สุนทรพจน์: การส่งข้อมูลเพื่อการจัดทำสถิติดุลการชำระเงินและฐานะการลงทุนระหว่างประเทศให้ ธปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 22, 2011 10:55 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

คำกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม

เรื่อง “ การส่งข้อมูลเพื่อการจัดทำสถิติดุลการชำระเงินและฐานะการลงทุนระหว่างประเทศให้ ธปท.”

โดยนางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร

ณ ห้องประชุมป๋วย อึ๊งภากรณ์ อาคาร 1 ชั้น 4

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2554 เวลา 15.30 — 15.45 น.

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ดิฉันขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่ท่านผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนกรุณาสละเวลามารับฟังการชี้แจงเรื่อง “การส่งข้อมูลเพื่อการจัดทำสถิติดุลการชำระเงินและฐานะการลงทุนระหว่างประเทศให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย” ในวันนี้ ก่อนอื่นขอเรียนว่า ท่านผู้ประกอบการที่อยู่ในที่นี้ล้วนเป็นผู้ทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านรับหรือจ่าย ด้านสินทรัพย์หรือหนี้สิน ล้วนมีส่วนในการกำหนดภาพรวมฐานะสุทธิทางการเงินระหว่างประเทศของไทยทั้งสิ้น ท่านทั้งหลายอาจได้ทราบรายงานฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่ง ณ วันที่ 4 มีนาคม 2554 มีจำนวน 180,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นั้น บางท่านอาจเข้าใจว่าเป็นฐานะสินทรัพย์ต่างประเทศของประเทศไทยทั้งหมด แต่แท้จริงเป็นเพียงฐานะสินทรัพย์ต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยและที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลเท่านั้น ยังไม่นับรวมฐานะสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงินระหว่างประเทศของภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการเงิน และภาครัฐบาล ซึ่งหากรวมกันทั้งหมดแล้วจะเรียกว่า ฐานะเงินลงทุนสุทธิของประเทศ โดยข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 ประเทศไทยขาดดุลสุทธิ 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ. (คือมีหนี้สินต่างประเทศมากกว่าสินทรัพย์ต่างประเทศ อยู่ 4,800 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในปี 2552 เฉพาะ ธปท. มีสินทรัพย์ต่างประเทศ จำนวน ประมาณ 138,418 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

แม้ว่าในปัจจุบันข้อมูลฐานะการลงทุนระหว่างประเทศจะยังไม่สามารถจัดทำได้อย่างรวดเร็วเทียบเท่ากับตัวเลขเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเผยแพร่เป็นรายสัปดาห์ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีความพยายามที่จะพัฒนาปรับให้การจัดทำข้อมูลฐานะการลงทุนระหว่างประเทศมีความถี่ที่เพิ่มมากขึ้น และครบถ้วน เนื่องจากเป็นข้อมูลสำคัญที่แสดงถึงทั้งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินและความมั่นคงทางการเงินของประเทศ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ประกอบการดำเนินนโยบายการเงินและเผยแพร่แก่สาธารณชน นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องใช้ประโยชน

การชี้แจงในวันนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ

1. เพื่อให้ผู้ประกอบการ ทราบถึงการปรับปรุงระบบการสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจภาคต่างประเทศจากเดิมที่ขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยรวบรวมให้และดำเนินการเป็นรายปี จะปรับเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยทำการสำรวจโดยตรงจากท่านผู้ประกอบการเองเป็นรายไตรมาส

2. เพื่อให้ทราบถึงการปรับปรุงแบบสำรวจข้อมูลฐานะการลงทุนระหว่างประเทศให้ครอบคลุมมาก ขึ้น

3. เพื่อทราบถึงการออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สรข.3/2554 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ. ธปท. (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ซึ่งจะลงราชกิจจา-นุเบกษา ภายในเดือนนี้ เพื่อรองรับการสำรวจเพื่อจัดทำฐานะการลงทุนระหว่าง ประเทศให้ได้อย่างครบถ้วนมีกฎหมายรองรับตามหลักสากล

ท่านผู้มีเกียรติคะ

ปัจจุบัน “โลกาภิวัตน์” และแนวโน้มการเปิดเสรีทางการเงินที่กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเสรี ภายในกลุ่มอาเซียนในอีก 3 - 4 ปีข้างหน้า หรือที่เรียกว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 (พ.ศ. 2558) ซึ่งจะทำให้เงินทุนมีความเคลื่อนไหว และสามารถเคลื่อนย้ายได้คล่องตัวมากขึ้น ตลาดเงินและตลาดทุนในภูมิภาคต่างๆ เชื่อมโยงกันมากขึ้น นำไปสู่ปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มสูง ซึ่งแม้ว่าการขยายตัวของตลาดการเงินดังกล่าวจะช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเปิดรับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเพิ่มขึ้น หากไม่มีการติดตามดูแลใกล้ชิดและเพียงพอ ก็อาจกลายเป็นต้นเหตุของวิกฤติได้ ดังเห็นได้จากวิกฤติการเงินเอเซียในปี 2540 และวิกฤตการเงินโลกปี 2550 ที่ส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจโลกที่เชื่อมต่อกันเสมือนไร้พรมแดน วิกฤติที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้ง ล้วนแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของข้อมูลที่ไม่อาจส่งสัญญาณเตือนภัย หรือสะท้อนสถานะทางเศรษฐกิจที่แท้จริงได้อย่างทันท่วงที ทำให้การแก้ไขเพื่อบรรเทาผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจการเงินที่เกิดขึ้น เป็นไปด้วยความล่าช้า

สำหรับประเทศไทย ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลในช่วงก่อนวิกฤติการเงินในปี 2540 ทำให้ทางการไม่สามารถติดตามขนาดหนี้ต่างประเทศ และลักษณะการก่อหนี้ของภาคเอกชน ที่พบภายหลังว่าส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้น และเป็นหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก อันเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความเปราะบางทางการเงินระหว่างประเทศ และเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินครั้งสำคัญของประเทศไทย หลังจากวิกฤติในปี 2540 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เร่งดำเนินการจัดเก็บข้อมูลหนี้ต่างประเทศ เพื่อให้ทางการมีข้อมูลที่พอเพียง เพื่อทราบขนาดของปัญหา และเพื่อเร่งหาทางแก้ไขให้ประเทศกลับเข้าสู่ความมีเสถียรภาพทางการเงินให้เร็วที่สุด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการในที่นี้บางส่วนในการจัดส่งข้อมูลให้ จึงต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ เพื่อติดตามข้อมูลหนี้ต่างประเทศของธุรกิจเอกชนเป็นรายไตรมาส

สำหรับการติดตามฐานะเงินลงทุนสุทธิของประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลการเงินระหว่างประเทศที่ครบถ้วนทั้งด้านฐานะสินทรัพย์และหนี้สินรวมทุกภาคเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมา ธปท. ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลจากท่านผ่านกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นข้อมูลรายปี โดยการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลใช้เวลาถึง 6 เดือนหลังงวดการเงินประจำปีแต่ละปี (เผยแพร่รายงาน เดือนกันยายน ซึ่งล่าช้าไปถึง 9 เดือน) ซึ่งนับว่าล่าช้ามากไม่เพียงพอสำหรับการติดตามฐานะทางการเงินของประเทศ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และจากวิกฤติการเงินโลกปี 2550 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินของโลกครั้งใหญ่ ทำให้หลายประเทศตระหนักว่าทุกประเทศ ควรให้ความร่วมมือกันในการติดตามข้อมูลทางการเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุ ขนาดความเชื่อมโยงและซับซ้อนของปัญหา หากผู้วางนโยบายไม่มีข้อมูลที่พร้อม ปัญหาก็อาจส่งผลกระทบลุกลามไปอย่างกว้างขวาง

ท่านผู้มีเกียรติคะ

หลายครั้งมีคำถามว่า เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยนั้นมีเพียงพอหรือไม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะสามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างไร หากไม่ทราบสถานะทางการเงินของเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ เพราะในการทำประมาณการถึงความเพียงพอของเงินสำรองระหว่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องทราบว่าภาคเศรษฐกิจอื่นมีฐานะสินทรัพย์ และหนี้สินเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อเกิดวิกฤติ ลมเปลี่ยนทิศ จะพัดพาเงินทุนออกจากประเทศไปได้อย่างรวดเร็วเพียงใด สัญญาเงินกู้ต่างๆที่เคยต่ออายุได้ หากต่อไม่ได้ แล้วจะส่งผลกระทบอย่างไร และทางการพร้อมที่จะเข้าไปรองรับความผันผวนด้านนี้ได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้น ข้อมูลที่ท่านจะให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

จากวิกฤติปี 2550 หลายประเทศได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันติดตามข้อมูลเงินลงทุนระหว่างประเทศ เพราะธุรกรรมการเงินที่เกิดในประเทศหนึ่ง แล้วถูกนำไปแปลงสภาพต่อเป็นอนุพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ในประเทศอื่นๆ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ถ่ายทอดกันเป็นโครงข่าย แต่ข้อมูลธุรกรรมการเงินเหล่านี้ยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลที่ดี ทำให้ไม่สามารถใช้นโยบายในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีธุรกรรมเหล่านี้ไม่มากนัก แต่ในอีก 3 — 4 ปีข้างหน้าอาจมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นได้ จึงเป็นสิ่งที่ดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มจัดเก็บข้อมูลในขณะที่มีไม่มากนัก เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และเพิ่มพูนความเข้าใจในธุรกรรมไปทีละน้อย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกภาคเศรษฐกิจของประเทศ

ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ รวมทั้งเป็นผู้ใช้ข้อมูลเพื่อการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายสถาบันการเงิน ตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพข้อมูล และได้พัฒนาการจัดทำข้อมูลที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อมูลสถิติดุลการชำระเงินและฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ เพราะนอกจากจะสะท้อนปริมาณเงินทุนเข้าออกระหว่างประเทศของไทย แสดงถึงเสถียรภาพทางการเงินและ ฐานะความมั่นคงของประเทศ แล้วยังสะท้อนถึงระดับความเชื่อมโยงของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศไทยกับต่างประเทศ และเป็นข้อมูลสำคัญอันหนึ่งในการวางแผนรองรับสถานการณ์วิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้

ในครั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงขอเพิ่มความถี่ในการจัดเก็บข้อมูล จากรายปีเป็นรายไตรมาส ซึ่งเป็นความพยายามให้มีข้อมูลที่เพียงพอรวดเร็ว ทันกาล ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มสากล ปัจจุบันมีประเทศที่มีการจัดเก็บข้อมูลฐานะการลงทุนระหว่างประเทศเป็นรายไตรมาสทั้งหมด 44 ประเทศแล้ว เพราะฉะนั้น ประเทศไทยจึงต้องใช้ความพยายามที่จะต้องจัดทำข้อมูลรายไตรมาสให้ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปรับปรุงแบบสำรวจข้อมูลฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ ให้สามารถรองรับธุรกรรมการลงทุน ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนขึ้น ซึ่งท่านจะได้รับฟังคำอธิบายในรายละเอียดต่อไป

นอกจากเรื่องการปรับปรุงแบบสำรวจข้อมูลตามที่ดิฉันได้กล่าวไปแล้ว ในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้บุคคลซึ่งทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศถือปฏิบัติ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 แห่ง พรบ. ธปท. (ฉบับที่4) พ.ศ.2551 ซึ่งให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยในการขอให้ผู้ที่มีธุรกรรมที่เกี่ยวกับการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศจัดส่งข้อมูลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการจัดทำสถิติดุลการชำระเงิน และฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะเอื้อประโยชน์ให้การจัดเก็บข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้นแล้ว ยังเป็นหลักประกันให้ธุรกิจเชื่อมั่นได้ว่า ข้อมูลของท่านผู้ประกอบการส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจะถูกเก็บรักษาเป็นความลับ โดย ธปท. จะเผยแพร่ข้อมูลในภาพรวมเท่านั้น ข้อมูลที่เผยแพร่ในภาพรวมอย่างถูกต้องและมีความถี่เพิ่มขึ้น รวดเร็วมากขึ้น จะส่งผลย้อนกลับมาเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนได้ต่อไป

ในปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้สำรวจและเผยแพร่ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศของไทยเป็นรายปี โดยส่งแบบสำรวจไปพร้อมกับแบบรายงานงบการเงินประจำปี ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอาศัยอำนาจกฎหมายกระทรวงพาณิชย์ในการจัดเก็บข้อมูล จึงมีอัตราการตอบกลับข้อมูลอยู่ในระดับสูงทำให้ข้อมูลมีคุณภาพที่ดี

ดังนั้น เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย ทำการปรับปรุงแบบสำรวจ และเพิ่มความถี่ในการจัดเก็บเป็นรายไตรมาส ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถผนวกแบบสำรวจไปพร้อมกับรายงานงบการเงินของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีความถี่เป็นรายปี ได้อีกต่อไป ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ออกประกาศตามมาตรา 10 พรบ. ธปท. เพื่อให้สามารถจัดเก็บข้อมูลเป็นรายไตรมาสได้ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลได้ต่อไป

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านคะ

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของการเปิดเสรีทางการเงิน และความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศต่างๆมากขึ้น ความร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ควรให้ความร่วมมือเพื่อให้ผู้วางนโยบายมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา และในระดับที่ลึกพอที่จะวิเคราะห์ความเปราะบางทางการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าใจดีว่าการให้ข้อมูลเป็นรายไตรมาส ทำให้ผู้ประกอบการบางท่านกังวลว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี ธนาคารแห่งประเทศไทยขอเรียนให้ท่านสบายใจว่า เมื่อท่านให้ข้อมูลแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว และหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลหลังการตรวจสอบในงบสิ้นปีท่านสามารถแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลังได้

ท้ายที่สุด ดิฉันขอถือโอกาสนี้ ขอบคุณทุกท่าน ที่สละเวลาและให้เกียรติมารับฟังการชี้แจงของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันนี้ พร้อมกับร่วมทำความเข้าใจและเปิดรับต่อการเปลี่ยนแปลง ด้วยการเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ทั้งนี้ หากท่านมีข้อแนะนำประการใดทางธปท. ก็ยินดีที่จะปรับปรุงเพื่อให้การจัดข้อมูลของเราดียิ่งขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือที่ดีจากท่านเช่นที่ผ่านมา

ขอบคุณมากค่ะ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ