รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ)
ครั้งที่ 1/2554 ณ วันที่ 12 มกราคม 2554 ธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่วันที่ 26 มกราคม 2554
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล (ประธานกรรมการและผู้ว่าการ), นางอัจนา ไวความดี (รองประธานและรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน), นางสุชาดา กิระกุล (รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร), นายอำพน กิตติอำพน, นายพรายพล คุ้มทรัพย์, นายศิริ การเจริญดี, นายเกริกไกร จีระแพทย์
ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนโดยปรับแข็งขึ้นเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. จากกระแสเงินทุนไหลเข้าในช่วงสิ้นปี แต่กลับอ่อนค่าลงในช่วงต้นปี 2554 จากการขายทำกำไรในตลาดหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์ คาดว่าในระยะต่อไปนักลงทุนจะให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักมากขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในลักษณะ 2 ทิศทางมากกว่าแข็งค่าต่อเนื่องเช่นในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield curve) ปรับสูงขึ้นกว่าการประชุมครั้งที่แล้วเล็กน้อย สะท้อนว่าตลาดได้ price in การปรับดอกเบี้ยนโยบายของกนง. ในครั้งนี้ และจากผลสำรวจของตลาด นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้และบางส่วนประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นทั้งสิ้นร้อยละ 0.5-1 ต่อปี ในปี 2554
ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมปรับลดลง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายงานการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้เดิม และการจ้างงานมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ความเสี่ยงจากตลาดที่อยู่อาศัยยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ บางท่านยังมีความกังวลต่ออัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูงของสหรัฐฯ ส่วนเศรษฐกิจยุโรปยังทรงตัวแต่จะเผชิญกับความผันผวนในตลาดการเงินจากปัญหาหนี้ภาครัฐฯ ต่อไป แต่ประเทศหลักโดยเฉพาะเยอรมนีจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงประสบปัญหาเงินฝืดโดยการแข็งค่าของเงินเยนจะยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกในระยะต่อไป ส่วนเศรษฐกิจเอเชียยังคงเติบโตดีจากอุปสงค์ภายในประเทศ รวมทั้งการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคและตลาดเกิดใหม่ที่คาดว่าจะขยายตัวต่อไป โดยในระยะที่ผ่านมาเศรษฐกิจเอเชียพึ่งพาเศรษฐกิจ G3 น้อยลง อย่างไรก็ดี ประเทศในภูมิภาคเอเชียกำลังเผชิญความเสี่ยงจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนาที่แตกต่างกัน ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศสองกลุ่มนี้แตกต่างกัน โดยประเทศที่พัฒนาแล้วต้องดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา จำเป็นต้องใช้นโยบายที่เข้มงวดเพื่อดูแลเสถียรภาพด้านราคา โดยธนาคารกลางในภูมิภาคมีแนวโน้มที่จะ normalize นโยบายการเงินเร็วขึ้นในปี 2554 ทำให้ความเสี่ยงจากความผันผวนของ เงินทุนเคลื่อนย้าย และจังหวะและขนาดในการ tighten นโยบายที่เหมาะสมจะถือเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจภูมิภาครวมทั้งไทยในระยะต่อไป
เศรษฐกิจไทยเริ่มขยายตัวเข้าสู่แนวโน้มปกติ โดยขยายตัวได้ต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 จากไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญได้แก่ 1) การบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้จากรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตร การปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำและความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี 2) การลงทุนภาคเอกชนที่แม้จะชะลอลงบ้างหลังจากที่เร่งตัวสูงในช่วงก่อนหน้า แต่ความเชื่อมั่นที่ดีรวมทั้งกำลังการผลิตที่ตึงตัวในหลายอุตสาหกรรมจะส่งผลให้ยังคงมีความต้องการลงทุนต่อเนื่อง นอกจากนี้ พบว่าภาคเอกชนไทยในหลายสาขาการผลิตมีแผนการลงทุนในปี 2554 เพื่อรองรับความต้องการสินค้าและบริการที่จะเพิ่มขึ้นทั้งจากในและต่างประเทศด้วย และ 3) แรงกระตุ้นจากภาครัฐจากนโยบายภาครัฐในการสร้างรายได้ ที่ส่วนใหญ่ตกกับผู้มีรายได้น้อยที่มีแนวโน้มใช้จ่ายสูงกว่ากลุ่มอื่น นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนในภาครัฐจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ารวมทั้งการที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจมีความคืบหน้าต่อเนื่อง
ส่วนการส่งออกในปีที่ผ่านมาขยายตัวดีกว่าที่คาด และยังคงมีแรงส่งที่ดีต่อเนื่องไปในปี 2554 ตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและอาเซียน และคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สำนักต่างๆ ยังประเมินว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ดีในปีนี้ โดยราคาส่งออกของไทย (ยกเว้นในหมวดประมงที่มีอำนาจการต่อรองต่ำ) ปรับดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยรองรับผลกระทบจากค่าเงินที่แข็งได้บ้าง สำหรับภาคท่องเที่ยวอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง
ในส่วนของภาคการเงิน สินเชื่อภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจการขยายสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมาจากภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ ส่วนสินเชื่อภาคธุรกิจปรับดีขึ้น และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2554 ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายค่อนข้างเร็ว
สำหรับเสถียรภาพราคา แรงกดดันเงินเฟ้อมีมากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นตามแนวโน้มราคาพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นเช่นกันจากการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคา สินค้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหาร ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า แรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีมากขึ้นจากปัจจัยทั้งทางด้านอุปทาน (Cost-push) ได้แก่
1) ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
2) การส่งผ่านจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ไปยังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) มากขึ้น ขณะที่ยังมีสินค้าหลายรายการที่รอทางการอนุมัติให้ขึ้นราคา และ
3) ความสามารถในการตรึงราคาของผู้ผลิตเริ่มน้อยลง ทำให้ต้องทยอยส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคมากขึ้น และปัจจัยทางด้านอุปสงค์ (Demandpull) ตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องเข้าใกล้ศักยภาพ (Output gap แคบลง) ประกอบกับการคาดการณ์ต้นทุนของผู้ประกอบการที่สูงขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ทำให้การปรับเพิ่มราคาในระยะต่อไปอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ บางท่านยังมีความกังวลว่าความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะออกนอกกรอบเป้าหมายอาจเพิ่มขึ้นในปีนี้ด้วย
คณะกรรมการฯ เห็นพ้องกันว่าความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นมากกว่าความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเทียบกับการประชุมครั้งก่อน
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศชัดเจนขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน และความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบ Double Dip มีลดลง ในขณะที่ประเทศในเอเชียเผชิญความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นโดยเฉพาะการเร่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ด้านเศรษฐกิจไทยขยายตัวกลับเข้าสู่แนวโน้มปกติ โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าอุปสงค์ในประเทศจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป นอกจากนี้ การส่งออกยังขยายตัวได้ต่อเนื่องสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งและสามารถปรับตัวรองรับค่าเงินที่ปรับแข็งขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้ดี
แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน จากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น การที่เศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ระดับศักยภาพ รวมทั้งจากการที่ผู้ประกอบการได้ชะลอการปรับขึ้นราคามาแล้วระยะหนึ่ง ประกอบกับการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการที่อาจส่งผลให้รายจ่ายอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดและกระทบต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ บางท่านยังมีความกังวลว่าการที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อความไม่สมดุลทั้งในด้านการใช้จ่ายเกินตัว ไม่จูงใจให้ออม และการเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ในระยะต่อไป
คณะกรรมการฯ เห็นตรงกันถึงความต่อเนื่องในการส่งสัญญาณการปรับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ และการที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง กอปรกับแรงกดดันเงินเฟ้อเร่งขึ้นมาก ทำให้คณะกรรมการฯ บางท่านมีความเห็นว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นร้อยละ 0.5 ต่อปี อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่ยังมีความเห็นว่าควรให้การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต้องพิจารณาขนาดของการปรับและระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง
คณะกรรมการจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ (7 ต่อ 0) ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 2.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย