้ายก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเกิดการปรับตัวทางโครงสร้างเศรษฐกิจในแต่ละประเทศที่ได้รับผลกระทบรวมทั้งประเทศไทย ดังนั้น ภาคธุรกิจเอกชนของไทยจึงจะนิ่งนอนใจไม่ได้ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนาความเข้มแข็งให้กับธุรกิจของตัวเอง ในลักษณะที่ยั่งยืน และไม่ยึดติดกับภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายช่วยเหลือจากภาครัฐหรือค่าเงินที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพในปัจจุบัน ซึ่งย่อมจะเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต ภาคธุรกิจเอกชนจึงต้องมีการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจเชิงรุกเพื่อสร้างเสริมศักยภาพของตัวเองอย่างต่อเนื่อง

กลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ภาคเอกชนสามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือการเร่งลงทุน ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในการเตรียมพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะต่อไปด้วย ผมคิดว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของภาคเอกชนนั้น ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเป้าหมายรองทางเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่ถือว่าเป็นเป้าหมายหลักและเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันช่วยให้เกิดขึ้น เพราะถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคงของเศรษฐกิจไทยโดยรวม และในมุมมองของแบงก์ชาติเองนั้น ก็จะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจจริงเคียงคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และจะใช้ช่องทางการดำเนินนโยบายต่างๆ สนับสนุนให้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยืดหยุ่นต่อเศรษฐกิจไทยตามแนวทางที่ผมก็ได้เคยกล่าวไว้ในการแถลงนโยบายประจำปีของแบงก์ชาติเมื่อต้นปี

อีกมิติหนึ่งของความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่ผมคิดว่าสำคัญ และเป็นที่ปรารถนาของทุกฝ่ายคือการที่ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจนั้นได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงกัน หรือที่เรียกกันว่า Inclusive growth แบงก์ชาตินั้นนอกจากจะมีสาขาในแต่ละภาคที่ให้ข้อมูลและวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึกในระดับภูมิภาคแล้ ว ผมก็ยังมอบหมายรองผู้ว่าการและผู้ช่วยผู้ว่าการลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการโดยตรงเป็นประจำอีกด้วย ผมจึงขอถือโอกาสนี้เล่าให้ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านฟังถึงผลจากการพบปะกับผู้ประกอบการในภาคเหนือครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่เพิ่งผ่านมานี้ พร้อมกับจะขอตั้งข้อสังเกตบางประการด้วย ในภาพรวมนั้นผลจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการยืนยันถึงศักยภาพที่ยังมีอยู่มากของภาคธุรกิจเอกชนในภาคเหนือ จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังเติบโต และความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์และการเชื่อมโยงด้านการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านเป็นต้น ส่วนในด้านความท้าทายเราพบว่ามีปัญหาสามด้านหลักๆ ด้วยกันที่ผู้ประกอบการหลายรายมีความกังวล ได้แก่ (1) ปัญหาความไม่เพียงพอของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ส่งผลต่อสภาพคล่อง (2) ปัญหาราคาต้นทุนที่สูงขึ้น จากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และ (3) ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

ในด้านปัญหาเรื่องความไม่เพียงพอของสินเชื่อนั้น แม้แบงก์ชาติจะไม่ได้มีนโยบายควบคุมการปล่อยสินเชื่อโดยตรง แต่ก็ขอเรียนให้ทุกฝ่ายสบายใจว่า การดูแลให้ระบบสถาบันการเงินเป็นแหล่งเงินทุนที่มีประสิทธิภาพนั้นเป็นหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการดำเนินนโยบายด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงินของแบงกฺ์ชาติซึ่งผมได้เคยกล่าวถึงในการแถลงนโยบายประจำปีไปแล้ว จึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของแบงก์ชาติที่จะดูแลให้กระบวนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ โดยรวมนั้นมีความเหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจ ทั่วถึง และเป็นธรรมต่อธุรกิจและประชาชน โดยขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินควบคู่กันไปด้วย

ในด้านภาพรวมนั้นจึงขอให้ความมั่นใจว่าแบงก์ชาติให้ความสำคัญ แต่สำหรับปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อในแต่ละรายกรณีที่อาจจะยังมีอยู่นั้น ผมอยากจะขอความร่วมมือจากทั้งภาคธุรกิจและธนาคารพาณิชย์ ให้ปรึกษาและร่วมมือกันแก้ไขอุปสรรคที่มี ผ่านความเข้าใจร่วมกันว่าสินเชื่อที่ให้กับธุรกิจที่มีศักยภาพนั้น นำมาซึ่งประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น และมีบุคคลให้คำปรึกษาในการปรับระบบบัญชีให้มีมาตรฐาน รวมทั้งสร้างประวัติการเงินที่ดีเพื่อเป็นข้อมูลให้แก่แบงก์พาณิชย์ในการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเชื่อว่าจะตัดสินใจปล่อยได้รวดเร็วมากขึ้น และในกรณีที่ท่านคิดว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถร้องเรียนผ่านศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทยได้

ส่วนปัญหาด้านที่สอง คือราคาต้นทุนที่แพงขึ้นนั้น แท้ที่จริงไม่ใช่เพียงปัญหาของผู้ประกอบการในภาคเหนือเท่านั้น แต่เป็นปัญหาทั้งของประเทศไทย และของโลกในปัจจุบันด้วยจึงเห็นได้ชัดว่าสาเหตุหนึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศที่นอกเหนือการควบคุมโดยตรงของเรา ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ทำให้มีแรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้น แนวทางในการลดความรุนแรงของปัญหานี้ คือการใช้นโยบายการเงินเพื่อลดความร้อนแรงของอุปสงค์และควบคุมเงินเฟ้อ เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นทุนของสินค้าบางประเภทนำไปสู่การปรับตัวของราคาสินค้าประเภทอื่นๆ ไปด้วย ส่วนการแก้ปัญหาผ่านมาตรการของรัฐในรูปแบบอื่นเช่น การควบคุมราคานั้น ผมคิดว่าเป็นการแก้ไขปัญหาได้เพียงระยะสั้นและเป็นภาระสูงต่องบประมาณ นอกจากนี้ยังมีอันตรายว่าหากใช้นโยบายควบคุมราคาเกินพอดี ก็จะกลายเป็นการชะลอการปรับตัวจนสร้างปัญหาเชิงโครงสร้างเพิ่มเติม ให้กับประเทศได้ในระยะยาว ดังนั้นทางออกที่ยั่งยืนและดีที่สุด คือภาคเอกชนเองต้องไม่นิ่งนอนใจ แต่เร่งปรับตัวพัฒนาประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านอื่นๆ แต่เนิ่นๆ

ปัญหาประการสุดท้าย คือการขาดแคลนแรงงาน นับเป็นอีกปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย การแก้ไขปัญหาในระยะสั้นนั้นอาจพึ่งพาแรงงานต่างด้าวซึ่งก็ยังมีข้อจำกัด บางท่านเสนอให้ภาครัฐมีการวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เหมาะสมต่อความต้องการของตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น แต่กระบวนการผลิตทรัพยากรมนุษย์นั้นใช้เวลานานและอาจไม่ทันท่วงทีต่อโครงสร้างทางธุรกิจและการผลิตที่เปลี่ยนไปด้วย นอกจากนี้การขาดแคลนแรงงานในอนาคตอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น จากโครงสร้างประชากรในวัยแรงงานที่มีแนวโน้มลดลงในอนาคตอีกด้วย ผมจึงคิดว่าทางออกหนึ่งที่สามารถทำได้เร็ว และไม่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว คือการเร่งปรับกระบวนการผลิต โดยอาศัยการพึ่งพาแรงงานให้น้อยลง และหันมาพึ่งเครื่องจักรและแรงงานที่มีคุณภาพสูงมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ภาคธุรกิจควรเพิ่มการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง

ทั้งหมดนี้คือประเด็นและแนวคิดบางประการที่ผมคิดว่าอาจมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยในระยะต่อไป ผมมั่นใจว่าท่านผู้ร่วมเสวนาในวันนี้จะได้นำประเด็นสำคัญที่น่าสนใจอีกหลายประเด็นมาถกกัน สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณท่านผู้ทรงคุณวุฒิและท่านผู้มีเกียรติทุกท่านอีกครั้ง ที่ให้ความร่วมมือต่อแบงก์ชาติด้วยดีเสมอมา

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ