สุนทรพจน์: อัตราเงินเฟ้อ... ผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยและภาคอุตสาหกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 4, 2011 10:54 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปาฐกถาพิเศษ

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่อง “อัตราเงินเฟ้อ...ผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยและภาคอุตสาหกรรม”

จัดโดย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ณ ห้องบอลรูม 2 — 3 โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ

วันที่ 3 สิงหาคม 2554 เวลา 19.45 — 21.00 น.

ท่านนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ท่านคณะกรรมการอำนวยการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนทุกท่าน

ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้มาร่วมงานและเป็นผู้กล่าวปาฐกถาในค่ำคืนนี้ สำหรับหัวข้อที่จะพูดคุยกัน คือ “อัตราเงินเฟ้อ... ผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยและภาคอุตสาหกรรม” ซึ่งส่วนตัว ผมเห็นว่าเป็นหัวข้อที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ เพราะอัตราเงินเฟ้อถือเป็นประเด็นเศรษฐกิจสำคัญที่หลายฝ่ายกำลังจับตามองในปัจจุบัน เนื่องจากส่งผลต่อเราๆ ท่านๆ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้บริโภคหรือผู้ผลิต ผมขอเปรียบปัญหาเงินเฟ้อเหมือนกับปลวก หากเรานับว่าปลวกเป็นศัตรูสำคัญของสิ่งปลูกสร้าง เงินเฟ้อก็ถือเป็นศัตรูที่กัดกินมูลค่าของเงินที่เราทำมาหาได้ ส่งผลลดทอนความสามารถในการบริโภคและการผลิตสินค้าของประชาชนและผู้ประกอบการ กลายเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด

ในค่ำคืนนี้ ผมจะขอถือโอกาสนำเสนอมุมมองที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเงินเฟ้อผ่าน 3 ประเด็นหลัก โดยประเด็นแรก ผมจะขอเท้าความถึงความหมายและเหตุที่มาของเงินเฟ้อ รวมทั้งจะขอสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยในปัจจุบัน ส่วนประเด็นที่สอง ผมอยากจะขอกล่าวถึงผลกระทบของเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในมุมมองที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ส่วนในประเด็นสุดท้าย ผมขอเสนอแนวทางในการเตรียมตัวและสร้างมาตรการในการป้องกันปัญหาเงินเฟ้อ ที่ผมถือว่าเป็นบทบาทที่ทุกฝ่ายจะต้องมีส่วนร่วม

ประเด็นแรกที่ผมจะกล่าวถึง คือ ความหมายและสาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อ โดยอาจกล่าวสั้นๆ ได้ว่าเงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการลดทอนมูลค่าของเงินลง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือความสามารถในการซื้อสินค้าและบริการของผู้ถือเงินลดลง ส่วนการคำนวณอัตราเงินเฟ้อสามารถทำได้ผ่านการหาอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคที่สะท้อนราคาสินค้าและบริการโดยเฉลี่ย ในหมวดสินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้ในการบริโภค เทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนนั่นเอง ทั้งนี้ ผมจะขอเรียนถึงสาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อ ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 3 สาเหตุหลัก

สาเหตุแรก คืออุปสงค์หรือความต้องการในระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการของประชาชนอยู่ในระดับที่สูงกว่าความสามารถในการผลิตสินค้าหรือจำนวนสินค้าที่มีขายอยู่ในขณะนั้น ส่งผลให้สินค้าขาดแคลน ซึ่งเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นได้ เงินเฟ้อที่เกิดจากสาเหตุนี้ จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น Demand-pull inflation

สาเหตุต่อมา คือการที่ต้นทุนวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการปรับสูงขึ้นทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นราคาสินค้า และส่งผ่านภาระดังกล่าวไปยังผู้บริโภค ทำให้ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปปรับสูงขึ้น เกิดเงินเฟ้อที่เรียกกันว่า Cost-push inflation

สาเหตุที่สาม คือการคาดการณ์ของสาธารณชน เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อในอนาคต (Inflation expectation) โดยหากประชาชนคาดว่าราคาสินค้าและบริการจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวได้ดีด้วยแล้ว ก็จะทำให้ความต้องการสินค้าและบริการปรับเพิ่มขึ้นในทันทีในขณะเดียวกัน หากผู้ประกอบการคาดว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นก็อาจปรับราคาสินค้าขึ้นเช่นกัน พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้ราคาสินค้าทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นทันทีในปัจจุบัน โดยไม่ต้องรอถึงอนาคตอย่างที่คาดไว้

สำหรับในกรณีของเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน เราเห็นแรงกดดันด้านราคาที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากปัจจัยรอบด้าน ในส่วนของอุปสงค์ พบว่ายังขยายตัวอย่างแข็งแกร่งไปกับเศรษฐกิจในภาพรวมในช่วงที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากรายได้ภาคเกษตรและการจ้างงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี รายได้จากภาคการส่งออกก็ยังสามารถขยายตัวได้สม่ำเสมอ รวมทั้งแรงกระตุ้นทางการคลังจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีอยู่ต่อเนื่องและอัตราดอกเบี้ยที่ยังถือว่าไม่สูงมากนัก โดยในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตเข้าใกล้อัตราที่เป็นระดับศักยภาพแล้ว และหากเศรษฐกิจเริ่มที่จะเติบโตในอัตราที่สูงขึ้นกว่าศักยภาพ ก็อาจเข้าขั้นร้อนแรง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับขึ้นราคาสินค้าต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

ในส่วนของต้นทุนการผลิต ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น จากทั้งเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว ตามการขยายตัวที่ดีต่อเนื่องของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market Economies (EMEs) ที่ทำให้ความต้องการสินค้าเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น และการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เมื่อนักลงทุนในตลาดการเงินระหว่างประเทศย้ายไปลงทุนใน EMEs ในช่วงที่เศรษฐกิจประเทศหลักที่เคยเป็นแหล่งการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำยังคงต้องประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากการปรับราคาสินค้าและบริการจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะพฤติกรรมการปรับราคาสินค้าในปัจจุบันที่พบว่าผู้ประกอบการปรับราคาขึ้นตามกันอย่างต่อเนื่อง(มี persistence ในกระบวนการปรับราคา) ภายใต้เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่อง

หากถามถึงกรณีของเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านของเรา ผมขอเรียนว่า กำลังเผชิญ กับปัญหาที่ไม่ต่างกัน ทุกท่านคงทราบดีว่าในช่วงที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ในเอเชียถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกแทนกลุ่มประเทศ G3 ที่กำลังประสบปัญหารุมเร้ามากมายในขณะนี้ ซึ่งเศรษฐกิจเอเชียที่ขยายตัวได้ดี รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อของภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยยังอยู่ในระดับสูง แม้อัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าบางประเทศในภูมิภาค เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย รวมทั้งเวียดนามที่อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นไปอยู่สูงถึงร้อยละ 20 แต่มองไปข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อของไทยคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปอีกจากปัจจัยที่ได้เรียนไปแล้วข้างต้น

ท่านผู้มีเกียรติครับ

หลายท่านอาจเป็นกังวลว่า ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่องในขณะนี้จะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย ประชาชนทั่วไป รวมถึงท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง ผมจึงอยากขอใช้โอกาสนี้ นำท่านเข้าสู่ประเด็นที่สอง ในเรื่องผลกระทบของเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งในทางปฏิบัติ การที่เราเห็นระดับราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเป็นบวก แต่หากตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน ก็อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่นักที่จะต้องเป็นกังวล เนื่องจากราคาที่ค่อยๆ สูงขึ้น อาจเป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชนกำลังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การที่ราคาสินค้าทยอยเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตในการผลิตสินค้าและบริการออกสู่ตลาด ถือเป็นน้ำหล่อเลี้ยงทำให้เศรษฐกิจดำเนินไปได้ แต่หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง หรือมีความผันผวนขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา จะสะท้อนว่าระดับราคาสินค้าและบริการมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ก็จะกลายเป็นความไม่แน่นอนที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ จนส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจในภาพรวมได้

สำหรับประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้บริโภค อย่างที่ผมได้เรียนข้างต้น ปัญหาเงินเฟ้อจะบั่นทอนอำนาจซื้อของประชาชน เมื่อรู้สึกว่าตนมีความสามารถในการซื้อสินค้าน้อยลง ก็จะทำให้ความต้องการบริโภคลดลงไปเช่นกัน ผมขอยกตัวอย่างกรณีของสหรัฐอเมริกาในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ที่ราคาน้ำมันในประเทศปรับสูงขึ้นมาก จนทำให้อัตราเงินเฟ้อรวมทั้งเงินเฟ้อคาดการณ์ของประชาชนเร่งขึ้น ส่งผลต่อให้การบริโภคของสหรัฐฯ ในช่วงดังกล่าวลดลง จนการขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องชะลอลงตามไปด้วย

หากมองปัญหาเงินเฟ้อในแง่มุมของผู้ฝากเงิน ในกรณีที่ราคาสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากการฝากเงิน ผู้ฝากจะสูญเสียรายรับจากอัตราดอกเบี้ย และมีแรงจูงใจในการออมน้อยลง จนอาจทำให้หันไปใช้จ่ายหรือลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น หลักทรัพย์ ทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี คงต้องเรียนว่า ผลตอบแทนที่สูงขึ้นนั้น ย่อมจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วย หากขาดความรู้ความเข้าใจในการลงทุน ประชาชนในกลุ่มนี้อาจประสบกับการขาดทุน กลายเป็นการเพิ่มความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ราคาสินทรัพย์เสี่ยงเหล่านั้นก็อาจปรับสูงขึ้นไปตามความนิยมของผู้ลงทุน เพิ่มโอกาสของการเกิดฟองสบู่ที่จะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

ในทางกลับกัน ในมุมของผู้กู้ยืมเงิน อัตราเงินเฟ้อที่สูงเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินกู้ จะทำให้ผู้กู้มองว่ารายจ่ายดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายมีค่าน้อยลง หรือพูดง่ายๆ ว่าผู้กู้รู้สึกว่ากู้เงินได้ในต้นทุนที่ถูกลง ทำให้มีแรงจูงใจในการกู้ยืมไปใช้จ่ายหรือนำไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้เช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้ นอกจากจะทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อมีมากขึ้นและเอื้อให้เกิดภาวะฟองสบู่แล้ว หากประสบกับการขาดทุน หรือผู้กู้ไม่สามารถหารายได้เพียงพอมาชดใช้เงินกู้ยืมดังกล่าว ก็จะเป็นผลลบเพิ่มเติมต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กลายเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือน เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตปี 2540

ในส่วนของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เงินเฟ้อจะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสูงขึ้นโดยผลกระทบต่อผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรมจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับ (1) สัดส่วนของต้นทุนวัตถุดิบต่อต้นทุนรวม ซึ่งในกรณีของภาคอุตสาหกรรมไทย จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 73 ของต้นทุนรวม*1 (2) ความสามารถในการปรับตัวเพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนการผลิต หรือการปรับใช้วัตถุดิบที่มีราคาถูกลง (3) ความสามารถในการปรับปรุงคุณภาพสินค้าเพื่อไม่ให้ราคาที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบกับยอดขาย และ (4) ส่วนแบ่งตลาดและภาวะการแข่งขันของธุรกิจ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอำนาจการต่อรองในการปรับราคาของผู้ประกอบการ

หากผู้ประกอบการไม่สามารถแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้นนี้ได้ ก็จะผลักภาระไปยังราคาสินค้าที่ขายให้กับผู้บริโภค มีผลต่อเงินเฟ้อและยอดขาย ซึ่งจะรวมไปถึงกรณีของสินค้าส่งออกของประเทศ ที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับสินค้าของประเทศอื่น ส่งผลให้รายได้ของประเทศลดลง โดยเฉพาะในกรณีของไทยที่คงต้องยอมรับว่าการส่งออกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกที่สูงถึงร้อยละ 75 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ*2 อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อาจไม่สามารถปรับราคาได้ภายใต้ภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายรับสุทธิลดลงเช่นกัน ในที่สุดผู้ประกอบการบางรายอาจตัดสินใจชะลอการผลิต และลดการจ้างงานลง ส่งผลต่อเนื่องไปยังรายได้ประชาชนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ เงินเฟ้อจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นที่ส่งผลต่อผู้ประกอบการ มักอยู่ในอัตราที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ผู้บริโภคต้องเผชิญ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นราคาเพื่อลดภาระต้นทุนของตนได้มากนัก ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า หากเงินเฟ้อจากต้นทุนวัตถุดิบทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 1 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของผู้บริโภคจะปรับสูงขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 0.2 อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวดีผู้บริโภคจะมีความต้องการสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ประกอบการอาจสามารถปรับราคาเพื่อส่งผ่านต้นทุนได้มากขึ้น ผมขอชี้ให้เห็นตัวอย่างในกรณีการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยจากการศึกษาในช่วงปี 2551*3 ที่ราคาน้ำมันเร่งขึ้นมาก พบว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูป

ในประเทศเฉลี่ยที่เปลี่ยนแปลงไปร้อยละ 1 ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตโดยเฉลี่ยเปลี่ยนแปลงไปร้อยละ 0.38 ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคโดยเฉลี่ยเปลี่ยนแปลงไปเพียงร้อยละ 0.17 โดยราคาสินค้าที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อเนื่องไปทำให้มูลค่าการบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมในปีดังกล่าวลดลงประมาณ 85,000 ถึง 130,000 ล้านบาท และส่งผลให้มูลค่าการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลง 108,000 ถึง 160,000 ล้านบาท และท้ายสุดคาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมในปี 2551 อยู่ระหว่างร้อยละ 5.75 ถึง 6.50*4 เทียบกับอัตราการขยายตัวในปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 8.1

นอกจากนี้ ปัญหาเงินเฟ้ออาจส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสำหรับการกู้ยืมของผู้ประกอบการเพื่อการลงทุนในระยะยาวปรับสูงขึ้น เนื่องจากในการคำนวณอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว จะมีส่วนประกอบที่เป็นการคาดการณ์เงินเฟ้อรวมอยู่ด้วย เมื่อตลาดคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าจะปรับเพิ่มขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวก็จะปรับสูงขึ้นเพื่อชดเชยเงินเฟ้อดังกล่าว ซึ่งจากผลกระทบที่ผมได้เรียนมา ทั้งหมดนี้ อาจมองได้ว่าปัญหาเงินเฟ้อจะส่งผลบั่นทอนบรรยากาศทั้งการบริโภค การผลิต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุน ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาวและส่งผลสนับสนุนการขยายตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ

หากผมจะขอให้มองใกล้ตัวเข้ามาอีกในกรณีของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับก่อสร้าง จากการสำรวจผู้ประกอบการของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า อุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 ของต้นทุนรวมทั้งหมด โดยเราคงทราบกันดีว่า ต้นทุนวัตถุดิบในช่วงที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก รวมทั้งยังผันผวนตามราคาในตลาดโลก เห็นได้จากดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเฉลี่ยเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2554 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 ที่สูงขึ้นร้อยละ 5.8 อย่างไรก็ตาม การผลิตของธุรกิจส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ยังขยายตัวได้ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทำสัญญาซื้อวัตถุดิบล่วงหน้าไว้แล้ว เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงราคาวัตถุดิบ และมีการปรับตัวโดยหันมาใช้วัสดุก่อสร้างสำเร็จรูป (Prefabrication) มากขึ้น

ท่านผู้มีเกียรติครับ

มาถึงจุดนี้ หลายท่านคงจะเห็นด้วยกับผมที่เรียนไว้ในช่วงต้นของปาฐกถานี้ว่า ปัญหาเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่น่ากังวล และต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากลุกลามออกไป จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง ทั้งในระยะสั้น ต่อการบริโภค การลงทุน และการผลิต และในระยะยาว ที่อาจเป็นผลลบต่อเสถียรภาพและระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ จากจุดนี้ไป ผมจะขอใช้เวลาที่เหลือในการเรียนให้ทราบถึงแนวทางในการวางมาตรการป้องกัน รวมทั้งเตรียมพร้อมที่จะรับมือในการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายด้วยกัน ทั้งการพัฒนาตนเองของภาคเอกชนและการส่งเสริมจากภาครัฐ

ในส่วนของภาคเอกชน ผมมองว่าความสามารถในการปรับตัวของภาคธุรกิจต่อต้นทุนที่สูงขึ้น ถือเป็นการสร้างปราการที่สำคัญในการป้องกันตนเองจากปัญหาเงินเฟ้อ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อลดต้นทุน และการปรับปรุงคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรักษาตลาด ซึ่งผมเชื่อว่าผู้ผลิตเองก็ตระหนักถึงความจำเป็นในข้อนี้ และพยายามที่จะปรับตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากการผลิตและการส่งออกในหลายหมวดอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวได้แม้ในช่วงที่เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าในหมวดเครื่องจักรของไทยขยายตัวได้มากขึ้น นับตั้งแต่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว จากวิกฤติการเงินล่าสุดเป็นต้นมาสะท้อนว่าธุรกิจมีการลงทุนเพื่อปรับปรุงผลิตภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดี

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ผมยังเป็นกังวลและควรได้รับการเน้นย้ำ ก็คือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R & D) ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านนี้มีเพียงร้อยละ 0.2 ของ GDP ขณะที่มาเลเซียหรือญี่ปุ่นมีสัดส่วนนี้ถึงร้อยละ 0.8 และ 3.5 ต่อ GDP ตามลำดับ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา การใช้เทคโนโลยีของไทยส่วนใหญ่จึงเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง และมีเพียงผู้ประกอบการบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ความเหลื่อมล้ำในรายได้ของประชาชนมีมากขึ้นไปอีก ดังนั้น หากภาคธุรกิจสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตได้ด้วยตนเอง จะช่วยให้การนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพมากขึ้นออกสู่ตลาดเพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้เทคโนโลยีเหล่านี้ ถือเป็นการสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนในประเทศมากขึ้น และทำให้ธุรกิจสามารถรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นได้ในภายหลัง

จากการพบปะกับภาคธุรกิจของ ธปท. พบว่า ภาครัฐเองก็มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่การผ่อนคลายกฎระเบียบและขยายขอบเขตของธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการลงทุนในการยกระดับเทคโนโลยีการผลิต ให้มีความยืดหยุ่น เพื่อนำทรัพยากรทั้งการเงินและการผลิตมาใช้ผ่านกลไกตลาดได้มากขึ้น รวมทั้งกำหนดเป้าหมายและแผนงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมในการสนับสนุนภาคการผลิตและอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุนของเอกชนอีกทางหนึ่งด้วย

จากประสบการณ์ ผมมองว่าการพัฒนาตนเองด้านการผลิตของภาคเอกชนถือเป็นแนวทางการเตรียมพร้อมที่สมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ใช่จะช่วยรองรับเพียงปัญหาจากเงินเฟ้อและต้นทุนที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่รวมไปถึงปัญหาด้านอื่นๆ เช่น ความสามารถในการแข่งขัน และค่าเงินที่อาจผันผวนแข็งค่าขึ้นสำหรับธุรกิจส่งออกด้วย แต่คงต้องยอมรับว่า การปรับตัวดังกล่าวของภาคธุรกิจต้องการความต่อเนื่องและใช้ระยะเวลาการแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนจากเงินเฟ้อในระยะสั้น จึงต้องอาศัยนโยบายและมาตรการของภาครัฐ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการและประชาชนไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจนได้รับความเดือดร้อน

ผมจะขอเริ่มที่นโยบายที่ใกล้ตัวผมที่สุด คือนโยบายการเงิน โดย ธปท. มีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพด้านราคาซึ่งหมายถึงการมีเงินเฟ้อที่ต่ำและไม่ผันผวน ที่จะเอื้อให้เศรษฐกิจเติบโตและปรับตัวได้ในระยะยาว ผ่านการใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ร้อยละ 0.5 — 3.0 โดยใช้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นเครื่องมือในการส่งสัญญาณไปยังตลาดการเงินและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลช่วยลดเงินเฟ้อผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้การใช้จ่ายและลงทุนในระบบเศรษฐกิจลดลง ช่วยชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของเงินเฟ้อได้

สำหรับขนาดและความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ คงต้องขึ้นอยู่กับสาเหตุที่มาของเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยปัญหาเงินเฟ้อของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ซึ่งในทางทฤษฎี เงินเฟ้อที่เกิดจากสาเหตุนี้โดยตรงไม่สามารถใช้นโยบายการเงินเข้าไปแก้ไขอย่างตรงจุดได้ เพราะนโยบายการเงินเพียงแต่สามารถช่วยลดความต้องการใช้จ่ายบริโภคและลงทุนในสินค้าและบริการลงเท่านั้น อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ต้นทุนที่สูงขึ้นที่ผ่านมา เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของไทย ทำให้ภาระต้นทุนดังกล่าวถูกส่งผ่านไปยังระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปได้มากขึ้น ดังนั้น บทบาทของนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมา ก็เพื่อชะลอไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวเร่งเกินไป โดยทำหน้าที่เป็นอุปสรรคให้กับการส่งผ่านดังกล่าว จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้ผู้กู้และผู้บริโภครู้สึกอึดอัดใจ และต้องคิดทบทวนเรื่องแผนการใช้จ่าย เพราะถือเป็นการสะท้อนผลของนโยบายการเงินนั่นเอง

สำหรับเงินเฟ้อที่เกิดจากการคาดการณ์นั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายพร้อมกับการส่งสัญญาณนโยบายในระยะต่อไป จะทำให้สาธารณชนสามารถทราบล่วงหน้าถึงการดูแลเงินเฟ้อของทางการ ซึ่งจะช่วยยึดเหนี่ยวการคาดการณ์ต่อเงินเฟ้อที่จะกลายเป็นพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อแบบเฉียบพลันขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้น การสื่อสารกับสาธารณชนถึงแนวนโยบายและทิศทางในระยะต่อไปจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการดำเนินนโยบายที่ดี ผมจึงขอใช้โอกาสนี้สื่อถือทิศทางของนโยบายการเงินสักเล็กน้อย

ในปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีจนกลับมาเติบโตใกล้ระดับศักยภาพนั้น อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ อาจเป็นบ่อเกิดของความเปราะบางทางเศรษฐกิจอย่างที่ได้เรียนไว้ข้างต้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชดเชยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อผู้ฝากเงิน ในขณะที่ลดแรงจูงใจของผู้กู้ โดยการเพิ่มต้นทุนการกู้ยืม ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมาก็ทำด้วยความระมัดระวังและพิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อแรงส่งของเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย ซึ่งการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็ไม่ได้ทำให้แรงส่ง หรือ momentum ของการลงทุนและเศรษฐกิจต้องเสียไป ในส่วนของภาคธุรกิจโดยรวม สัดส่วนของต้นทุนทางการเงินโดยเฉลี่ยอยู่ประมาณร้อยละ 5 ของต้นทุนรวม*5 ซึ่งคาดว่าธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงสามารถรองรับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้ และอาจมองได้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยป้องกันปัญหาเงินเฟ้อไม่ให้ลุกลามจนทำให้ต้นทุนวัตถุดิบที่มีสัดส่วนสูงกว่าต้องเร่งขึ้น สำหรับทิศทางของนโยบายการเงินในระยะต่อไป ก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นภายใต้เศรษฐกิจที่ยังขยายตัวต่อเนื่องว่ามีมากน้อยเพียงใด

ท่านผู้มีเกียรติครับ

นอกจากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังมีการใช้เครื่องมือเสริมอื่นๆ เพื่อดูแลปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งเราอาจเห็นได้จากตัวอย่างในกรณีของประเทศอื่นๆ โดยเครื่องมือที่ใช้จะขึ้นกับลักษณะทางเศรษฐกิจและกรอบการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศนั้นๆ เป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ ที่ปล่อยให้ค่าเงินแข็งค่า เพื่อลดแรงกดดันด้านราคาในประเทศที่ส่งผ่านมากับราคาสินค้านำเข้า เนื่องจากสัดส่วนของการนำเข้าเมื่อเทียบกับ GDP อยู่ในระดับค่อนข้างสูง ขณะที่จีนที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่เป็นของภาครัฐ เพิ่มอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เพื่อชะลอความร้อนแรงของการขยายตัวของสินเชื่อ และลดความต้องการซื้อสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจ สำหรับกรณีของไทย นโยบายอัตราดอกเบี้ยยังมีการส่งผ่านที่ดี ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ของไทยยังมีเสถียรภาพ แต่ยังมีมาตรการเสริมเพื่อเตรียมการในการป้องกันการเร่งขึ้นของราคาที่อาจเกิดขึ้นเฉพาะในบางภาคเศรษฐกิจที่เรียกว่า “Macroprudential policy” ควบคู่ไปด้วย เช่น มาตรการกำหนด Loan To Value Ratio เพื่อดูแลการให้สินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมาตรการลักษณะนี้จะช่วยป้องกันความเปราะบางที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งด้วย

นอกจาก ธปท. ที่มีบทบาทในการดูแลค่าครองชีพของประชาชนในภาพรวมแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นๆของภาครัฐที่มีบทบาทในการดูแลค่าครองชีพของประชาชนเช่นกัน ผมขอยกตัวอย่างกระทรวงพาณิชย์ ที่มีหน้าที่ดูแลราคาสินค้าและบริการ ไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสเพื่อเอาเปรียบผู้บริโภค และยังมีมาตรการในการตรึงราคาทั้งในแง่ของการควบคุมราคาและการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในช่วงที่สินค้าขาดแคลนในระยะสั้น ขณะที่กระทรวงการคลังมีมาตรการเพื่อดูแลค่าครองชีพของประชาชน*6 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในช่วงที่ราคาน้ำมันเร่งตัวขึ้นและยังต้องเผชิญกับผลจากวิกฤตที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถดูแลราคาสินค้าและบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวได้ส่วนหนึ่ง และช่วยป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อผันผวนมากนักในระยะสั้น อย่างไรก็ดี หากระดับราคาสินค้าต่างๆ ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี มาตรการดังกล่าวก็อาจเป็นเพียงการเลื่อนระยะเวลาของปัญหาออกไป และอาจต้องใช้งบประมาณสูงในการอุดหนุน

ท่านผู้มีเกียรติครับ

สุดท้ายนี้ ผมอยากให้มองว่า เศรษฐกิจก็เปรียบเหมือนกับบ้านหลังใหญ่ที่ผู้อยู่อาศัยต้องบำรุงรักษาให้คงทนแข็งแรงเพื่อเป็นที่พักพิงของครอบครัว เงินเฟ้อเปรียบได้กับปลวกที่จะคอยกัดกินโครงสร้างของบ้านการดูแลรักษาบ้านให้อยู่รอดปลอดภัยก็คงจะไม่ใช่การฉีดยากำจัดปลวกทุก 3 เดือน 6 เดือน อย่างที่นโยบายภาครัฐช่วยดูแลเงินเฟ้อและผลกระทบในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว ในระยะยาว เสาทุกต้น กรอบหน้าต่างทุกบาน หรือแม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน ต้องได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มีความแข็งแกร่งคงทนอยู่เสมอ เช่นเดียวกับที่แนวทางบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อจะต้องมุ่งไปในทิศทางที่เพิ่มความสามารถในการปรับตัวและประสิทธิภาพในการผลิตของภาคธุรกิจ ขณะที่ภาครัฐก็ต้องมีนโยบายที่สอดรับกับการปรับตัวดังกล่าว ผ่านการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในวงกว้างขึ้น เพื่อสนับสนุนให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างทั่วถึง (broad-based) และยั่งยืน

*1 ข้อมูลจากสำมะโนอุตสาหกรรม 2550

*2 ข้อมูล ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

*3 ความผันผวนของราคาน้ำมันต่อปัญหาเงินเฟ้อ และการเติบโตของอุตสาหกรรมไทย, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 21 กันยายน 2551

*4 ข้อมูลจริงชี้ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในปี 2551 ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.9

*5 ข้อมูลงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2552

*6 (1) การลดอัตราภาษีสรรพาสามิตของน้ำมันแก๊สโซฮอล์และน้ำมันดีเซล (2) ชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้มของครัวเรือน (3) การยกเว้นเก็บค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไม่เกินเดือนละ 80 หน่วย (4) การยกเว้นเก็บค่าน้ำประปาสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไม่ เกินเดือนละ 50 ลูกบาศก์เมตร (5) การจัดรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้บริการฟรีแก่ประชาชน และ (6) การจัดขบวนรถไฟ ชั้น 3 และรถไฟชานเมือง เพื่อให้บริการฟรีแก่ประชาชน

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ