นายปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล
เศรษฐกร
ทีมนโยบายเศรษฐกิจด้านอุปทาน
สายนโยบายการเงิน
ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่เรายังได้เห็นข่าวทำนองว่า ปีนี้เป็น “ปีทองของเกษตรกรไทย” “ราคาสินค้าเกษตรพุ่ง” “สินค้าเกษตรขึ้นยกแผง” เป็นที่ชัดเจนว่า สินค้าเกษตรโดยรวมในปีนขี้ ยได้ราคาดี เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น แต่เกษตรกรเลือกทำอะไรกับรายได้ที่มี ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะชี้วัดว่า เกษตรกรไทยเข้มแข็งขึ้นหรืออ่อนแอลง...
ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดได้เพิ่มสูงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปี 2552 เป็นต้นมา จนถึงปีนี้ราคาก็ยังเพิ่มสูงขึ้นอีก จากสาเหตุสำคัญหลายประการ คือ 1) ความต้องการสินค้าเกษตรจากจีนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบป้อนให้กับอุตสาหกรรมการผลิตที่เติบโตเร็ว 2) สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ภัยแล้งในปี 2552/53 ต่อด้วยน้ำท่วมรุนแรงในไทยเมื่อปลายปีก่อน ภัยแล้งในรัสเซียและน้ำท่วมที่ปากีสถาน ล้วนส่งผลให้ผลผลิตเกษตรในตลาดโลกลดลง 3) โรคระบาดและแมลงทำลายพืชผล แม้ว่าไม่มีผลในวงกว้างต่อพืชหลายชนิดเหมือนภัยธรรมชาติ แต่เป็นปัญหาที่ยื้ดเยื้อยาวนานและได้สร้างความเสียหายหนักต่อผลผลิตกุ้งในอินโดนีเซียและผลผลิตมันสำปะหลังในไทย 4) ราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทดแทนจากพืชเพิ่มขึ้น
นอกจากราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่เร่งสูงขึ้นแล้ว ภาครัฐก็มี “โครงการประกันรายได้เกษตรกร” ที่เข้ามาช่วยเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาผู้ปลูกข้าวซึ่งได้รับราคาไม่สูงขึ้นเหมือนราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ โดยให้เงินชดเชยเข้ากระเป๋าครัวเรือนเกษตรกรโดยตรงหากราคาต่ำกว่าราคาประกันของภาครัฐ ซึ่งในฤดูนาปี 53/54 ภาครัฐได้โอนเงินให้ครัวเรือนชาวนาประมาณ 6 แสนราย รวมเป็นเงินกว่า 2 หมื่น 4 พันล้านบาท เฉลี่ยต่อรายเป็นเงิน 4 หมื่นบาท และในฤดูนาปรังปีนี้ ภาครัฐได้ให้เงินช่วยเหลือแก่ชาวนา 8 แสนราย เฉลี่ยต่อรายเป็นเงิน 2 หมื่น 5 พันบาท จำนวนนี้เป็นรายได้ที่เพิ่มเติมจากการขายข้าวเปลือกตามกลไกตลาดปกติ จึงทำให้เกษตรกรไทยโดยภาพรวมในช่วง 2 ปีนี้มีรายได้ดีกันถ้วนหน้า พอจะเรียกได้ว่าเป็น “ปีทองของเกษตรกรไทย”
เมื่อเกษตรกรมีรายได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้นมาระยะหนึ่ง ประกอบกับมีความไว้วางใจว่า ภาครัฐจะเข้ามาดูแลหากราคาสินค้ากลับมาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรไทยมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายเกี่ยวกับปัจจัย 4 และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่ก่อให้เกิดรายได โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์และรถกระบะที่มียอดจดทะเบียนในส่วนภูมิภาคเร่งสูงขึ้นอย่างชัดเจนต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2553 ขณะเดียวกัน หนี้สินของเกษตรกรก็เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลหากรายได้ที่สูงขึ้นไม่ได้ช่วยลดภาระหนี้ของเกษตรกร แต่กลับจูงใจให้สร้างหนี้มากขึ้น โดยคาดว่าจะมีรายได้ในอนาคตมากพอที่จะใช้หนี้ได้
ปกติการผ่อนรถจักรยานยนต์ใช้เวลาประมาณ 2 ปี และการผ่อนรถยนต์ใช้เวลานานประมาณ 4-5 ปี ซึ่งเป็นภาระผูกพันค่อนข้างนาน ซึ่งคงต้องหวังว่า เกษตรกรไทยจะมีรายได้ดีต่อไปอีกหลายป เพื่อให้สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ แตในความเป็นจริง ราคาสินค้าเกษตรมีวัฏจักรที่สั้นกว่าระยะการผ่อนคืนรถมาก เช่น วัฏจักรของราคายางพารามีรอบการขึ้นลง 1 รอบเฉลี่ยประมาณ 1 ปี 8 เดือน และเหวี่ยงรุนแรงมากขึ้นในระยะหลัง โดยราคาในเดือนกรกฎาคมปี 2548 เร่งสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท ก่อนกลับลงมาต่ำสุดที่กิโลกรัมละ 34 บาทภายใน 5 เดือน สำหรับข้าวและมันสำปะหลังมีวัฏจักรอยู่ประมาณ 2 ปีครึ่งและ 3 ปี ตามลำดับ
นอกจากนี้ อาชีพเกษตรกรยังมีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตรส่วนใหญ่มีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ 4 ประการ คือ 1) ผลผลิตเกษตรจะดีไม่ดีขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศเป็นสำคัญซึ่งนอกจากเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้แล้วยังคาดการณ์ได้ยากอีกด้วย 2) การผลิตใช้เวลานานกว่าจะให้ผลผลิตและรายได้ ตัวอย่างเช่น การปลูกข้าวใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนกว่าจะให้ผลผลิต ในขณะที่การผลิตรถยนต์ใช้เวลาเพียง 1-2 วันเท่านั้นในการนำชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบขึ้นเป็นคัน เกษตรกรจึงไม่มีรายรับที่จะนำมาหมุนเวียนใช้จ่ายปัจจัยการผลิตต่างๆ 3) ผลผลิตเน่าเสียได้ ประกอบกับ 4) ผลผลิตออกมากในคราวเดียวกันตามฤดูกาล ทำให้ไม่สามารถเก็บรักษาสินค้าเพื่อรอจำหน่ายในช่วงราคาดีได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการสูญเสียอำนาจในการต่อรองด้านราคาอีกด้วย
จากความเสี่ยงดังกล่าว เกษตรกรจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยง และสร้างโอกาสให้กับตนเอง โดยวิธีทงี่ ยที่สุด คือ การนำรายได้ในส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้มาชำระภาระหนี้สินต่างๆ และออมเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับจัดหาปัจจัยการผลิต อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจไม่เพียงพอหากเกษตรกรยังไม่มีวิธีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ดังนั้น เกษตรกรจึงควรเสริมสร้างความรู้ในการบริหารความเสี่ยง เพิ่มผลิตภาพ และลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนลงทุนทดลองนำความรู้ต่างๆ มาใช้ให้เกิดผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น ภูมิปัญญาไทย “1 ไร่ 1 แสน” ที่นำระบบนิเวศกลับสู่พื้นที่เกษตร โดยการทำนาปลูกพืชเสริมและเลี้ยงสัตว์ไปพร้อมๆ กัน และมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารสัตว์และปุ๋ยได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นการช่วยฟื้นฟูสภาพดินและน้ำทำให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรในพื้นที่เดิมได้อย่างยั่งยืน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้การปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิดเป็นวิธีการกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาอีกด้วย
สุดท้ายนี้ หากเรายังพลอยยินดีแต่เพียงแค่เห็นเกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น มีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จนมองข้ามความเสี่ยงมากมายที่เกษตรกรไทยกำลังเผชิญอยู่และจะต้องเผชิญมากยิ่งขึ้นต่อไปในวันหน้า ทำให้ละเลยความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพ ก็เท่ากับว่า รายได้ที่สูงขึ้นนี้เป็นเสมือนลมที่พัดผ่านมาพอให้รู้สึกเย็นเพียงชั่วคราวแล้วก็ผ่านไปเท่านั้น ทิ้งให้เกษตรกรไทยย่ำเท้าอยู่กับที่ต่อไป
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย