ดร. รังสรรค์ หทัยเสรี
ผู้ชำนาญการอาวุโส (ด้านระบบการชำระเงิน)
ฝ่ายการชำระเงินและตราสารหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ระบบบาทเนต (BAHTNET: Bank of Thailand Automated High-value Transfer Network) เป็นระบบการชำระเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการโอนเงินมูลค่าสูงระหว่างสถาบันสมาชิก ในวงเงินโอนตั้งแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อรายการ ไปจนถึงวงเงินโอนเกินกว่า 500 ล้านบาทต่อรายการ ระบบนี้เปิดใช้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤกษาคม 2538 ปัจจุบันมีสถาบันสมาชิกรวมทั้งสิ้น 66 ราย แบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารต่างประเทศ สถาบันการเงินพิเศษของรัฐ บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ สถาบันอื่น ๆ ส่วนราชการ และส่วนงานภายใน ธปท.
การโอนเงินมูลค่าสูงภายใต้ระบบบาทเนตมีจุดเด่นตรงที่ว่า สามารถขจัดความเสี่ยงทางด้าน Settlement Risk ตลอดจน Credit Risk ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นการชำระดุลที่เกิดขึ้นทีละรายการโดยมีผลสมบูรณ์ในทันที (Real Time Gross Settlement) ภายใต้ระบบนี้ ผู้สั่งโอนต้องมีเงินอย่างเพียงพอใน บัญชีเงินฝากที่ ธปท. จึงจะสามารถทำการโอนได้สำเร็จ ลักษณะการชำระเงินที่มีผลสิ้นสุดทันที (Finality) นี้ ส่งผลทำให้ระบบการเงินเผชิญกับความเสี่ยงทางด้าน Settlement Risk และ Systemic Risk ในระดับที่ลดลง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการชำระเงินระหว่างสถาบันการเงินโดยใช้เช็คในช่วงก่อนหน้าการเปิดใช้ระบบบาทเนต ซึ่งผู้รับโอนมักมีความเสี่ยงจากการที่ต้องรอคอยกระบวนการเรียกเก็บเงินตามหน้าเช็ค
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองเกิดขึ้นหลายประการ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ มูลค่าการโอนเงินผ่านระบบบาทเนตมีขนาดสูงขึ้นมาก จากราว 64-78 ล้านล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2543-2547 เป็นราว 500-655 ล้านล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2552-2553 หากพิจารณาเทียบกับ GDP ของประเทศ พบว่า เป็นการปรับเพิ่มจากประมาณ 11-14 เท่าของ GDP ในช่วงปี 2543-2547 เป็น 54 และ 65 เท่าของ GDP ในช่วงปี 2552-2553 มูลค่าการโอนเงินที่ปรับตัวสูงขึ้นมากดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากหลายด้าน ทั้งในส่วนที่ ธปท. เปิดช่องให้มีบริการใหม่ๆ เพิ่มเติม ตัวอย่างเช่น การชำระราคาสำหรับการโอนตราสารหนี้พร้อมชำระราคาในลักษณะ Delivery versus Payment (DvP) การชำระราคาสำหรับการซื้อขายหุ้น รวมทั้งบริการการโอนเงินเพื่อบุคคลที่สาม สิ่งที่เห็นได้ชัดอีกประการหนึ่งก็คือ การโอนเงินเพื่อบุคคลที่สามนั้น มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสัดส่วนราวร้อยละ 75-77 ของปริมาณรายการทั้งหมด ในช่วงปี 2543-2546 เป็นราวร้อยละ 93 ของปริมาณรายการทั้งหมด ในปี 2553 ซึ่งสะท้อนว่าภาคธุรกิจและประชาชนเลือกใช้ช่องทางการโอนเงินเพื่อบุคคลที่สามผ่านระบบบาทเนตแทนการใช้เช็คเพิ่มมากขึ้น
ที่ผ่านมา ธปท. มีเครื่องมือและมาตรการรองรับหลายอย่าง เพื่อเอื้ออำนวยให้ระบบบาทเนต สามารถชำระดุลได้อย่างราบรื่น ตลอดจนลดความเสี่ยงต่อการกระจุกตัวในการชำระดุล ตัวอย่างเช่น “มาตรการกระตุ้นการทำธุรกรรมตั้งแต่ต้นวันด้วยการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันตามช่วงเวลา” โดยจัดเก็บรายการละไม่เกิน 8 บาท สำหรับช่วงที่ 1 (8.30-12.00 น.) และไม่เกิน 16 บาท สำหรับช่วงที่ 2 (12.00 - 16.00 น.) จนถึงรายการละ 200 บาท สำหรับช่วงที่ 3 (16.00 - 17.30 น.) มาตรการนี้ทำให้ Settlement Risk ลดลง จากการที่สถาบันสมาชิกหันมาโอนเงินในช่วงต้นของเวลาทำการกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังปี 2545 จนถึงปัจจุบัน การโอนเงินผ่านระบบบาทเนตในช่วงที่ 1 มี สัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 52-66 ของปริมาณรายการทั้งหมด รองลงไปเป็นช่วงที่ 2 มีสัดส่วนราวร้อยละ 33-46 ในขณะที่ในช่วงก่อนหน้าปี 2545 นั้น การโอนเงินผ่านระบบบาทเนตในช่วงที่ 2 มีสัดส่วนสูงสุด ถึงกว่าร้อยละ 55-58 ของปริมาณรายการทั้งหมด
ที่สำคัญ ธปท. ยังได้จัดให้มีมาตรการรองรับเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านสภาพคล่อง โดยการจัดให้มี “เงินสภาพคล่องระหว่างวัน” (Intraday Liquidity Facility: ILF) เพื่อให้สถาบันผู้สั่งโอนที่มีเงินไม่เพียงพอในบัญชีของตน สามารถกู้ยืมผ่านช่องทาง ILF โดยการนำหลักทรัพย์รัฐบาลและตราสารหนี้มาวางเป็นหลักประกันตามเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนดไว้ ทำให้สามารถบรรเทาความเสี่ยงทางด้าน Liquidity Risk และทำให้การโอนเงินมูลค่าสูงภายใต้ระบบบาทเนตเป็นไปอย่างราบรื่น
แม้ว่าการโอนเงินภายใต้ระบบบาทเนตสามารถขจัดความเสี่ยงทางด้าน Settlement Risk ตลอดจน Credit Risk ได้เป็นอย่างดี แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ยังคงมีความเสี่ยงบางด้านหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะความเสี่ยงในส่วนของ Principal Risk ที่เชื่อมโยงกับการโอนเงินเพื่อธุรกรรมซื้อขายเงินตรา ต่างประเทศ ซึ่งเป็นธุรกรรมที่มีสัดส่วนสูงเป็นอันดับต้นๆ ความเสี่ยงนี้เป็นความเสี่ยงด้าน Foreign Exchange (FX) Settlement Risk จากการที่ผู้ขายได้ส่งมอบเงินบาท (Baht leg) ที่ได้ขายให้กับคู่ค้าใน ต่างประเทศไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันในการส่งมอบเงินตราต่างประเทศที่ได้ซื้อไว้จากคู่ค้า เนื่องจากความแตกต่างในเรื่อง Time Zone ของตลาดการเงินระหว่างประเทศ การนำสกุลเงินบาทของไทยเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสกุลเงินภายใต้ระบบ CLS (Continuous Linked Settlement) ซึ่งมีการชำระดุลในลักษณะ Payment versus Payment (PvP) นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทางการไทยสามารถตัดสินใจเลือกใช้ในอนาคต เพื่อช่วยขจัดความเสี่ยงด้าน FX Settlement Risk ดังเช่นที่สกุลเงินสำคัญๆ ของโลกกว่า 17 ประเทศได้เลือกใช้ในปัจจุบัน โดยมีสกุลเงินในกลุ่มประเทศแถบเอเชียเข้าร่วมด้วย เช่น เงินเยนเงินวอน เงินดอลลาร์ฮ่องกง และเงินดอลลาร์สิงคโปร์
ภายใต้สภาวการณ์ที่การโอนเงินมูลค่าสูงภายใต้ระบบบาทเนตมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วจนมีสัดส่วน “มูลค่าการโอนเงินเฉลี่ยต่อวัน” (Daily average value) สูงถึงราวร้อยละ 22-27 เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่า หากมีความไม่ราบรื่นเกิดขึ้นในการโอนเงินผ่านระบบบาทเนต ย่อมส่งผลทำให้ระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจไทยตกอยู่ในสภาวการณ์ที่อ่อนไหวต่อการไร้เสถียรภาพได้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงหลายปีก่อนหน้าที่ “มูลค่าการโอนเงินเฉลี่ยต่อวัน” ยังมีสัดส่วนไม่สูงมากนักเพียงราวร้อยละ 5-6 ของ GDP
มองไปข้างหน้า พฤติกรรมและความเสี่ยงการโอนเงินมูลค่าสูงภายใต้ระบบบาทเนตจำเป็นต้องได้รับการติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยเครื่องชี้ “Early Warning Indicators” และระบบสัญญานเตือนภัยใหม่ๆที่ ธปท. ได้พัฒนาขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า สามารถส่งสัญญานแจ้งเตือนพฤติกรรมการโอนเงินที่ผิดปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ทางการเงินที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ จากการที่ระบบการเงินของประเทศต่างๆ มีความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันมากยิ่งขึ้นในขณะนี้
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 19 เมษายน 2554 ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย