สุนทรพจน์: “เศรษฐกิจไทย... เอาไงกันดี”

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 26, 2011 13:22 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปาฐกถาพิเศษ

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่อง “เศรษฐกิจไทย... เอาไงกันดี”

ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2554 จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA)

ณ โรงแรมโฟร์ซีซั่น

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2554 เวลา 19.45 น.

ประธานคณะกรรมการสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยและสมาชิกสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยทุกท่าน

ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยได้เชิญผมมากล่าวปาฐกถาในค่ำคืนนี้ สำหรับหัวข้อเรื่อง “เศรษฐกิจไทย…เอาไงกันดี” ผมคิดว่าเป็นคำถามที่อยู่ในใจหลายๆ ท่าน โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศเช่นในปัจจุบัน ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทาย และควรจะมีการขบคิดอย่างจริงจัง ไม่เฉพาะสำหรับผู้ดำเนินนโยบายเท่านั้น แต่ยังเป็นโจทย์ที่ภาคเอกชนเองก็สามารถมีบทบาทสำคัญในการผลักดันทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

คำว่า “เอาไงกันดี” นั้น แสดงถึงภาวะที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับหลายทางเลือก และในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว การกระทำทุกอย่างมีค่าเสียโอกาส หรือที่เรียกว่า opportunity cost ดังนั้น พวกเราต้องรอบคอบในการเลือกแนวทางที่จะเหมาะสมที่สุด และช่วยกันผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปอย่างถูกทางและผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใดก็ตาม พวกเราต่างก็มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศเหมือนกันกล่าวคือ หนึ่ง ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจจะต้องขยายตัวในระดับสูงพอที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของประเทศสอง ความกินดีอยู่ดีนี้ต้องยั่งยืน การเติบโตทางเศรษฐกิจต้องมีเสถียรภาพยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดวิกฤต และสามความกินดีอยู่ดีนี้ต้องทั่วถึง ประชาชนต้องได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนหน้า โดยมีโอกาสการเข้าถึงทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้รุดหน้าต่อไปได้ การบรรลุทั้ง 3 เป้าหมายนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีประสิทธิภาพการผลิตที่ดีและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี ในการที่จะบรรลุเป้าหมายทั้งสามข้อข้างต้นนั้น เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับอุปสรรคที่จะต้องก้าวข้ามไปให้ได้ก่อน ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองแล้ว ประเด็นที่ผมอยากจะหยิบยกในวันนี้ เพื่อที่ทุกท่านจะได้ลองขบคิดกันต่อไป มี 3 ประการ กล่าวคือ (1) ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน (2) ปัญหาด้านพลังงานและการพัฒนาระบบขนส่ง และ (3) การใช้จ่ายภาครัฐที่ให้น้ำหนักต่อการอุปโภคบริโภคมากขึ้น ทำให้การลงทุนของประเทศยังไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้มากเท่าที่ควร ทั้ง 3 สถานการณ์นี้ กำลังเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่จะกำหนดแนวทางในการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ภายใต้สภาพแวดล้อมการแข่งขันในเวทีโลกที่สูงขึ้นมาก

ประเด็นแรก ทรัพยากรด้านแรงงานที่ขาดแคลนจะเป็นข้อจำกัดในการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเศรษฐกิจที่มีลักษณะของการพึ่งพาแรงงานสูง (labor intensive) ขณะที่ปัจจัยทุนหรือพวกเครื่องจักรยังคงขยายตัวต่ำ เป็นเหตุให้การจ้างงานต้องขยายตัวเพื่อตอบสนองการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากกำลังแรงงานของไทยขยายตัวช้ากว่าการจ้างงาน จึงส่งผลให้อัตราการว่างงานโน้มต่ำลงเหลือเพียงร้อยละ 0.7 ในเดือนมีนาคม 2554 และเห็นการขาดแคลนแรงงานในทุกระดับ ทั้งแรงงานทักษะสูงและแรงงานทักษะต่ำ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน เศรษฐกิจไทยต้องเลือกผลักดันระหว่าง 2 แนวทางคือ (1) เพิ่มปริมาณแรงงานโดยการใช้แรงงานต่างด้าว หรือ (2) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน (labor productivity) ซึ่งสามารถทำได้จากทั้งการเพิ่มคุณภาพแรงงาน และการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์

สำหรับแนวทางการใช้แรงงานต่างด้าวนั้น น่าจะเป็นแนวทางที่ทำได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะหากภาครัฐมีนโยบายที่จะส่งเสริม โดยผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องปรับตัวมาก แต่จะทำให้เศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาแรงงานในการผลิตเช่นเคย แนวทางนี้จึงไม่ส่งผลดีในระยะยาว ซึ่งขัดกับ 3 เป้าหมายที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้ากล่าวคือ (1) แรงงานต่างด้าวมีทักษะต่ำ ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน และอาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลง (2) ในด้านเสถียรภาพ แรงงานต่างด้าวอาจสร้างปัญหาด้านสังคมและด้านสุขอนามัย (3) แรงงานต่างด้าวจะซ้ำเติมปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ เนื่องจากอุปทานแรงงานต่างด้าวที่เพิ่มขึ้นจะทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานในระดับล่างเพิ่มขึ้นช้ากว่าค่าจ้างแรงงานในระดับบน นอกจากนี้ แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่จะส่งรายได้ส่วนหนึ่งคืนกลับประเทศ ทำให้การบริโภคในประเทศไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการสร้างสมดุลระหว่างการพึ่งพาภาคส่งออกและภาคเศรษฐกิจในประเทศ จะเห็นได้ว่าแนวทางนี้เป็นทางออกที่ดูเหมือนจะง่าย แต่ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ดังนั้น แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานจึงเป็นแนวทางที่ดีกว่า เนื่องจากเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตของประเทศ โดยไม่สร้างปัญหาด้านเสถียรภาพ ตลอดจนลดปัญหาด้านการกระจายรายได้จากการที่แรงงานระดับล่างได้รับค่าจ้างสูงขึ้นตามประสิทธิภาพแรงงานที่มีมากขึ้น

ทุกภาคส่วนสามารถผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานได้ ภาคธุรกิจสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานได้โดยตรง โดยการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะของแรงงานซึ่งจะเสริมสร้างให้เกิดนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ให้กับสินค้า ในขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานได้ทางอ้อม ด้วยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น แนวทางดังกล่าว จะส่งผลให้ภาคธุรกิจสามารถลดต้นทุนและแข่งขันได้ในระยะยาว เช่นเดียวกับภาครัฐที่ต้องส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยการยกระดับคุณภาพการศึกษาและสร้างแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีความต้องการแรงงานสายอาชีพมากขึ้น ผมเชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกัน จะสามารถยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานได้แม้ต้องใช้เวลา โดยเฉพาะภาวะปัจจุบันที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่านั้น เป็นปัจจัยเอื้อต่อการนำเข้าเพื่อลงทุน ซึ่งจะเป็นแรงผลักให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่พึ่งพาสินค้าทุนมากขึ้น (capital intensive)

ประเด็นที่สอง เศรษฐกิจโลกรวมทั้งเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านพลังงาน จากการที่ทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงาน เช่น น้ำมันและก๊าซ มีจำกัด ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาน้ำมันสูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน โดยมีเหตุผลสำคัญมาจากโครงสร้างการขนส่งที่พึ่งพาน้ำมันสูง ปัจจุบันการขนส่งสินค้าในประเทศยังใช้เส้นทางถนนถึงร้อยละ 83 ทำให้ไทยมีต้นทุนโลจิสติกส์สูงถึงร้อยละ 16.8 ของ GDP ในปี 2552 หรือคิดเป็น 2 เท่าของสหรัฐอเมริกา ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในด้านความสามารถในการแข่งขัน เพราะมีต้นทุนด้านการขนส่งที่สูง ขณะที่เสถียรภาพด้านราคาก็จะอ่อนไหวต่อราคาน้ำมันที่นับวันมีแต่จะผันผวนมากขึ้น

แน่นอนครับว่าการตรึงราคาน้ำมันไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืนภายใต้สภาวะแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะนอกจากจะสร้างภาระแก่ภาครัฐในการอุดหนุนแล้ว ยังไม่เอื้อให้ภาคเอกชนปรับตัวให้เข้ากับต้นทุนราคาน้ำมันแท้จริงที่สูงขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยต้องปรับตัวโดยการลดการพึ่งพาน้ำมัน ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ต้นทุนการผลิตอ่อนไหวต่อราคาน้ำมันอีกด้วย และแนวทางการลดการพึ่งพาน้ำมันโดยเฉพาะในด้านขนส่งคงหนีไม่พ้นสองแนวทาง คือ (1) การใช้น้ำมันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ (2) การหันมาใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ ซึ่งเป็นโจทย์ที่พวกเราต้องวางแผนทำผสมผสานกันไปเนื่องจากมีความเชื่อมโยงกัน

สำหรับแนวทางแรกนั้น หมายถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้สิ่งที่มีอยู่เดิมอย่างน้ำมันให้ดีขึ้นรวมถึงการใช้ก๊าซธรรมชาติและเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) เช่น การใช้น้ำมันปาล์มและเอทานอล มาเป็นเชื้อเพลิงเสริมกับน้ำมัน ซึ่งผมคิดว่าประเทศไทยเรายังขาดการปลูกฝังค่านิยมในการช่วยกันประหยัดพลังงานและขาดการสนับสนุนพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังหมายถึงการพัฒนาระบบขนส่งอื่นๆ นอกจากทางถนน เช่น ระบบรถไฟรางคู่ ที่แม้จะพึ่งพาน้ำมันดีเซลแต่ยังมีประสิทธิภาพดีกว่า เนื่องจากมีต้นทุนการขนส่งถูกกว่าทางถนนประมาณ 0.6 เท่า*(1) หากประเทศไทยมีเครือข่ายระบบรางที่ครบวงจรดังที่เห็นในประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากจะลดการพึ่งพาน้ำมันได้ ยังจะทำให้ประชาชนทั้งในเมืองและชนบทมีโอกาสเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งกันถ้วนหน้า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จึงมีปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำน้อยกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา

สำหรับแนวทางที่สอง เน้นส่งเสริมพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น พลังงานหมุนเวียนจากน้ำ ลมแสงอาทิตย์หรือชีวมวล และพลังงานนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม พลังงานเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถนำมาใช้ได้โดยตรง ต้องแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าก่อน แนวทางนี้จึงเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตโดยน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติมาทดแทนการใช้น้ำมัน เช่น การมีเครือข่ายรถไฟฟ้าระบบรางแทนระบบรางที่ใช้น้ำมัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้จะเผชิญกับปัญหาการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าในปริมาณสูง จึงเกิดคำถามถึงแหล่งที่มาของพลังงานไฟฟ้าว่าจะสามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่

ปัจจุบัน การผลิตไฟฟ้าของไทยที่ไม่ได้มาจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มีสัดส่วนที่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ทั้งนี้ พลังงานหมุนเวียน เช่น น้ำ ลม แสงอาทิตย์หรือชีวมวลนั้น แม้จะมีศักยภาพในการพัฒนาสำหรับอนาคตก็ตาม แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ถูก ในปริมาณที่เพียงพอและแน่นอน หากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวไม่สามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อความต้องการได้ จะเหลือเพียงพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเป็นพลังงานที่มีต้นทุนผันแปรในการผลิตต่ำที่สุด ณ ปัจจุบัน สำหรับประเทศพัฒนาแล้วที่มีระบบเครือข่ายรถไฟฟ้าอย่าง เยอรมนี ญี่ปุ่น หรือฝรั่งเศส ต่างก็พึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ในระดับสูงเช่นกัน โดยเยอรมนีพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ประมาณ 1 ใน 4 ขณะที่ญี่ปุ่นพึ่งพาถึง 1 ใน 3 และฝรั่งเศสพึ่งพาพลังงานดังกล่าวสูงที่สุดในโลกถึงเกือบร้อยละ 80

ดังนั้น สำหรับแนวทางนี้ โจทย์สำคัญที่ประเทศไทยต้องตอบคือจะเลือกใช้พลังงานนิวเคลียร์หรือไม่เพราะในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้วไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมใด พลังงานนิวเคลียร์ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่ถูกที่สุด อย่างไรก็ตาม พลังงานนิวเคลียร์นั้นอาจสร้างปัญหาด้านเสถียรภาพ เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสูงเฉกเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น และคาดว่าภาคประชาชนยังมีความกังวลต่อความปลอดภัยดังกล่าว จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ประเทศไทยต้องคำนึงอย่างรอบคอบ โดยทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไปอย่างถูกทาง หากพลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่ทางเลือกแล้ว ก็จำเป็นต้องตัดสินใจแต่เนิ่นๆ เพื่อมุ่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพเพียงพอได้

โดยสรุปแล้ว การลดการพึ่งพาน้ำมันในด้านการขนส่งต้องทำทั้งสองแนวทาง เนื่องจากท้ายที่สุดแล้วทรัพยากรน้ำมันมีจำกัด ขณะที่การหาพลังงานทดแทนจำเป็นต้องใช้เวลา และในบางเรื่องมีความซับซ้อนเชื่อมโยงกัน ดังตัวอย่างเรื่องการขนส่งระบบรางที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แต่จะเลือกใช้ระบบรางที่ใช้น้ำมันหรือไฟฟ้า และหากใช้ไฟฟ้าจะใช้จากแหล่งใด ดังนั้น แนวทางทั้งสองจึงต้องมีการเตรียมตัววางแผนให้สอดคล้องและดำเนินการไปพร้อมๆ กันตั้งแต่วันนี้

สำหรับประเด็นสุดท้าย คือ เรื่องการจัดสรรงบประมาณการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งจะกระทบต่อแนวการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป ซึ่งจากวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป ก็ทำให้หลายฝ่ายหันมาให้ความใส่ใจกับการใช้จ่ายและฐานะของรัฐบาลกันมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย สัดส่วนงบประมาณการลงทุนภาครัฐโน้มต่ำลงมาโดยตลอด จากที่เคยสูงถึงร้อยละ 41 ของงบประมาณในปี 2540 เหลือเพียงร้อยละ 18*(2) ในปีงบประมาณ 2553 และมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระยะหลังที่มีนโยบายให้สิทธิในการศึกษาและสาธารณสุขมากขึ้น สัดส่วนประชากรสูงอายุก็มากขึ้น ตลอดจนการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ งบผูกพันภาครัฐในส่วนนี้ก็ย่อมจะต้องสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว และในสถานการณ์ที่พรรคการเมืองต่างๆ มุ่งเน้นนโยบายในลักษณะประชานิยม ปัจจัยเปล่านี้ย่อมไปเบียดเบียนงบประมาณที่จะนำไปใช้ลงทุน แนวโน้มดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกเนื่องจากการบัญญัติเรื่องสิทธิต่างๆ ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ตลอดจนเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองได้กระตุ้นให้รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และมีการพูดถึงรัฐสวัสดิการ (welfare state) มากขึ้น ซึ่งแม้จะสามารถบรรเทาปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำได้ แต่ในระยะยาวอาจก่อปัญหาด้านประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากการลงทุนภาครัฐอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างระบบรางที่ได้กล่าวมาข้างต้น ตลอดจนไม่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนด้วย หรือที่เรียกว่า crowding-in effect นอกจากปัญหาด้านประสิทธิภาพการผลิตแล้ว ภาระผูกพันที่สูงยังอาจก่อให้เกิดปัญหาความยั่งยืนทางการคลังด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่ภาครัฐไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้สอดคล้องกับรายจ่ายได้ ดังนั้น รัฐบาลต้องตระหนักถึงข้อจำกัดในการใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาประเทศ โดยสร้างสมดุลในการใช้งบประมาณ และไม่ควรละเลยการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้ ภาครัฐควรเร่งทำตามเกณฑ์ที่ได้ตั้งกรอบไว้คือ ให้มีการลงทุนภาครัฐไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของงบประมาณ และส่งเสริมการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดข้อจำกัดด้านงบประมาณ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีการลงทุนมากขึ้น ถือเป็นสถานการณ์ win-win ทั้งสองฝ่าย และยังจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยให้แข่งขันกับนานาประเทศได้ดีขึ้นด้วย

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ที่ได้กล่าวมาในวันนี้ทั้ง 3 ประเด็น คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรแรงงาน ทรัพยากรด้านพลังงานและการบริหารจัดการการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาประเทศ และได้พิจารณาบนพื้นฐานของเป้าหมายร่วมทั้ง 3 เป้าหมาย คือ ความกินดีอยู่ดีที่ยั่งยืนและทั่วถึง ในทั้ง 3 ประเด็นนี้ มีทั้งทางเลือกระยะสั้นและระยะยาว บางเรื่องภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ และในบางเรื่องภาคธุรกิจก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน การแก้ปัญหาต่างๆ นั้นต้องจัดการที่ต้นเหตุ และย่อมเผชิญกับอุปสรรคที่ทุกฝ่ายต้องอดทน ปรับตัว กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงแม้จะลำบากในระยะสั้น เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติในระยะยาว ผมเชื่อว่า ด้วยเป้าหมายเดียวกันนี้ เมื่อทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน ให้ข้อคิดเห็น ประสานงาน และผลักดันทางเลือกที่เหมาะสมอย่างรอบคอบ จะสามารถนำพาประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในเวทีโลกต่อไป

*(1) จากการศึกษาของกระทรวงคมนาคม ในรายงานเรื่อง “การศึกษาเพื่อเสนอนโยบาย แนวทางและมาตรการ ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งตู้สินค้าระหว่าง ICD ลาดกระบังกับท่าเรือแหลมฉบัง จากการขนส่งทางถนนสู่การขนส่งทางราง ในช่วงปี พ.ศ. 2554-2556” หน้า 116

*(2) รวมเงินกู้ไทยเข้มแข็ง

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ