สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนมิถุนายน ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 2, 2011 17:05 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 12/2554

เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนมิถุนายน

เศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมขยายตัวต่อเนื่อง ตามการอุปโภคบริโภคจากรายได้การท่องเที่ยวและรายได้ภาคเกษตรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีจากราคายางและปาล์มน้ำมัน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่า การผลิตภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมลดลง เนื่องจากอุปสงค์ ในต่างประเทศที่ชะลอตัวจากปัจจัยต้นทุน และราคาที่สูง ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ภาคการผลิต ผลผลิตภาคการเกษตรลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.8 ตามผลผลิตยางพาราเป็นสำคัญ เนื่องจาก ฝนตกหนักส่งผลให้กรีดยางได้น้อยลง ขณะที่ ผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น ด้านอุปสงค์ต่างประเทศมีต่อเนื่อง แม้ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ดัชนีราคาพืชผลยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0 โดยราคายางและปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 และ 39.7 ส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0 จากเดือนเดียวกันปีก่อน ด้านผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องร้อยละ 10.1 จากที่ลดลงร้อยละ 2.0 ในเดือนก่อน ตามการลดลงของผลผลิตยางพาราแปรรูป ถุงมือยางอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง และไม้ยางพาราแปรรูป เนื่องจาก การสั่งซื้อจาก จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่เป็นตลาดหลักชะลอตัวจากต้นทุนวัตถุดิบ และราคาสูง แต่อย่างไรก็ตามการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ และดีบุก เพิ่มขึ้น

ภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 40.9 ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจเอเชียขยายตัวดี และการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักท่องเที่ยวแถบเอเชียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ มาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง กอปรกับรายได้ภาคเกษตรและการท่องเที่ยวอยู่ในเกณฑ์ดีส่งผลให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสะท้อนได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการจดทะเบียนรถใหม่ทุกประเภทยังขยายตัวสูง

การลงทุนโดยรวม เพิ่มขึ้น ตามดัชนีการลงทุนภาคการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง และมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เร่งตัวขึ้นมาก นอกจากนี้ เงินลงทุนรวมของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรายใหม่ และทุนจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลรายใหม่เพิ่มขึ้น

การส่งออก มีมูลค่า 1,654.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.7 ชะลอลงเล็กน้อยตามมูลค่าส่งออกยางพาราเป็นสำคัญ จากอุปสงค์ในต่างประเทศที่ชะลอตัว นอกจากนี้สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ดีบุก ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ ถุงมือยาง อาหารบรรจุกระป๋อง และสัตว์น้ำแช่แข็ง

การค้าผ่านด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย มูลค่าการส่งออกชะลอลง โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.6 ตามสินค้าหมวดยางพาราเป็นสำคัญ รวมทั้งไม้ยางพาราแปรรูป สื่อบันทึกข้อมูล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์

ทางด้านสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 15.5 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง จากรายได้เกษตรกรอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ความต้องการเงินทุนหมุนเวียน และสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเงินฝากขยายตัวประมาณร้อยละ 13.8 เป็นผลจากขยายฐานเงินฝากที่มีผลิตภัณฑ์เงินฝากเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ และรักษาฐานลูกค้าในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.17 ตามการปรับราคาสินค้าบางรายการในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวสาร เนื้อสัตว์ และผลไม้สด เป็นต้น รวมทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร.0-7427-2000 ต่อ 4346 e-mail: Somtawis@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ