ประเด็นสำคัญในรอบปี 2553
เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดี แม้เผชิญกับปัจจัยลบหลายด้านตลอดปี ทั้งความไม่แน่นอนขอเศรษฐกิจโลกปัญหาการเมืองภายในประเทศ ความผันผวนของค่าเงินบาท รวมทั้งภัยธรรมชาติต่างๆ แต่ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ประกอบกับการดำเนินนโยบายการคลังและการเงินที่ผ่อนคลาย ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2553 เติบโตได้สูงถึงร้อยละ 7.8 จากการส่งออกการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวดี
- กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบในวงจำกัดจากการชุมนุมทางการเมืองในเดือนเมษายน-พฤษภาคมยกเว้นการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมากแต่สามารถฟื้นตัวได้เร็วหลังจากเหตุการณ์คลี่คลายทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์
- ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ทำให้ราคาสูงขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคในประเทศ
- รัฐบาลดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องทั้งจากงบประมาณปกติและการกู้เพิ่มเติมภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง รวมทั้งมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น การตรึงราคาพลังงาน และการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค
- คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ได้ออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อให้สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย หลังจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอาคารชุดในปี 2553 เติบโตสูงมาก
- อัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกจากที่ติดลบในปีก่อนจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีต่อเนื่องและจากต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งวัตถุดิบและค่าจ้าง ทำให้ผู้ผลิตเริ่มทยอยปรับราคาสินค้าขึ้น
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เพื่อสร้างสมดุลในระบบเศรษฐกิจ หลังประเมินว่าเศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อสูงขึ้น โดยทั้งปี 2553 กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้ง รวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.75 ต่อปี ทำให้ณ สิ้นปี 2553 อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี
- เงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับค่าเงินของประเทศในภูมิภาคจากเงินทุนไหลเข้า ซึ่งเป็นผลของเศรษฐกิจที่อ่อนแอและนโยบายการเงินผ่อนคลายของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก รวมทั้งปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็ง แต่มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ร้อยละ 28.5 สะท้อนความสามารถในการปรับตัวของผู้ส่งออก
เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวชัดเจนหลังจากหดตัวในปี 2552 นำโดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย สำหรับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักนั้นเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวชัดเจนจากการกระตุ้นภาครัฐ ขณะที่การฟื้นตัวของยุโรปและญี่ปุ่นยังมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
ความแตกต่างในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้ง 2 กลุ่ม ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งภูมิภาคเอเชียค่อนข้างมาก เป็นผลให้เงินในภูมิภาคแข็งค่ารวมถึงเงินบาทซึ่งแข็งค่าขึ้นจากสิ้นปีก่อนร้อยละ 10.6 เทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ.
แม้ค่าเงินบาทจะแข็งขึ้น แต่เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวร้อยละ 28.5 โดยเป็นการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักมากขึ้น เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 16.0 ล้านคน โดยเป็นการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจาก จีน รัสเซีย และเกาหลีใต้ เป็นสำคัญ สะท้อนความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการที่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความแตกต่างในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความต้องการพลังงานทดแทนจากพืชพลังงานประกอบกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นโดยเฉพาะยางพารา และปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่น้ำมันเฉลี่ยทั้งปีปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 21.4 เมื่อประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศที่เกินดุลสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่น้ำมัน จึงส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกร แม้ปริมาณผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติดังกล่าว โดยรายได้เกษตรกรในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 24.0
นโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายตลอดทั้งปี แม้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี กนง.จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยลดลงเป็นลำดับ แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนที่แท้จริงยังคงติดลบถึงร้อยละ 1.83 ณ สิ้นปี 2553
สำหรับนโยบายการคลัง รัฐบาลยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งจากงบประมาณปกติที่ขาดดุล 350 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.5 ต่อ GDP และการใช้จ่ายเพิ่มเติมภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 219 พันล้านบาท รวมทั้งมีมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น การตรึงราคาพลังงาน และการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค นอกจากนี้ ทิศทางนโยบายการคลังในปีงบประมาณ 2554 ยังกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยจัดทำงบประมาณขาดดุล 420 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.9 ต่อ GDP และจากการคาดการณ์รายได้ที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้มีการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวน 100 พันล้านบาท
ดุลงบประมาณ
ปีงบประมาณ 2551 2552 2553 2554 2555 (หน่วย: พันล้านบาท) ดุลในงบประมาณตามเอกสารงบประมาณ -165 -347 -350 -400* -350 ร้อยละต่อ GDP -1.8 -3.9 -3.5 -3.7 -3.0 ดุลในงบประมาณตามเอกสารงบประมาณ + ไทยเข้มแข็ง -165 -362 -569 -473 -388 ร้อยละต่อ GDP -1.8 -4.1 -5.7 -4.4 -3.3 หมายเหตุ: *การขาดดุลงบประมาณตามเอกสารงบประมาณ อยู่ที่ 420 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี จากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น 120 พันล้านบาท จึงจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม 100 พันล้านบาท ทำให้งบประมาณขาดดุล 400 พันล้านบาท ที่มา: เอกสารงบประมาณ และประมาณการการเบิกจ่ายเงินกู้ไทยเข้มแข็งโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
การใช้จ่ายทั้งในประเทศและการส่งออกที่ดีขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 13.9 จากที่หดตัวร้อยละ 6.1 ในปีก่อน ผลักดันให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะในหมวดยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร และอุตสาหกรรมเชื่อมโยง ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 13.8 หลังจากที่หดตัวร้อยละ 13.1 ในปีก่อน
กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ดีขึ้นทั้งด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน จากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของไทย ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553 ขยายตัวได้ร้อยละ 7.8 แม้เผชิญกับปัจจัยลบหลายด้านตลอดปี ทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมืองภายในประเทศ ความผันผวนของค่าเงินบาท รวมทั้งภัยธรรมชาติต่างๆ
ปัจจัยการผลิตตึงตัวขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และค่าจ้างแรงงาน ทำให้เริ่มเห็นการส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปยังราคาสินค้า แม้ทางการจะขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ชะลอการขึ้นราคาสินค้าตลอดทั้งปี 2553 ก็ตาม โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกร้อยละ 3.3 จากที่ติดลบร้อยละ 0.9 ในปีก่อน
เศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวได้ต่อเนื่องในเกณฑ์ปกติที่ร้อยละ 3.0-5.01/ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการใช้จ่ายที่ยังคงมีแรงสนับสนุนจากรายได้และความเชื่อมั่นของประชาชนที่ดี ประกอบกับสินเชื่อที่ยังเอื้อต่อการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่แรงกดดันด้านราคาจะทยอยเพิ่มขึ้นตามต้นทุนและการขยายตัวของการใช้จ่ายในประเทศ สะท้อนจากการคาดการณ์ต้นทุนและเงินเฟ้อของผู้ประกอบการที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดย กนง. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0-3.01/ และ 2.5-4.51/ ตามลำดับ
ภาคเอกชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น เห็นได้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553ที่ส่วนใหญ่มาจากแรงขับเคลื่อนของภาคเอกชน และเป็นการเติบโตที่กระจายตัวอย่างทั่วถึงซึ่งแตกต่างจากการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ยังต้องพึ่งพาแรงกระตุ้นจากภาครัฐเป็นสำคัญ ความจำเป็นของนโยบายการเงินและการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีน้อยลง ขณะที่นโยบายการคลังของไทยในระยะต่อไปยังคงมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ต่างกับหลายประเทศในภูมิภาคที่ลดแรงกระตุ้นจากภาครัฐลงแล้วในปี 2554 ดังนั้นเพื่อให้ทิศทางนโยบายมหภาคเป็นไปอย่างเหมาะสมในภาวะที่ปัจจัยการผลิตตึงตัว นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจึงมีความจำเป็นน้อยลง
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย