สุนทรพจน์: “SMEs: โอกาสและความเสี่ยงในยุคเอเชียภิวัฒน์”

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 26, 2011 13:34 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปาฐกถาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่อง “SMEs: โอกาสและความเสี่ยงในยุคเอเชียภิวัฒน์”

ในการสัมมนาให้ความรู้แก่ SMEs และสนับสนุนให้มีการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

จัดโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง

ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอนด์บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

วันอังคารที่ 26 เมษายน 2554

สวัสดีครับท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มากล่าวเปิดงานสัมมนาเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมเพราะท่านมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย

ภายใต้ภาวะการไหลเข้าออกของเงินทุนที่นับวันจะมีความผันผวนมากขึ้นนั้น การป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ ธปท. จึงได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จัดงานสัมมนาลักษณะนี้ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป ที่อาจกระทบโอกาสและความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของท่าน โดยเฉพาะความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและค่าเงิน รวมถึงการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่เหมาะสม เป็นต้น

ในวันนี้ ผมจะขอกล่าวใน 2 ส่วนด้วยกัน คือ (1) ผลของเอเชียภิวัฒน์ที่มีต่อความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาท (2) แนวนโยบายของทางการเพื่อช่วยลดความผันผวนของค่าเงินและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

ท่านผู้มีเกียรติครับ

คำว่า “เอเชียภิวัฒน์” สามารถแปลได้ว่า ภูมิภาคเอเชียจะมีความสำคัญมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลกซึ่งเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีของประเทศจีนและอินเดียในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้ขนาดเศรษฐกิจของทั้งสอง ประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้แรงงานจำ นวนมากในทั้งสองประเทศมีกำ ลังซื้อเพิ่มขึ้นมาก ทำให้จีนและอินเดียกลายเป็นตลาดส่งออกสำคัญสำหรับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค จึงส่งผลให้ความมั่งคั่งของภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยสัดส่วนของเศรษฐกิจเอเชียใน GDP โลก เพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 8 เมื่อต้นทศวรรษ 1980 เป็นร้อยละ 25 ในปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ30 ในปี 2015 ขณะที่สัดส่วนของกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งเป็นประเทศพัฒนากลับลดลงจากร้อยละ 50 ในต้นทศวรรษที่ 1980 เหลือร้อยละ 40 ในปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มจะลดลงเหลือร้อยละ 36-37 ในปี 2015 ซึ่งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในสัดส่วน GDP โลกนี้ สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงแนวโน้มความมั่งคั่งของเอเชียที่น่าจะมีต่อไปในอนาคต โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากจีนและอินเดียดังที่ได้กล่าวไปแล้ว และการเพิ่มผลิตภาพการผลิตและการสะสมทุนจะช่วยให้เศรษฐกิจเอเชียมีการขยายตัวต่อเนื่องไปอีก

ท่านผู้มีเกียรติครับ

กระแสเอเชียภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะเพิ่มโอกาสให้กับประเทศในภูมิภาคดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มความเสี่ยงให้กับภูมิภาคเอเชียมากขึ้นด้วย เพราะอาจจะทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลสู่ภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปของการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์และพันธบัตรในปีที่ผ่านมา

สำหรับในปีนี้ ก็น่าจะยังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิจากต่างประเทศและหากมีเงินทุนไหลเข้ามามาก อาจจะมีปัญหาในเรื่องค่าเงินและราคาสินทรัพย์ที่สูงเกินปัจจัยพื้นฐาน และที่ผ่านมาเมื่อเงินทุนไหลเข้ามามากย่อมทำให้มีความเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลออกปริมาณมากขึ้นในอนาคตเช่นกันหากมีปัจจัยที่มากระทบความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลก เช่น ความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่ม G3 ความคลุมเครือของปัญหาหนี้ภาครัฐในบางประเทศของกลุ่ม Eurozone ปัญหาความไม่สงบในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกา รวมถึงภัยธรรมชาติร้ายแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก นอกจากนี้ การปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และในเอเชียเองก็เป็นสิ่งที่เราต้องจับตามอง ว่าจะทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพและเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้หรือไม่ ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแต่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติซึ่งมีนัยสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายของเงินทุนให้มีความผันผวนมากขึ้นและกระทบต่อค่าเงินบาทและค่าเงินในภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ท่ามกลางความเสี่ยง ความผันผวน และความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในที่กล่าวไปข้างต้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อผลกำไรขาดทุนและอนาคตของกิจการ แม้ว่าเราจะไม่สามารถควบคุมปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน แต่เราสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

สำหรับ ธปท. ที่ผ่านมาได้มีการทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด และมีการดำเนินการเชิงนโยบายรวมถึงการออกมาตรการรูปแบบต่างๆ เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินบาทและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น สำหรับการดำเนินการในส่วนของ ธปท. เอง ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกเป็นการดูแลไม่ให้ค่าเงินมีความผันผวนมากเกินไป ซึ่งสะท้อนจากระดับเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การเข้าแทรกแซงของ ธปท. เองก็มีข้อจำกัดและเราไม่สามารถฝืนกลไกตลาดได้เพราะเงินทุนที่ไหลเข้าส่วนใหญ่เป็นผลจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น และเงินไหลเข้าที่มาจากการเกินดุลการค้าและบริการเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ขนาดของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ณ ปัจจุบัน มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นมากเพราะสภาพคล่องที่ล้นโลกที่เป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ดังนั้น สิ่งที่ ธปท.ทำได้ คือ การดูแลค่าเงินไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไปเพื่อช่วยลดผลกระทบที่มีต่อการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ ธปท. ได้มีการติดตามพฤติกรรมการเก็งกำไรค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดและเข้มงวดมากขึ้นและได้เพิ่มความสมดุลให้กับเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ด้วยการผ่อนคลายมาตรการเงินทุนด้านขาออกมากขึ้น ได้แก่ การผ่อนคลายให้นิติบุคคลสามารถลงทุนโดยตรงในต่างประเทศหรือให้กู้ยืมแก่กิจการในเครือได้ไม่จำกัดจำนวน และเพิ่มวงเงินให้กับ กลต. สำหรับจัดสรรให้กับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนส่วนบุคคลไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น

ท่านผู้มีเกียรติครับ

นอกจากการดูแลความผันผวนของค่าเงินบาทแล้ว ธปท. ยังคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ประกอบการด้วย โดย ธปท. ได้ดำเนินการในส่วนที่สอง ดังนี้

1) ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถทำสัญญาจากประมาณการค่าสินค้าและบริการ ภายใน 1 ปีได้ ผ่อนผันให้สามารถยกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ และยังผ่อนผันให้ผู้ส่งออกไม่ต้องนำเงินตราต่างประเทศกลับเข้าประเทศในจำนวนที่สูงขึ้น

2) สนับสนุนให้มีการใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมและเอื้อต่อการบริหารความเสี่ยงของภาคเอกชน โดยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้กับผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ ผ่านการร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจัดสัมมนาขึ้นเป็นประจำ ดังเช่นการสัมมนาในวันนี้ เป็นต้น

3) ดูแลกระบวนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์โดยรวมให้มีความเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจให้ทั่วถึงและเป็นธรรมต่อธุรกิจและประชาชน แม้ว่า ธปท. ไม่ได้มีนโยบายควบคุมการปล่อยสินเชื่อโดยตรง แต่ขอให้มั่นใจได้ว่าการดูแลระบบสถาบันการเงินให้เป็นแหล่งเงินทุนที่มีประสิทธิภาพเป็นเป้าหมายหนึ่งในการดำเนินนโยบายด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งถือได้ว่าเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ ธปท.

4) ธปท. ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีแนวทางที่ชัดเจนขึ้นทั้งการให้คำปรึกษาในเรื่องการปรับระบบบัญชีให้มีมาตรฐาน เพื่อสร้างประวัติการเงินที่ดีสำหรับเป็นข้อมูลให้แก่ธนาคารพาณิชย์ในการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ดี หากท่านรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ท่านสามารถร้องเรียนผ่านศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อของธปท. ได้

ท่านผู้มีเกียรติครับ

นอกจากมาตรการที่ ธปท. ได้ดำเนินการดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น ธปท. ได้มีกลยุทธ์เสริมเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายดังนี้ 1) การจัดทำแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ชัดเจน เป็นระบบ และมีขั้นตอนที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและสภาวะแวดล้อมทางการเงินโลก เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับประเทศในระยะยาว ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี ธปท. จะได้เชิญภาคเอกชนร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นกับร่างแผนดังกล่าว 2) การเตรียมความพร้อมในด้านมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะมีระดับความเข้มงวดที่แตกต่างกันเพื่อปรับใช้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในขณะนั้น และสุดท้าย จะเป็นเรื่องของความร่วมมือในภูมิภาคในการรับมือกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ในการรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและค่าเงินบาทต้องอาศัยความร่วมมือและการปรับตัวซึ่งรวมถึงการให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงของภาคเอกชนด้วย สำหรับเรื่องของการป้องกันความเสี่ยงนั้น แบงก์ชาติพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ผมหวังว่าการเสวนาในวันนี้ จะให้ความรู้และประสบการณ์กับทุกท่าน เพื่อมีส่วนช่วยให้การดำเนินธุรกิจของทุกท่านประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ