แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคม และไตรมาสแรก ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 29, 2011 16:56 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 14/2554

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2554 ขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยอุทกภัยในภาคใต้มีผลกระทบอยู่ในวงจำกัด ขณะเดียวกัน อุปสงค์จากต่างประเทศทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวสูง ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนส่วนหนึ่งจากผลของฐานที่สูง และเริ่มได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในญี่ปุ่นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงมีแรงกดดันด้านราคาอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ยังคงเพิ่มขึ้น รวมทั้งตลาดแรงงานที่ตึงตัว

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

อุปสงค์ในประเทศขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัวร้อยละ 4.8 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนตามเครื่องชี้ในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวสูงมากเนื่องจากผู้บริโภคหันมานิยมรถยนต์ขนาดเล็กและประหยัดพลังงานมากขึ้น รวมทั้งการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ขยายตัวร้อยละ 13.2 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนตามการขยายตัวของเครื่องชี้ในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ รวมทั้งการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างทรงตัวจากเดือนก่อน สำหรับภาครัฐยังคงมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเร่งเบิกจ่ายจากเดือนก่อน โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน ส่งผลให้ในเดือนนี้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 58.0 พันล้านบาท

อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวสูงทั้งการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว โดยการส่งออกมีมูลค่ารวม 21,072 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 31.0 ขยายตัวดีต่อเนื่องในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวดีตามราคายางพาราที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ด้านปริมาณขยายตัวตามการส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้นและการส่งออกยางพาราที่ขยายตัวสูงตามอุปสงค์จากจีน ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวดีตามการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์เป็นสำคัญ สำหรับการท่องเที่ยวยังขยายตัวดี แม้จะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทั้งภัยพิบัติในญี่ปุ่นและอุทกภัยในภาคใต้ของไทย โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศในเดือนนี้มีจำนวน 1.8 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 22.6 เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียและยุโรปเป็นสำคัญ ส่วนอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 63.0 สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 57.2

อุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวดีส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในภาคเกษตรที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยรายได้เกษตรกรขยายตัวสูงจากระยะเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 47.6 จากทั้งด้านผลผลิตเกษตรและด้านราคา ผลผลิตเกษตรขยายตัวสูงถึงร้อยละ 24.9 ตามผลผลิตข้าวนาปรังที่เก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าฤดูปกติจากการเพาะปลูก เร็วขึ้นหลังจากอุทกภัยในปลายปีก่อนคลี่คลายลง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในเกณฑ์สูงที่ร้อยละ 18.2 แม้จะชะลอลงบ้าง วิสัยทัศน์ เป็นองค์กรที่มองการณ์ไกล พนักงานมีความสามารถสูง และอุทิศตนเพื่อดูแลเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นความผันผวนได้อย่างราบรื่น จากฐานที่สูงขึ้นในเดือนเดียวกันปีก่อน และผลของภัยพิบัติในญี่ปุ่นที่ส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า อาทิ ยางพารา รวมทั้งปัญหาขาดแคลนน้ำมันปาล์มเริ่มคลี่คลาย

สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ลดลงร้อยละ 6.7 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการหดตัวของการผลิตในหมวด Hard Disk Drive จากฐานการผลิตที่สูงในเดือนเดียวกันปีก่อนและสต็อกในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับสูง การหดตัวของการผลิตในหมวดเครื่องแต่งกายส่วนหนึ่งจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ รวมทั้งผลของปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม นอกจากนี้ การผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์แม้จะยังขยายตัว แต่ชะลอลงเนื่องจากเริ่มได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม การผลิตในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ยังคงขยายตัวดี

อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัวสูงในเดือนนี้ ส่งผลให้การนำเข้ามีมูลค่ารวม 19,180 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 27.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และหมวดสินค้าทุน ซึ่งสะท้อนว่าแนวโน้มการผลิตและการส่งออกน่าจะยังคงขยายตัวได้ในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกที่มากกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าเกินดุลต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.9 จากการเพิ่มขึ้นของทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนและสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจ สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (รวมตั๋วแลกเงิน) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.6 จากการเร่งระดมเงินฝาก เพื่อรองรับความต้องการสินเชื่อภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น และเพื่อรักษาฐานลูกค้าเงินฝากในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังคงมีแรงกดดันด้านราคาอย่างต่อเนื่องทั้งจากอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ยังคงเพิ่มขึ้นและตลาดแรงงานที่ตึงตัว สำหรับเสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลการชำระเงินยังคงเกินดุลต่อเนื่องและเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง

ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี 2553 จากแรงขับเคลื่อนของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากผลของฐานสูง การปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ และภัยพิบัติในญี่ปุ่น สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศมีแรงกดดันเงินเฟ้อชัดเจนและต่อเนื่อง ส่วนเสถียรภาพต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ