สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 4, 2011 13:49 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 5/2554

เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนกุมภาพันธ์

เศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ตามภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอลงขณะที่ผลผลิตเกษตรและอุตสาหกรรมปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวตามรายได้ของเกษตรกรที่อยู่ในระดับสูงจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญทั้งยางและปาล์มน้ำมัน ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ตามราคาสินค้าในหมวดยานพาหนะ และน้ำมันเชื้อเพลิง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ภาคการผลิต ผลผลิตภาคการเกษตรลดลง แม้ยางและปาล์มน้ำมันปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการส่งผลให้ดัชนีราคาพืชผลเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 78.0 โดยราคายางและปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 81.8 และ 116.6 ทำให้รายได้เกษตรกรปรับเพิ่มขึ้นทางด้านผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.0 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ผลผลิตลดลงร้อยละ 5.9 เนื่องจาก การผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ไม้ยางพารา และดีบุก ที่ขยายตัว รวมทั้งยางแปรรูปน้ำมันปาล์มดิบ และอาหารแช่แข็ง ปรับตัวดีขึ้น ส่วนถุงมือยางลดกำลังการผลิตจากวัตถุดิบไม่เพียงพอและราคาสูง

ภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 22.8 ผลจากเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดหลักฟื้นตัว และนักท่องเที่ยวมั่นใจในความปลอดภัย แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 โดยชะลอลงทั้งการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน และภาคใต้ชายแดน

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวตามเครื่องชี้ในหมวดยานยนต์ และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้น ตามรายได้จากภาคเกษตรที่ขยายตัว และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

การลงทุนภาคการก่อสร้าง ขยายตัวชะลอลง โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.4 ตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อการบริการ/ขนส่ง และอื่น ๆ ส่วนพื้นที่การก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ลดลง ขณะที่จำนวนเงินลงทุนรวมของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรายใหม่ลดลงร้อยละ 89.6

การส่งออก ขยายตัวสูงตามการเพิ่มขึ้นของมูลค่าส่งออกยางพาราเป็นสำคัญ รวมทั้งน้ำมันดิบ และดีบุก ขณะที่ มูลค่าส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลง ด้านการนำเข้าชะลอลงตามมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ชะลอลง ส่วนการนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงอย่างไรก็ตาม การนำเข้าสัตว์น้ำแช่แข็งเร่งตัวขึ้น

การค้าผ่านด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย มูลค่าการส่งออกเร่งตัวต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 34.4 ตามการเพิ่มขึ้นของสินค้าหมวดยางพารา เป็นสำคัญ รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ สื่อบันทึกข้อมูล ขณะที่ การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ตามการเพิ่มขึ้นของมูลค่านำเข้าสื่อบันทึกข้อมูลเป็นสำคัญ

ทางด้านสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 13.8E ตามความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นและสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเงินฝากขยายตัวร้อยละ12.2E เป็นผลจากการขยายฐานเงินฝากเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ขณะที่ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง ตามการชะลอลงของราคาเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ แม้ว่าราคาสินค้า อาหารสำเร็จรูป เครื่องประกอบอาหาร ปลาและสัตว์น้ำ จะเร่งขึ้นก็ตาม

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : สมถวิล ศิริบูรณานนท์

โทร.0-7427-2000 ต่อ 4346 e-mail: Somtawis@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ