ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 6, 2011 17:00 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 15/2554

นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2554 มีเสถียรภาพ สินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้น จากระยะเดียวกันของปีก่อน สภาพคล่องผ่อนคลายจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากและตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange: B/E) ที่มากกว่าสินเชื่อ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) ลดลงอย่างต่อเนื่อง กำไรจากการดำเนินงานและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ฐานะเงินกองทุนเพียงพอที่จะรองรับ การขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยมีสาระสรุปได้ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2554

สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 13.4 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 11.3 ใน ไตรมาส 4 ปี 2553 จากการขยายตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจ (สัดส่วนร้อยละ 71.5 ของสินเชื่อรวม) ที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 9.0 ณ สิ้นไตรมาสก่อน โดยเป็นการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจและการลงทุนแก่ผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการ SME ในเกือบทุกภาคธุรกิจ ในขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 16.3 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ที่ขยายตัวร้อยละ 17.7 จากการชะลอตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อย

เงินฝากรวมตั๋วแลกเงินขยายตัวต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 11.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ผ่อนคลาย สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและตั๋วแลกเงินลดลงจาก ร้อยละ 88.3 เหลือร้อยละ 87.0

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มียอดคงค้าง 300.5 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 12.1 พันล้านบาท จากการรับชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการตัดหนี้สูญเป็นสำคัญ สัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงทั้ง Gross NPL จากร้อยละ 3.6 เหลือร้อยละ 3.2 และ Net NPL จากร้อยละ 1.9 เหลือร้อยละ 1.7 โดยสินเชื่อธุรกิจมีสัดส่วน NPL ลดลงเหลือร้อยละ 3.4 ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคมีสัดส่วน NPL ทรงตัวที่ร้อยละ 2.3 สำหรับสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Delinquent Loan) มียอดคงค้างลดลงในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ส่งผลให้สัดส่วน Delinquent loan ต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือร้อยละ 2.2 อย่างไรก็ตาม สินเชื่อสาธารณูปโภคและสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ในไตรมาส 1 ปี 2554 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อน 5.6 พันล้านบาท และ 5.1 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 และร้อยละ 17.8 ตามลำดับ เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สงสัยจะสูญก็ลดลงตามคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset: ROA) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.1 อย่างไรก็ดี การปรับแบบรายงานทางการเงินให้สอดคล้อง กับแนวสากล ส่งผลให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ที่คำนวณแบบใหม่อยู่ที่ระดับร้อยละ 2.4 ต่ำกว่า NIM ที่คำนวณแบบเดิมที่ร้อยละ 2.8 ในไตรมาส 1 ปี 2554 ขณะที่เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Tier-1 ratio) อยู่ในระดับสูงและเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ แม้จะปรับลดลงบ้างเล็กน้อยเหลือร้อยละ 15.8 และร้อยละ 12.1 ตามลำดับ เป็นผลจากการใช้มาตรฐานการบัญชีสากลใหม่ (International Accounting Standard-IAS 19) ที่กำหนดให้รับรู้ผลประโยชน์พนักงานที่คาดว่าจะต้องจ่ายในอนาคต

โดยรวมแล้วในไตรมาส 1 ปี 2554 ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัย ที่สำคัญที่ควรจับตามอง คือ การแข่งขันระดมทุนที่สูงขึ้น การลดการคุ้มครองเงินฝากของสถาบันคุ้มครองเงินฝากเหลือ 50 ล้านบาทต่อผู้ฝากต่อธนาคาร ซึ่งจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป และการขยายตัวที่เร่งขึ้นของสินเชื่อในขณะที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ขณะที่ปัจจัยด้านต่างประเทศ อาทิ ความผันผวนของราคาพลังงาน เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และการผลิตที่พึ่งพาสินค้าขั้นกลางจากญี่ปุ่น ระบบธนาคารพาณิชย์จึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

2. การใช้มาตรฐานการบัญชีใหม่และการปรับปรุงแบบการรายงานทางการเงินตามแนวทางสากล

ก) สภาวิชาชีพบัญชีได้มีการประกาศใช้มาตรฐานการบัญชีไทยฉบับใหม่ที่ปรับปรุงตามแนวทางของมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (International Accounting Standard : IAS) และมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (Internatinal Financial Reporting Standard : IFRS) โดย เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ทำให้ข้อมูลและอัตราส่วนทางการเงินบางตัวเปลี่ยนแปลงไป ที่สำคัญคือ มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 19 เรื่อง ผลประโยชน์พนักงาน ซึ่งระบุให้มีการรับรู้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานที่ธุรกิจต่างๆ ชึ่งรวมถึงธนาคารคาดว่าต้องจ่ายในอนาคต ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายพนักงานสูงขึ้น กำไรสุทธิและกำไรสะสมลดลง ทั้งนี้ ในการใช้มาตรฐานฯ จะมีภาระค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงในครั้งแรกเนื่องจากอาจยังไม่เคยตั้งประมาณการค่าใช้จ่ายเหล่านี้มาก่อน หรือเคยประมาณการค่าใช้จ่ายไว้บ้างแต่ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ ส่งผลให้กำไรสะสมลดลง เงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์จึงลดลงด้วย ดังนั้น อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงและอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จึงลดลงบ้างเล็กน้อย แต่อัตราดังกล่าวก็ยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 15.8 และร้อยละ 12.1 ตามลำดับ

ข) ธปท. ได้มีการปรับปรุงแบบงบการเงินใหม่ เพื่อให้รองรับธุรกรรมใหม่ๆ ที่ ธปท. ได้อนุญาตให้ดำเนินการ รวมทั้งจัดประเภทรายการใหม่ให้มีความชัดเจน ตามแนวสากลและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของสำนักงานสอบบัญชีชั้นนำของโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเปรียบเทียบระหว่างประเทศ การปรับปรุงแบบงบการเงินนี้ทำให้อัตราส่วนทางการเงินเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

(1) อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin - NIM) ซึ่งเท่ากับ รายได้ดอกเบี้ย (ซึ่งเดิมรวมรายได้จากเงินปันผลที่ได้จากการลงทุนในตราสารประเภทหุ้นด้วย แต่ที่ปรับใหม่ คือไม่รวมเงินปันผล) หัก ด้วยค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและเงินนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ซึ่งเดิม ใช้จ่ายดอกเบี้ยไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายจากเงินนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่ที่ปรับใหม่คือให้รวมเป็นรายการหักด้วย) หารด้วยสินทรัพย์เฉลี่ย NIM ที่ปรับใหม่นี้จึงมุ่งสะท้อนผลตอบแทนและค่าใช้จ่ายที่เน้นธุรกิจหลักของธนาคารคือการให้กู้ยืมและการระดมเงินฝากที่มีต้นทุนจากการคุ้มครองเงินฝากด้วยโดยไม่รวมรายได้จากธุรกิจด้านการลงทุน

(2) อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) ซึ่งเท่ากับ ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (ซึ่งเดิม รวมค่าใช้จ่ายเงินนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่ที่ปรับใหม่คือไม่รวมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ซึ่งย้ายไปเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยดังกล่าวข้างต้น และเดิมรวมค่าธรรมเนียมจ่าย แต่ที่ปรับใหม่คือไม่รวมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่ย้ายไปหักออกจากรายได้ค่าธรรมเนียม) หารด้วย รายได้รวม (รายละเอียดการคำนวนดังกล่าวข้างต้นแสดงไว้ในภาพที่ 12 ของภาพ Power Point ประกอบการแถลงข่าว)

การเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนทางการเงินนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อฐานะและผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์แต่อย่างใด ระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีเสถียรภาพ มีกำไร และมีเงินกองทุนเพียงพอ ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสและเปรียบเทียบได้ จึงได้แสดงอัตราส่วนทางการเงินทั้งแบบเดิมและแบบใหม่ไว้ด้วย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ