ฉบับที่ 8/2554
นายปราณีต โชติกีรติเวช ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ แถลงว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 1 โดยรวมขยายตัว จากภาคการท่องเที่ยว การค้า รวมทั้งการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นตามราคาพืชผล ซึ่งสูงขึ้นมากทั้งยาง ปาล์ม และกุ้ง เนื่องจาก ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ขณะที่การผลิตพืชผลเกษตร และอุตสาหกรรมลดลงผลกระทบจากอุทกภัยและภัยแล้ง แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มี ดังนี้
ภาคบริการท่องเที่ยวขยายตัว โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางในไตรมาสนี้มีจำนวน 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 26.7 เป็นการเพิ่มขึ้นในแหล่งท่องเที่ยวภาคใต้ฝั่งอันดามันและภาคใต้ชายแดน เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการเพิ่มเที่ยวบิน แม้ว่า ยังมีปัญหาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรป และอุทกภัยในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดสุราษฎร์ธานีชะลอตัวมากก็ตาม
ภาคต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์สรอ. ขยายตัวสูง โดยมีมูลค่าการส่งออก 4,955.7 ล้านดอลลาร์สรอ.เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.3 ตามมูลค่าการส่งออกยางพารา ถุงมือยาง อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารกระป๋อง เป็นสำคัญ ส่วนมูลค่าการนำเข้ามีจำนวน 3,572.3 ล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 94.9 โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากการนำเข้าแท่นผลิตก๊าซ ขณะเดียวกันมีการนำเข้า สัตว์น้ำแช่แข็งน้ำยางสังเคราะห์ และอุปกรณ์ก่อสร้าง เพิ่มขึ้นเช่นกัน
สำหรับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว ตามปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์รถจักรยานยนต์ และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งแม้ว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากไตรมาสก่อนแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงจากรายได้เกษตรกรที่ยังคงขยายตัวสูงร้อยละ 61.0 เป็นสำคัญ ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนภาคการก่อสร้างเร่งตัวขึ้นเช่นกัน โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 ส่วนเงินลงทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนหดตัวร้อยละ 51.2
ภาคการผลิต ลดลงทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม แต่ก็ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนโดยดัชนีผลผลิตพืชผลเกษตรในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 1.0 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 18.8 ผลจากผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 เป็นสำคัญ ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมขยับตัวเพิ่มขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 12.0 ในไตรมาสก่อน เป็นลดลงร้อยละ 4.7 ตามการผลิตอาหารทะเลกระป๋อง และดีบุก ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน และถุงมือยางการผลิตจะลดลง แต่ก็ปรับตัวดีขึ้น จากไตรมาก่อน ขณะที่การผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง และไม้ยางพาราแปรรูปลดลง
เงินฝากและสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเงินฝากขยายตัวประมาณร้อยละ 15.7 และสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 14.4 เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งสินเชื่อธุรกิจและการบริโภคส่วนบุคคล ร้อยละ 11.6 และ 18.2 ตามลำดับ ตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเพื่อการผลิตสินเชื่อเช่าซื้อรถและสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้น ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นทุกหมวดย่อย โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ รวมทั้งราคาหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นตามหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร เป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร.0-7427-2000 ต่อ 4346 e-mail : somtawis@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย