แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนเมษายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 1, 2011 16:45 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 18/2554

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนเมษายน 2554 ขยายตัวในอัตราชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภัยพิบัติในญี่ปุ่นที่ทำให้การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์หดตัวจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าโดยรวมและอุปสงค์ ในประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งรายได้เกษตรกรและการจ้างงานที่อยู่ในระดับสูง

เสถียรภาพเศรษฐกิจมีแรงกดดันด้านราคาเพิ่มขึ้นทั้งจากการทยอยส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและอุปสงค์ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ลดลงร้อยละ 7.8 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนส่วนหนึ่งเป็นผลจากภัยพิบัติในญี่ปุ่นที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการหดตัวของการผลิตในหมวด Hard Disk Drive จากสินค้าคงคลังในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับสูง และการหดตัวของการผลิตในหมวดเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ เนื่องจากลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อ เพื่อรอดูสถานการณ์ราคาวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม การผลิตในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ยังคงขยายตัวดี

อุปสงค์ต่างประเทศ ภาพรวมของการส่งออกสินค้ายังขยายตัวดีแม้การส่งออกหมวดยานยนต์จะหดตัว โดยการส่งออกมีมูลค่ารวม 17,243 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 24.7 เป็นการขยายตัวทั้งด้านปริมาณและราคา ปริมาณการส่งออกขยายตัวตามอุปสงค์ในตลาดโลก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรจากการส่งออกข้าวและยางพาราและกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมตามการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ด้านราคาส่งออกเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง อาทิ ยางพารา น้ำตาล รวมทั้งราคาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับสูงขึ้นจากความกังวลว่าวัตถุดิบจะขาดแคลนสืบเนื่องจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น สำหรับการท่องเที่ยวขยายตัวดี โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมีจำนวน 1.5 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 35.9 เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและยุโรปเป็นสำคัญ ขณะที่ภัยพิบัติในญี่ปุ่นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 24.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน อัตราการเข้าพักโรงแรมโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 55.1 สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 46.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนเนื่องจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง

อุปสงค์ในประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัวร้อยละ 4.5 ชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากปริมาณการจำหน่ายยานยนต์ขยายตัวชะลอลงส่วนหนึ่งเพราะการผลิตรถยนต์ในประเทศได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น ส่วนปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนหดตัวเป็นผลจากอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนนี้ที่ต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่และปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงยังขยายตัวในเกณฑ์ดี ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ขยายตัวร้อยละ 12.8 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามการชะลอตัวของการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนที่ชะลอลงหลังจากเร่งขึ้นมากในเดือนก่อนจากการนำเข้าแท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีมูลค่าสูง รวมทั้งปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงตามการผลิตรถยนต์ที่ลดลงจากผลของภัยพิบัติในญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามวิสัยทัศน์ เป็นองค์กรที่มองการณ์ไกล พนักงานมีความสามารถสูงและอุทิศตนเพื่อดูแลเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นความผันผวนได้อย่างราบรื่น

การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวจากเดือนก่อน โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลปรับตัวสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและการลงทุนเพื่อการพาณิชยกรรมในเขตกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ยังขยายตัวจากโครงการก่อสร้างในภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ สำหรับภาครัฐยังคงมีการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนนี้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 5.5 พันล้านบาท

อุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นผลจากปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งรายได้เกษตรกรและการจ้างงานที่อยู่ในระดับสูง โดยรายได้เกษตรกรขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 62.9 จากทั้งด้านผลผลิตและด้านราคา ผลผลิตเกษตรขยายตัวสูงถึงร้อยละ 33.2 ตามผลผลิตข้าวนาปรังที่เก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าฤดูปกติจากการเพาะปลูกเร็วขึ้นหลังจากอุทกภัยในปลายปีก่อนคลี่คลายลง ประกอบกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 22.3 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนตามราคายางพาราเป็นสำคัญ เนื่องจากอุปสงค์ ต่างประเทศที่ขยายตัวและปริมาณสต็อกที่ลดลงในฤดูผลัดใบ ด้านการจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม ส่งผลให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7

อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัว ส่งผลให้การนำเข้ามีมูลค่ารวม 17,720 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 26.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าในทุกหมวดสินค้า ยกเว้นการนำเข้าในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนที่ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนค่อนข้างมากเป็นผลสืบเนื่องจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น

สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 15.3 เป็นการขยายตัวของทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนและสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนเงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (รวมตั๋วแลกเงิน) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.1 จากการเร่งระดมเงินฝาก เพื่อรองรับความต้องการสินเชื่อภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นและบริหารต้นทุนดอกเบี้ยในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ แรงกดดันด้านราคายังคงเพิ่มขึ้นทั้งจากการทยอยส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและอุปสงค์ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 4.04 และ 2.07 ตามลำดับ เร่งขึ้นจากเดือนก่อนจากการปรับราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน ซึ่งมีการส่งผ่านยังเครื่องประกอบอาหารและอาหารสำเร็จรูป สำหรับเสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลการชำระเงินยังคงเกินดุลและเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ