สรุปเศรษฐกิจภาคใต้ครึ่งแรก และแนวโน้มครึ่งหลัง ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 2, 2011 17:35 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 15/2554

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ครึ่งแรก ปี 2554 โดยรวมปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจากรายได้ภาคเกษตรที่อยู่ในระดับสูงการลงทุนภาคเอกชน การท่องเที่ยว และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ด้านการผลิตภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม แม้จะยังคงหดตัว เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ และเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่นทำให้คำสั่งซื้อลดลง แต่สามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม ต้นทุนของการผลิตสินค้าที่สำคัญของภาคใต้ ทั้งอาหารทะเลแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง และยางพาราปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงราคาสินค้าทำให้ความต้องการซื้อชะลอตัวไปบ้าง ส่วนเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มี ดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จากรายได้เกษตรกรที่อยู่ในเกณฑ์ดี ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้น โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและทุนจดทะเบียนนิติบุคคลรายใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.5 และ 2.7 ตามลำดับ นอกจากนี้ การนำเข้าอุปกรณ์ก่อสร้างเพิ่มขึ้นสูง ร้อยละ 74.8 ส่วนเงินลงทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนหดตัวร้อยละ 19.5

ภาคบริการท่องเที่ยวขยายตัว โดยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ จำนวน 2.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 29.2 จากนักท่องเที่ยวหลักภาคใต้ฝั่งอันดามัน ภาคใต้ชายแดน และอ่าวไทย ซึ่งเป็นผลจากนักท่องเที่ยวมีความมั่นใจในความปลอดภัย การส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชน การเพิ่มเที่ยวบินในประเทศและต่างประเทศ กอปรกับเศรษฐกิจเอเชียขยายตัวดี ส่งผลให้นักท่องเที่ยวแถบเอเชีย โดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

ภาคต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์สรอ. ขยายตัวสูง โดยมีมูลค่าการส่งออก 9,999.7 ล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 เนื่องจาก มูลค่าการส่งออกยางพารา ถุงมือยาง และไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์เป็นสำคัญ ส่วนมูลค่าการนำเข้า 6,504.1 ล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.5 โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ สัตว์น้ำแช่แข็งและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ภาคการผลิต ลดลงทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม โดยดัชนีผลผลิตพืชผลเกษตร ลดลงร้อยละ 5.9 ตามการผลิตยางพารา และปาล์มน้ำมันเป็นสำคัญ เนื่องจาก ยางกรีดได้น้อยลงจากฝนตกชุก ขณะที่ ปาล์มได้รับภัยแล้งก่อนหน้า กอปรกับช่วงเดือนมีนาคม 2554 ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในภาคใต้ ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.0 ตามการผลิตสินค้าเกือบทุกประเภทเนื่องจาก อุปสงค์ยางพาราจากจีนชะลอลง ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ อาหารทะเลแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง และถุงมือยาง ลดลงจากคำสั่งซื้อชะลอตัวจากราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นตามปัจจัยต้นทุนและราคาวัตถุดิบ ยกเว้นดีบุก และไม้ยางพาราแปรรูปที่ได้รับผลดีจากอุทกภัยที่ทำให้มีวัตถุดิบเพิ่มขึ้น

เงินฝากและสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเงินฝากและสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 13.81 และ 15.5 ตามลำดับ เป็นการเพิ่มขึ้นจากการขยายฐานเงินฝาก เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นทั้งสินเชื่อธุรกิจและการบริโภคส่วนบุคคล และรักษาฐานลูกค้าในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นทุกหมวดย่อย โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ รวมทั้งราคาหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ

แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ครึ่งปีหลัง ปี 2554 คาดว่าขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังขยายตัวทั้งการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจากรายได้ภาคเกษตรจากยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้ง ที่อยู่ในเกณฑ์ดี และการลงทุนภาคเอกชนที่มีต่อเนื่อง การท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศมั่นใจความปลอดภัยกอปรกับการเดินทางที่สะดวกจากการเพิ่มเที่ยวบินของสายการบินในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนี้ การผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นทั้งยางพารา และปาล์มน้ำมัน เนื่องจาก พื้นที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น กอปรกับปีก่อนประสบภาวะภัยแล้งและอุทกภัยทำให้ผลผลิตออกมากในปีนี้ อย่างไรก็ตาม อาหารทะเลแปรรูป และอาหารทะเลกระป๋อง ชะลอลงจากต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น ส่วนเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร.0-7427-2000 ต่อ 4346 e-mail : somtawis@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ