คำกล่าวเปิดงาน: ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในงานมหกรรมการเงิน ครั้งที่ 11

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 18, 2011 13:25 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

คำกล่าวเปิดงาน

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในงานมหกรรมการเงิน ครั้งที่ 11

ณ ฮอลล์ชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

วันที่ 12 พฤษภาคม 2554

ท่านประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ท่านประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ท่านประธานจัดงาน มหกรรมการเงินครั้งที่ 11

ท่านผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน มหกรรมการเงินครั้งที่ 11 หรือ งาน Money Expo 2011 ที่วารสารการเงินธนาคารจัดขึ้น โดยปีนี้จัดในสถานที่ใหม่ ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ซึ่งจากการรายงานข้อมูลผู้เข้าร่วมงานทราบว่า ได้รับความนิยมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีปริมาณผู้เข้าร่วมงานมากขึ้นทุกปี เป็นงานที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลาย ทั้งด้านการให้ความรู้ทางการเงิน และสถาบันการเงินจัดเตรียมบริการทางการเงินแข่งขันกันจึงเป็นงานที่ประชาชนคาดหวังประจำปี

งานในปีนี้จัดภายใต้แนวคิด Better Money, Better Life หรือ “การเงินดี ชีวิตดี” เป็นหัวข้อที่น่าคิดสาหรับผู้ว่าการแบงก์ชาติ เมื่อเห็นหัวข้อนี้ก็ทำให้นึกถึงภารกิจของแบงก์ชาติ โดยสรุป คือ การทำนโยบายด้านเศรษฐกิจและด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงินต่างๆ โดยมีเป้าหมายสุดท้าย คือ ให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น แต่แน่นอนว่าย่อมมีคำถามถึงการทำให้ประโยคนี้เป็นจริงได้อย่างไร คำตอบในเรื่องนี้ขอยืมวิธีตอบแบบวิศวกรรมเป็น 3 ส่วน คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ต้นน้ำ คือ การเงินจะดีได้เศรษฐกิจต้องดี คือ ฐานะทางการเงินของทุกภาคส่วนเข้มแข็ง คือ ระบบเศรษฐกิจมีการออม มีการกู้ยืมและมีภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสม คือ ประชาชนมีกินมีใช้แม้ในยามวิกฤตคือ ภาคธุรกิจมีสายป่านที่ยาวพอในการทำธุรกิจของตน คือ ภาครัฐมีงบประมาณเพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจยามจำเป็น

กลางน้ำ คือ การรักษาค่าของเงิน คือ การรักษาอานาจซื้อของเงิน คือ การดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ปลายน้ำ คือ ประชาชนและภาคธุรกิจมีความรู้ทางการเงิน คือ มี Financial Literacy คือ การรู้จักใช้เงิน รู้จักบริหารความเสี่ยงทางการเงิน คือ สถาบันการเงินมีความรับผิดชอบในการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน โดยให้ข้อมูลที่โปร่งใส ตรงไปตรงมา ผมคิดว่าต้องทำให้ได้ทั้งสามส่วน ทั้งต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ จึงจะบรรลุ Better Money, Better Life

ผมขอขยายความในเรื่องการทำให้เศรษฐกิจดี ในช่วง 7 เดือนที่เข้ามาทำหน้าที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติได้มีโอกาสไปประชุมในองค์การระหว่างประเทศหลายครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเพราะสิ่งที่เกิดกับเศรษฐกิจการเงินไทยได้รับผลทั้งทางตรงและทางอ้อมจากความเปลี่ยนแปลงในต่างประเทศไม่น้อย และภาวะในต่างประเทศเวลานี้มีความเปลี่ยนแปลงผันผวนค่อนข้างรวดเร็ว จากที่ได้เข้าร่วมประชุมทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ สามารถกล่าวได้ว่า ฐานะเศรษฐกิจการเงินของไทยโดยรวมอยู่ในระดับดี อย่างน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเศรษฐกิจใหญ่ G3 คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสาเหตุสาคัญที่ทำให้เราสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุดได้ดีพอสมควร สำหรับประเทศ G3 ขณะนี้ประสบปัญหาค่อนข้างมาก สถาบันการเงินอ่อนแอ ครัวเรือนโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีการออมน้อย ภาคเอกชนก่อหนี้ระดับสูง หนี้ภาครัฐอยู่ในระดับสูงทั้งใน 3 กลุ่มประเทศ

จากการฟังการถกแถลง ความพยายามเพื่อหาสาเหตุ หาทางแก้ไขปัญหาของกลุ่มประเทศดังกล่าวทำให้เห็นความสาคัญและคิดได้ว่าความแตกต่างที่ได้กล่าวถึงนี้ไม่ใช่เรื่องความบังเอิญ ไม่ใช่เรื่องโชค การที่ภาวะเศรษฐกิจการเงินของเราเป็นอยู่ขณะนี้ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือโชค แต่เป็นผลจากการที่ฝ่ายต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ในที่นี้ ได้ช่วยกันสร้างวินัยและรากฐานทางการเงินของประเทศ นับแต่สถาบันการเงินที่พยายามเคี่ยวเข็ญภายในให้มีระบบงานที่มีประสิทธิภาพ มี governance มี risk management ภาคธุรกิจมีการปรับปรุงเทคโนโลยี พัฒนาคน ภาคครัวเรือนให้ความสนใจหาความรู้ด้านการออมและการลงทุน ภาครัฐที่พยายามสร้างวินัยการเงิน การคลังของประเทศ รวมถึงสื่อมวลชนที่เป็นส่วนสาคัญในการนำเสนอ ติติง แนะนา และเผยแพร่ให้ความรู้ในวงกว้าง เช่น วารสารการเงินธนาคารที่พยายามสร้างกิจกรรมให้ความรู้ทางการเงินมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีเรื่องที่ต้องระวัง ยังมีความท้าทายอีกมากอยู่ข้างหน้า ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ยังมีความไม่แน่นอน มีความผันผวน เมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อครั้งเกิดวิกฤตปี 2540 ขณะนั้นกลุ่มประเทศ G3 มองเราอย่างไร ขณะนี้ผ่านไป 10 ปีกลุ่มประเทศดังกล่าวกลับไปมีฐานะคล้ายกับที่ประเทศเราเคยเป็น แปลว่าภาวะเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ถ้าไม่ระมัดระวัง ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงโจทย์เรื่องความพยายามในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งประเทศเรายังต้องเร่งตามอีกหลายประเทศ จึงยังมีเรื่องที่ให้ต้องฟันฝ่าอีกมาก

ผมขอขยายความเรื่องที่ 2 คือ กลางน้ำ คือ การรักษาค่าของเงิน คือ การดูแลอัตราเงินเฟ้อของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพราะมีสาเหตุจากหลายด้าน จึงต้องใช้นโยบายหลายส่วนประกอบกัน ในส่วนของแบงก์ชาติ คือ การให้ความสำคัญกับการมีวินัยในการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะการปรับอัตราดอกเบี้ยจะกระทบการออม การกู้ยืม การจับจ่ายใช้สอยราคาสินค้าและการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต โดยมีเป้าหมาย คือ ดูแลเงินเฟ้อ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ผมขอถือโอกาสนี้ให้ข้อมูลว่าการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้กาลังเผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อรอบด้าน จากทั้งอุปสงค์ที่ขยายตัวได้ดี ภาคการผลิตที่ตึงตัวมากขึ้น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น ภาวะดังกล่าวทำให้ทิศทางนโยบายการเงินยังมีความจำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับปกติ เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบเป็นเวลานานและเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาของแบงก์ชาติ นอกจากนี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวย่อมส่งผลดีต่อผู้ออม ขณะที่ผู้กู้ต้องตระหนักถึงภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ผมขอให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความผันผวนในตลาดการเงิน ซึ่งในปีนี้จะเป็นปีที่ผันผวนไม่น้อยกว่าปีก่อนเพราะมีความไม่แน่นอนในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ตลอดจนภัยธรรมชาติที่ผันผวนและรุนแรง ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้มีความไม่แน่นอนสูง และยากที่จะประเมินหรือคาดการณ์ได้ ภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้าย ตลอดจนราคาสินทรัพย์ต่างๆ ผันผวน ทั้งภาคธุรกิจ ผู้ลงทุน และประชาชนจึงควรตระหนักถึงความเสี่ยงนี้ และบริหารจัดการกระจายความเสี่ยงทางการเงินอย่างเหมาะสม

เรื่องที่สาม คือ ปลายน้ำ ซึ่งมีความสาคัญไม่น้อย คือ ความรู้ทางการเงิน ผมเห็นว่าถึงแม้ภาวะเศรษฐกิจดี อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ค่าเงินของประเทศมีเสถียรภาพ แต่ถ้าประชาชน ครัวเรือนภาคธุรกิจ ขาดความรู้ทางการเงิน การดำเนินชีวิตหรือการทำธุรกิจก็อาจไม่ราบรื่นก็ได้ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในเรื่องนี้แบงก์ชาติให้ความสำคัญ นับเป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์ มีการจัดตั้งคณะทางานเพื่อทำโครงการต่างๆ รวมถึงร่วมมือกับส่วนงานอื่นในการสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ดังนั้น การที่งาน Money Expo จัดให้มีการเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบต่างๆ แล้ว ยังมีบริการสำคัญในการให้คำปรึกษา ให้ความรู้ทางการเงินผ่านโปรแกรมอบรม สัมมนาต่างๆ จึงเป็นโอกาสดีที่ประชาชนจะได้เพิ่มพูนความรู้ พิจารณาผลตอบแทนควบคู่ไปกับความเสี่ยง เพื่อนามาประกอบการตัดสินใจลงทุน การกู้ยืมเงินและวางแผนชีวิตด้านการเงิน ตามแนวคิด “การเงินดี ชีวิตดี” ตลอดจนสร้างความพร้อมในการบริหารทรัพย์สินของตนเองให้ทันกับสถานการณ์และเหมาะสมกับภาวะแวดล้อมที่มีความผันผวนจึงหวังว่าทุกท่านจะได้รับการบริการและความรู้ด้านการบริหารทางการเงินจากงานนี้เป็นที่พอใจ

สุดท้ายนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับวารสารการเงินธนาคาร เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี และขอถือโอกาสนี้เปิดงาน Money Expo ครั้งที่ 11 “Better Money, Better Life” อย่างเป็นทางการ ขอให้ประสบความสำเร็จตามความตั้งใจทุกประการ

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ