นายสุวัฒน์ วิเชียรศิริ
เศรษฐกรอาวุโส
สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธปท.
วิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งวิกฤต Subprime ในสหรัฐอเมริกา ปี 2551 วิกฤตต้มยำกุ้งในบ้านเรา ปี 2540 ให้บทเรียนตรงกันว่า ก่อนเกิดวิกฤตจะมีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ในลักษณะการเก็งกำไร ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง หรือที่เรียกว่า เกิดภาวะฟองสบู่ จนเมื่อฟองสบู่แตกก็ลุกลามกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน
นอกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมแล้ว นโยบายทั่วไปที่ดำเนินการคือ การกำกับดูแลไม่ให้เกิดภาวะร้อนแรงของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่สมเหตุสมผลนี้จึงเป็นโจทย์ที่ธนาคารกลางหรือผู้กำหนดนโยบาย (Policy Makers) ด้านเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
มาตรการทั่วไปที่ใช้ดูแลคือ การออกกฎเกณฑ์กำกับสถาบันการเงินในประเด็นที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อแก่ประชาชนเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ การให้สินเชื่อแก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งดูแลภาวะดอกเบี้ยที่จะส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์
มาตรการเสริมที่หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ คือ การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน ด้วยเหตุผลที่ว่าหากประชาชนมีความรู้จัดการการเงินของตนเองได้อย่างเหมาะสม ไม่ก่อหนี้สินจนเกินตัว รู้จักประเมินความเสี่ยงและเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับฐานะของตนแล้ว จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่และวิกฤตเศรษฐกิจลงได้มาก
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ในยุคปัจจุบันการมีความรู้ทางการเงินสามารถจัดการการเงินของตนเองได้อย่างเหมาะสม เป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน
การให้ความรู้ทางการเงิน ในต่างประเทศใช้คำภาษาอังกฤษว่า “Financial Literacy” บางประเทศเพิ่มคำว่า “Education” หรือ “Capability” เข้าไปด้วย ประเทศสหรัฐอเมริกาออกเป็นกฎหมายเรียกว่า Financial Literacy and Education Improvement Act ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย และอีกหลายประเทศได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยเหตุผลและความจำเป็นหลายประการ ดังนี้
1. ความหลากหลายและซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หากประชาชนไม่มีความรู้และข้อมูลเพียงพอ อาจเข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดความเสยี่ งหรือเสียสิทธิที่พึงได้ตามกฎหมาย เช่น การเข้าใจผิดว่า ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange : B/E) เป็นเงินฝากประเภทหนึ่ง ซึ่งความจริงไม่ใช่ แม้อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจะสูงกว่าเงินฝากเล็กน้อย แต่มีความเสี่ยงมากกว่า เพราะไม่ได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นต้น
2. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของบริการทางการเงิน ประชาชนที่ไม่รู้เท่าทันบริการทางการเงินที่ทันสมัย อาจถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกหลอกลวง เช่น การถูกหลอกให้โอนเงินผ่านตู้ ATM เข้าบัญชีกลุ่มมิจฉาชีพโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นต้น แนวทางแก้ไขที่ดีที่สุดเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค(Consumer Protection) ควรใช้วิธีป้องกันโดยการให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้บริโภคนั่นเอง
3. โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีการให้ความรู้ทางการเงินสร้างวินัยการออมระยะยาวเพื่อการชราภาพแล้ว ประชาชนจะมีปัญหารายได้ไม่พอยังชีพหลังเกษียณ ประเทศไทยเราเองแม้ปัจจุบันจะมีการร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ถ้าประชาชนมีการออมจนพึ่งพาตนเองได้ จะช่วยลดภาระของภาครัฐลงได้มาก
4. ประชาชนมีความรู้ทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ ข้อมูลที่ได้จากผลการสำรวจในหลายประเทศแม้แต่ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ชาวอเมริกันร้อยละ 41 มีความรู้ทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ (NFC :2554) ชาวออสเตรเลียมีเพียงร้อยละ 28 ที่สามารถคำนวณอัตราดอกเบี้ยทบต้นได้ (OECD : 2548) เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยยังไม่พบว่ามีการสำรวจที่ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ
5. การพัฒนาความรู้ทางการเงินให้กับประชาชน มีส่วนช่วยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน มีเสถียรภาพ และกระจายอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth) กล่าวคือ ประชาชนที่มีความรู้ทางการเงินจะสามารถจัดการการเงินของตนเองได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการหาเงิน การใช้จ่ายเงิน การเก็บออม การลงทุน การจัดการหนี้สิน การคุ้มครองตนเองจากการถูกหลอกลวงและความเสี่ยงภัยต่างๆ รวมทั้งการตัดสินใจเลือกใช้บริการทางการเงินจากผู้ให้บริการที่มีหลากหลาย
ความสามารถทางการเงินดังกล่าว หากกระจายไปถึงประชาชนทุกระดับ จะช่วยลดปัญหาความยากจน เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน ขยายโอกาสการลงทุนประกอบอาชีพ ลดปริมาณหนี้เสียของลูกหนี้ให้น้อยลงทำให้ระบบสถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม
ประเทศไทยของเราเองก็จำเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังที่กล่าวมาแล้วเช่นกัน นอกจากนั้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 80 (3) กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาใหส้ อดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย
การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนเป็นกระบวนการที่ต้องมีความร่วมมือกันอย่างจริงจังและเป็นระบบของทั้งภาครัฐและเอกชน จึงจะสามารถทำให้ประสบผลสำเร็จ ส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไว้ก่อนย่อมดีกว่าการรักษาโรคในภายหลังฉันใด การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนให้มีสุขภาพทางการเงินที่เข้มแข็ง เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศโดยรวม ย่อมดีกว่าการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในภายหลังฉันนั้น
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 19 -21 พฤษภาคม 2554 ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย