ฉบับที่ 13/2554
นายปราณีต โชติกีรติเวช ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ แถลงว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 2 โดยรวมขยายตัว ตามการอุปโภคบริโภคจากรายได้จากการท่องเที่ยวและรายได้ภาคเกษตรที่อยู่ในระดับสูงทั้งยางและปาล์มน้ำมัน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ด้านการผลิตภาคเกษตรขยายตัวเล็กน้อย ส่วนภาคอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้ต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อ
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวอยู่ในระดับสูงร้อยละ 33.5 เป็นสำคัญ โดยเครื่องชี้สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 53.1 และ 28.1 ตามลำดับ ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น ภาคการก่อสร้างเร่งตัวขึ้นมาก โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.5 นอกจากนี้ เงินลงทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และทุนการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 และ 3.4 ตามลำดับ
ภาคการผลิต ผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.4 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 10.8 จากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 เป็นสำคัญ เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลผลิตขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.3 ตามการผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและถุงมือยาง เนื่องจาก ราคาที่ปรับสูงตามต้นทุนการผลิต กอปรกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดหลักจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นลดลง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 4.7 ตามการผลิตยางพารา น้ำมันปาล์มดิบ และไม้ยางพาราแปรรูป ที่เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ที่มีต่อเนื่อง
ภาคบริการท่องเที่ยวขยายตัวสูงร้อยละ 32.6 เป็นผลจากเศรษฐกิจเอเชียขยายตัวทำให้นักท่องเที่ยวเอเชียเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน เนื่องจาก นักท่องเที่ยวมั่นใจในความปลอดภัย การส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ภาคต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์สรอ. ขยายตัว โดยมีมูลค่าการส่งออก 5,044.0 ล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.7 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกยางพารา ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ ถุงมือยาง สัตว์น้ำแช่แข็ง เป็นสำคัญ และมูลค่าการนำเข้า 2,931.8 ล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นมากร้อยละ 26.2 โดยเฉพาะเครื่องจักรและอุปกรณ์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สัตว์น้ำแช่แข็ง น้ำยางสังเคราะห์ และอุปกรณ์ก่อสร้าง
เงินฝากและสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเงินฝากและสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 13.81 และ 15.5 ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจร้อยละ 13.4 และการบริโภคส่วนบุคคลร้อยละ 18.3 ซึ่งขยายตัวในสินเชื่อเช่าซื้อรถเป็นสำคัญ
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นจากร้อยละ 3.33 ในไตรมาสก่อนเป็นร้อยละ 4.08 ในไตรมาสนี้ ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวดย่อย โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำเป็นสำคัญ รวมทั้งราคาหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร.0-7427-2000 ต่อ 4346 e-mail : somtawis@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย