ฉบับที่ 19/2554
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อรวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไปเพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
เศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกชะลอลงเล็กน้อย แต่ในภาพรวมยังมีแรงส่งต่อเนื่อง เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณว่าการบริโภคได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เศรษฐกิจยุโรปคาดว่าจะยังขยายตัวได้ แต่มีความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สาธารณะที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างชัดเจน และอาจมีผลต่อแรงส่งในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอลงมากกว่าที่คาดจากผลของภัยพิบัติ แต่มีความชัดเจนขึ้นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียขยายตัวได้ดีจากอุปสงค์ในประเทศและการส่งออกที่ยังดีต่อเนื่อง แต่ความเสี่ยงต่อแรงกดดันด้านราคาของเศรษฐกิจโลกยังคงมีอยู่ในระยะต่อไป
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2554 ยังขยายตัวได้ดี จากปัจจัยสนับสนุนด้านการผลิตสินค้าเกษตร และการส่งออกขยายตัวสูง ข้อมูลล่าสุดในเดือนเมษายนสะท้อนว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ตามภาวะการจ้างงานที่ยังดีต่อเนื่อง รายได้เกษตรกรและเม็ดเงินจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังอยู่ในระดับสูงแม้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมชะลอลงบ้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบที่เป็นผลจากภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า การผลิตน่าจะฟื้นตัวได้เร็ว คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ยังคงเป็นแรงส่งสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องในปี 2554
แรงกดดันด้านราคาเร่งขึ้นมากกว่าที่คาดตามการปรับราคาในหมวดอาหารสำเร็จรูปตามต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ยังทยอยปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ ภายใต้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับสูง อุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวดีต่อเนื่องจะยังคงเอื้อให้มีการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นมายังราคาสินค้าโดยทั่วไป ทำให้มีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวต่อเนื่อง และอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานออกนอกกรอบเป้าหมายได้
ภายใต้ภาวการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการฯ เห็นว่า ต้องดูแลไม่ให้เงินเฟ้อคาดการณ์เร่งขึ้นมากจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.75 เป็นร้อยละ 3.0 ต่อปี โดยให้มีผลทันที และจะติดตามแนวโน้มแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสม
ข้อมูลเพิ่มเติม : ทีมกลยุทธ์นโยบายการเงิน 1 โทร: 0-2283-5621, 0-2283-6186
e-mail: MonetaryPolicyStrategyTeam@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย