แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 1, 2011 10:53 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 28/2554

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน 2554 ขยายตัวจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับด้านการผลิตปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะการผลิตและการส่งออกยานยนต์ที่ดีขึ้นหลังจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนจากผลของภัยพิบัติในญี่ปุ่นคลี่คลายลงเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงจากการทยอยส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงที่อุปสงค์ขยายตัวต่อเนื่อง และจากการคาดการณ์เงินเฟ้อที่อาจสูงขึ้นจากการคาดการณ์แผนการใช้จ่ายของภาครัฐในอนาคตรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

ภาคการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.3 จากระยะเดียวกันปีก่อนหลังจากหดตัวต่อเนื่องมา 4 เดือน โดยการผลิตปรับตัวดีขึ้นในหลายหมวดอุตสาหกรรม ที่สำคัญได้แก่ การผลิตในหมวดยานยนต์ปรับดีขึ้นหลังจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนคลี่คลายลงเป็นลำดับตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2554 การผลิตในหมวด Hard Disk Drive ขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 หลังจากระดับสินค้าคงคลังลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ การผลิตในหมวดอื่นๆ ยังคงขยายตัวตามการขยายตัวของอุปสงค์จากทั้งในและต่างประเทศ ยกเว้นการผลิตในหมวดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ยังคงหดตัวจากสถานการณ์ราคาฝ้ายที่ยังผันผวนส่งผลให้ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อ สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามผลผลิตข้าวที่ลดลงจากการรณรงค์ให้เกษตรกรงดทำนาปรังรอบ 2 ตั้งแต่ต้นปี และผลผลิตยางพาราที่ลดลงเนื่องจากกรีดยางได้น้อยจากฝนที่ตกต่อเนื่องในภาคใต้ ด้านราคาสินค้าเกษตร แม้จะทรงตัวในระดับสูงแต่การขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากปริมาณสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดมากขึ้น รวมทั้งยางพาราที่ปัญหาอุปทานตึงตัวในตลาดโลกเริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวชะลอลงจากช่วงก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 3.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน

อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่องทั้งการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว โดยการส่งออกมีมูลค่ารวม 20,816 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 16.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวในทุกกลุ่มสินค้า โดยกลุ่มสินค้าเกษตรการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุปทานในตลาดโลกลดลงและความต้องการจากจีนเพิ่มขึ้นเพราะผลผลิตในจีนได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และการส่งออกยางพาราเพิ่มขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของการผลิตยานยนต์ทั่วโลก ส่วนการส่งออกในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางพารา ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมทั้งการส่งออกยานยนต์เริ่มกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในช่วงสองเดือนก่อนหน้า สำหรับการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมีจำนวน 1.5 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 54.4 เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาคโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย และอินเดีย ประกอบกับส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานปีก่อนที่ยังได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง

อุปสงค์ในประเทศขยายตัวจากการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวในเกือบทุกองค์ประกอบ ที่สำคัญได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่และปริมาณการใช้เชื้อเพลิง รวมทั้งปริมาณการจำ หน่ายยานยนต์ปรับดีขึ้นหลังจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนวิสัยทัศน์ เป็นองค์กรที่มองการณ์ไกล พนักงานมีความสามารถสูงและอุทิศตนเพื่อดูแลเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นความผันผวนได้อย่างราบรื่นยานยนต์ได้คลี่คลายลง ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการบริโภคยังคงเป็นการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ขยายตัวร้อยละ 7.4 จากระยะเดียวกันปีก่อนชะลอลงจากเดือนก่อนตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนที่ชะลอลงหลังจากเร่งนำเข้าไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างขยายตัวตามพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลที่เพิ่มขึ้นจากโครงการลงทุนเพื่อที่อยู่อาศัยและการพาณิชยกรรม ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนที่สำคัญได้แก่ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่อยู่สูงกว่าระดับ 50 และสินเชื่อภาคธุรกิจที่เร่งขึ้นมาก สำหรับภาครัฐยังคงใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รายได้นำส่งสูงกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บได้สูงกว่าที่คาดไว้จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้รัฐบาลเกินดุลเงินสด 178.7 พันล้านบาท

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัว ส่งผลให้การนำเข้ามีมูลค่ารวม 18,931 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 23.5 โดยเฉพาะการนำเข้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ทั้งนี้ มูลค่านำเข้าหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนเริ่มกลับมาอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงปกติก่อนได้รับผลกระทบภัยพิบัติในญี่ปุ่นแล้ว

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงจากการทยอยส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงที่อุปสงค์ขยายตัวต่อเนื่อง และจากการคาดการณ์เงินเฟ้อที่อาจสูงขึ้นจากการคาดการณ์แผนการใช้จ่ายของภาครัฐในอนาคต โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 4.06 และ 2.55 ตามลำดับ สำหรับเสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง

ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 ขยายตัวจากแรงขับเคลื่อนของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงหลังจากที่เร่งลงทุนไปมากในช่วงก่อนหน้า ส่วนการผลิตชะลอตัวลง โดยผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวชะลอลงจากการรณรงค์ให้เกษตรกรงดเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ประกอบกับมีการเร่งเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบแรกและเก็บเกี่ยวไปแล้วในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวตามการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากผลของภัยพิบัติในญี่ปุ่น และหมวดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อจากราคาฝ้ายที่ผันผวน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ