สุนทรพจน์: Navigating Through Global Economic Challenges — เตรียมพร้อมธุรกิจไทย รับมือเศรษฐกิจโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 5, 2011 11:03 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปาฐกถาพิเศษ

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

“Navigating Through Global Economic Challenges — เตรียมพร้อมธุรกิจไทย รับมือเศรษฐกิจโลก”

จัดโดย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

ณ ห้องเวิลด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19.30-21.00 น.

ดร. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการ

คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ

ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารกรุงไทยได้เชิญผมมากล่าวปาฐกถาพิเศษในค่ำคืนนี้แก่นักธุรกิจ ทุกท่านในที่นี้ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย สำหรับหัวข้อ “Navigating Through Global Economic Challenges - เตรียมพร้อมธุรกิจไทย รับมือเศรษฐกิจโลก” ผมคิดว่า เป็นโจทย์ที่สำคัญสำหรับเราทุกคน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยฝ่าคลื่นกระแสเศรษฐกิจของโลกในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความเชื่อมโยงกันสูง ทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ สำหรับประเทศไทยเองแม้จะมีขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของเศรษฐกิจโลก แต่ไทยมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกสูงผ่านการส่งออกและเงินทุน ดังนั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องช่วยกันตอบโจทย์และเตรียมความพร้อม เพื่อสร้างโอกาสและขณะเดียวกันก็รับมือกับความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ประเด็นความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกที่ผมจะหยิบยกมากล่าวในวันนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยในส่วนแรก จะกล่าวถึง สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและแนวโน้มในระยะต่อไป และส่วนที่สอง จะเป็นการชี้ให้เห็นความท้าทายของเศรษฐกิจโลกต่อประเทศไทย บทเรียนที่ได้จากวิกฤตการณ์ในประเทศต่างๆ รวมถึงแนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือความท้าทายเหล่านั้น

ส่วนแรก ผมจะขอพูดถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มการขยายตัวแบบ multi-speed ซึ่งหมายถึง การที่เศรษฐกิจสำคัญต่างๆ ขยายตัวในอัตราที่แตกต่างกันสูง และมีความไม่แน่นอนมากขึ้นในลักษณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก หรือ G3 จะโตช้ากว่ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เรียกว่า Emerging markets สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากกลุ่ม G3 มีปัญหาเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องใช้เวลาและมีความเสี่ยงในการแก้ปัญหาให้ลุล่วง ทำให้ในระยะต่อไป G3 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐฯ ฟื้นตัวช้าเพราะขาดแรงกระตุ้นจากการบริโภคในประเทศที่เคยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาโดยตลอด จากกำลังซื้อของประชาชนลดลงมากจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับลดลงมาก และปัญหาการว่างงานในระดับสูง ซึ่งยังส่งผลต่อเนื่องให้รายได้ภาษีของภาครัฐลดลง ในขณะที่ระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงมาโดยตลอดและปรับสูงขึ้นมากนับตั้งแต่วิกฤตในปี 2008 จากการที่ภาครัฐเร่งการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ทำให้หนี้สาธารณะสูงถึงร้อยละ 92 ของ GDP ในปีที่แล้วและสูงจนชนเพดานหนี้ที่กำหนดแล้ว แม้รัฐบาลจะได้รับความเห็นชอบจากสภาในการปรับเพิ่มเพดานหนี้แต่ก็ต้องแลกกับการปรับลดงบประมาณรายจ่ายในระยะต่อไป ภายใต้ข้อจำกัดทางการคลังนี้ สะท้อนว่าสหรัฐฯ จะไม่สามารถใช้มาตรการการคลังเพื่อฟื้นเศรษฐกิจได้โดยเร็ว

ส่วนกลุ่ม EU มีปัญหาหนี้สาธารณะและสถาบันการเงินที่ยังรุมเร้า ซึ่งกระทบต่อการใช้จ่ายและความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้ ในขณะที่การแก้ปัญหาในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย ดังเช่นกรณีของกรีซที่แม้ได้รับอนุมัติความช่วยเหลือรอบที่ 2 จาก IMF และ EU แต่ต้องเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับผู้ถือพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย กลุ่มประเทศใน EU ที่มีหนี้สูงเหล่านี้จึงมีข้อจำกัดด้านการคลังและยังคงต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ เงื่อนไขการเป็นสมาชิกของ EU ทำให้ไม่มีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ละประเทศไม่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยหรือค่าเงินเพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้จึงขาดเครื่องมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนเองและคงใช้เวลานานกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

ทางด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่น ก็ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินโลกเต็มที่ และยังโดนซ้ำเติมจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะเริ่มฟื้นตัวจากภัยพิบัติบ้างแล้ว ในเชิงโครงสร้างของญี่ปุ่นเองก็มีหนี้สาธารณะที่พอกพูนมาตั้งแต่ช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาติดต่อกันนานถึงสองทศวรรษ(lost decades) และภาระผูกพันต่อการคลังที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย แม้ความเชื่อถือในพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่อ่อนไหวมากเท่าประเทศข้างต้นเนื่องจากผู้ถือส่วนใหญ่คือผู้ออมในประเทศ แต่หนี้สาธารณะในปีที่แล้วก็อยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 220 ของ GDP ในขณะที่รัฐบาลยังไม่สามารถปฏิรูปโครงสร้างภาษีได้ ทำให้ทางการญี่ปุ่นมีข้อจำกัดในการใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป

จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจของ G3 จะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกน้อยลง ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะเอเชียยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แม้ในระยะสั้น จะมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจที่ร้อนแรงจนแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง แต่ในระยะยาวมีแนวโน้มที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญในทศวรรษหน้า ทั้งนี้ สัดส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ BRIC ที่ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งประเมินโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 ในช่วงปี 2005-09 เป็นร้อยละ 22 ในปี 2015 สำหรับเอเชียเองก็จะเป็นภูมิภาคที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ ในฐานะเป็นฐานการผลิตและประเทศคู่ค้าที่สำคัญของหลายๆ ประเทศในโลกโดยเฉพาะจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนนักวิเคราะห์จากสำนักต่างๆ ต่างก็คาดว่าในอนาคต จีนจะกลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก*1 นอกจากนี้ เอเชียและประเทศเศรษฐกิจใหม่อื่นๆ ก็ถูกประเมินว่าจะมี ขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นมากเช่นกัน และในอนาคตจะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่ากลุ่มประเทศ G3 อย่างแน่นอน เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกแทนที่กลุ่มประเทศ G3 ผมมองว่า เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทย จึงนำมาสู่ส่วนที่สอง คือ ความท้าทายของเศรษฐกิจโลกต่อประเทศไทย ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 เรื่องสำคัญ คือ (1) ความท้าทายต่อแนวนโยบายการคลังของไทยในระยะต่อไป (2) ความท้าทายต่อภาคธุรกิจในระยะสั้น และ (3) ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยโดยรวมในระยะยาว

ความท้าทายประการแรก คือ แนวนโยบายการคลังของไทยจะเป็นไปในทิศทางใด บทเรียนหนึ่งที่ได้จากกลุ่มประเทศ G3 ที่ต่างก็ประสบปัญหาหนี้สาธารณะ ชี้ให้เห็นว่า การใช้จ่ายภาครัฐที่นำไปสู่หนี้สาธารณะในระดับสูงเป็นเวลานาน สร้างปัญหาต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยามที่เศรษฐกิจต้องการแรงกระตุ้นจากภาครัฐ วิธีแก้ปัญหานั้นฟังดูง่าย ตรงไปตรงมา แต่ทุกรัฐบาลยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จในทางปฏิบัติ คือ การลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ จึงเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากและใช้เวลานาน รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศในระยะยาวอีกด้วย แม้ว่าปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 41 ของ GDP ซึ่งยังห่างจากตัวเลขของกลุ่ม G3 มาก แต่ด้วยแนวโน้มภาระผูกพันต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้หนี้สาธารณะสูงเกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ร้อยละ 60 ของ GDP ได้ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รัฐบาลใหม่จึงควรตระหนักถึงความสำคัญและควรระมัดระวังอย่างยิ่งว่า สำหรับเศรษฐกิจใหม่และมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับ G3 ดังเช่นประเทศไทยนั้น ความเชื่อมั่นของประเทศมีความอ่อนไหวต่อเสถียรภาพการคลังได้มากกว่าประเทศเหล่านั้นมาก และในยามที่เศรษฐกิจไม่ได้ต้องการแรงกระตุ้นจากภาครัฐก็น่าจะเป็นช่วงที่ฐานะการคลังค่อยๆ ปรับเข้าสู่สมดุล เพื่อให้สามารถใช้แรงกระตุ้นทางการคลังได้อีกในอนาคต เมื่อถึงคราวจำเป็น

แม้ในขณะนี้แนวนโยบายการคลังของรัฐบาลใหม่ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งในแง่ของขนาดและระยะเวลาที่จะดำเนินมาตรการต่างๆ แต่เป็นที่ทราบกันจากนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มรายจ่ายมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ภาระผูกพันในงบประมาณเพิ่มขึ้นมาก โดยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้หนี้ภาครัฐสูงขึ้น ในขณะที่ปัจจุบันเศรษฐกิจผลิตในระดับที่ใกล้เคียงกับศักยภาพและมีแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่แล้ว ทำให้ความจำเป็นที่ภาครัฐต้องใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อลงทุนยังมีความจำเป็นอยู่มาก เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศให้เติบโตสูงขึ้นได้ต่อไปในระยะยาว แต่ด้วยข้อจำกัดของฐานะการคลัง ภาครัฐจึงควรจัดลำดับความสำคัญของนโยบาย เน้นการลงทุนที่จะเสริมขีดความสามารถของประเทศ รวมทั้งทยอยดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมุ่งใช้นโยบายต่อกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้การใช้จ่ายเกิดประโยชน์สูงสุด และยึดกรอบวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งรัดการปฏิรูปโครงสร้างทางการคลังให้เกิดความสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวด้วย ซึ่งในการรักษาวินัยการคลังนั้น รัฐบาลต้องเข้มแข็ง เอาจริงและให้ความสำคัญในการดูแลแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันการผลัดวันประกันพรุ่งจนพอกพูนเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกดังเช่นที่กลุ่ม G3 กำลังประสบในขณะนี้

ความท้าทายประการที่สอง คือ ภาคเอกชนจะเตรียมพร้อมอย่างไรในการรับมือค่าเงินบาทและต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นภายใต้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกแบบ multi-speed ซึ่งอาจมองผลกระทบต่อภาคธุรกิจได้ 2 ด้าน

ในด้านแรก ธุรกิจยังต้องเผชิญแนวโน้มค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นและอาจผันผวนได้ทั้ง 2 ทิศทาง โดยเศรษฐกิจของกลุ่มเอเชียและประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่ม G3 มีการฟื้นตัวแบบ “สามวันดีสี่วันไข้” ทำให้ยังมีเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคเพิ่มขึ้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายจะมีความอ่อนไหวต่อผลตอบแทนและความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจกลุ่มต่างๆ อันจะทำให้ค่าเงินของภูมิภาครวมทั้งค่าเงินบาทมีความผันผวนตามความเชื่อมั่นที่เปลี่ยนแปลงไปตามตัวเลขเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ที่ออกมาในแต่ละช่วง แนวโน้มดังกล่าวเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อภาคธุรกิจ โดยทำให้ธุรกิจลงทุนนำเข้าสินค้าทุนหรือเทคโนโลยีได้ถูกลง เพื่อปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้นสำหรับรองรับการแข่งขันภายในภูมิภาค และกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่จะทวีความเข้มข้นขึ้น อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศที่มีทรัพยากรที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่อาจผันผวนได้ 2 ทิศทาง ทำให้ธุรกิจต้องเตรียมพร้อมสร้างภูมิคุ้มกันในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง ธปท. นอกจากจะส่งเสริมให้ธุรกิจใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงให้มากขึ้นแล้ว ยังอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ โดยหวังให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยปรับสมดุลการเข้าออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งคาดว่าจะมีการชี้แจงแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายต่อสาธารณชนในช่วงปลายปีนี้

ในด้านที่สอง ธุรกิจต้องรับมือต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งต้นทุนจากราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์รวมทั้งต้นทุนทางการเงิน เนื่องจากแนวโน้มที่เศรษฐกิจกลุ่มเอเชียและประเทศตลาดเกิดใหม่ขยายตัวได้ดี จะส่งผลให้ยังมีความต้องการน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในระดับสูงต่อเนื่อง และเป็นแรงกดดันให้ราคาสินค้าดังกล่าวยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งหมายถึงต้นทุนในการประกอบกิจการจะมีแนวโน้มสูงขึ้น สำหรับประเทศไทยการใช้จ่ายในประเทศที่ยังมีแนวโน้มดีในระยะต่อไป ขณะที่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้มีแรงกดดันเงินเฟ้อต่อเนื่อง การดูแลเงินเฟ้อเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยที่หักด้วยอัตราเงินเฟ้อ) ยังคงติดลบ ทำให้ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ในขาขึ้น ซึ่งภาคเอกชนยังต้องปรับตัวต่อต้นทุนที่สูงขึ้นนี้ไปอีกระยะหนึ่ง

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ภายใต้สภาวะที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคตความท้าทายประการสุดท้าย คือ ทำอย่างไร เศรษฐกิจไทยจึงจะสามารถแข่งขันกับคู่ค้าและคู่แข่งในภูมิภาคได้ในระยะยาว แน่นอนว่าในระยะต่อไป เศรษฐกิจกลุ่มเอเชียของเรามีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่ากลุ่ม G3 แต่การขยายตัวภายในกลุ่มเอเชียเองก็ยังมีอัตราที่ไม่เท่ากัน การพัฒนาอย่างรวดเร็วของประเทศอื่น ในเอเชียกระตุ้นให้ไทยจำเป็นต้องเร่งฝีเท้า เพิ่มศักยภาพ ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ เพื่อไม่ให้ไทยถูกทิ้งให้รั้งท้ายในภูมิภาค และสามารถรับประโยชน์จากการก้าวขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกของประเทศตลาดเกิดใหม่ได้อย่างเต็มที่

ประเทศตลาดเกิดใหม่นี้จะเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญในอนาคต แนวโน้มการใช้จ่ายของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นมากจากกำลังซื้อของชนชั้นกลางในกลุ่มนี้ ทำให้ภาคส่งออกของไทยควรต้องหันไปสู่ตลาดเหล่านี้มากขึ้นเพิ่มเติมจากที่ได้กระจายตลาดจากกลุ่ม G3 ไปสู่ประเทศอื่นๆ แล้ว อย่างไรก็ตามการมุ่งเน้นไปสู่ตลาดประเทศเกิดใหม่ควรต้องเริ่มทำตลาดเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการเป็นคู่ค้ารายแรกๆ (first mover advantage) นอกจากนี้ สำหรับธุรกิจที่เน้นตลาดในไทยยังต้องรักษาฐานลูกค้าไม่ให้เสีย ส่วนแบ่งการตลาดแก่ธุรกิจจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่จะเข้ามาแข่งขันด้วย

การจะแข่งขันกับนานาประเทศ สินค้าและบริการของไทยจำเป็นต้องยกระดับศักยภาพเพื่อลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยจะเห็นได้ว่า ในอดีตการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอาศัยความได้เปรียบจากค่าจ้างแรงงานที่มีราคาถูก อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ และในปัจจุบันภายใต้ภาวะแรงงานขาดแคลนซึ่งจะยิ่งสร้างแรงกดดันให้ค่าจ้างแรงงานของไทยมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น แนวทางเดียวที่จะรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ยังสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ คือ ต้องยกระดับศักยภาพการผลิตให้แรงงานที่มีอยู่จำกัดนี้ สามารถผลิตสินค้าได้ในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อเป็นการลดต้นทุน และมีคุณภาพดีขึ้นเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิต โดยในแง่ของปริมาณ ไทยจำเป็นต้องมีแรงงานที่มีทักษะและประสิทธิภาพสูง ตลอดจนเครื่องจักรทุ่นแรงที่จะช่วยเพิ่มปริมาณ และระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย สำหรับในแง่คุณภาพ เราจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาและส่งเสริมการฝึกอบรม เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพดีพอจะคิดค้นเทคโนโลยีและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการได้

การปรับตัวเหล่านี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องของการศึกษา การวิจัยพัฒนา และระบบการคมนาคมขนส่ง การลงทุนเพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตของประเทศเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการพัฒนานาน ซึ่งในเรื่องนี้ผมก็คงต้องขอย้ำอีกครั้งกับทุกท่าน เนื่องจากเป็นเรื่องที่สำคัญจริงๆ โดยทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมกันคิดวางแผนอย่างเป็นระบบและรอบคอบ ไม่เฉพาะแนวทางการยกระดับศักยภาพ แต่รวมไปถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจในทิศทางของเศรษฐกิจร่วมกันและสามารถดำเนินกิจกรรมไปได้อย่างสอดคล้อง ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกได้

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ท้ายที่สุดนี้ หากจะเปรียบเศรษฐกิจไทยดังเรือสำเภาลำหนึ่งที่มีภาคธุรกิจเป็นฝีพาย ตัวอย่างปัญหาในภาคการคลังของกลุ่ม G3 เปรียบเหมือนรูรั่วในเรือที่เป็นบทเรียนให้เราต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้นในเรือของเรา นอกจากนี้ คลื่นลมที่แปรปรวนของตลาดโลก ค่าเงินและต้นทุนที่จะสูงขึ้นทำให้ฝีพายต้องระมัดระวังในการพายมากขึ้น ในระยะต่อไป แนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องก็คงเปรียบเสมือนลมตะเภาที่จะพัดให้นาวาเศรษฐกิจเราไปสู่ทิศทางที่ดี ไทยจึงจำเป็นต้องหันใบเรือรับลม เตรียมเรือให้แข็งแกร่งพร้อมฝ่าคลื่นลมความท้าทายในอนาคต และพร้อมที่จะเกาะกระแสลมบนให้ทันเรือของประเทศอื่นๆ การจะนำนาวาเศรษฐกิจไปสู่เป้าหมายนั้น ทุกภาคส่วนในเรือจึงจำเป็นต้องร่วมมือกัน ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทั้งภาครัฐที่ต้องเตรียมเรือให้แข็งแกร่ง และคอยดูแลหางเสือซึ่งเปรียบเหมือนยุทธศาสตร์ที่ชี้ไปในทิศทางที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน ตลอดจนภาคเอกชนซึ่งเป็นฝีพายที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ไทยสามารถแข่งขันกับนาวาเศรษฐกิจประเทศอื่น ไปสู่เป้าหมายได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว

ขอบคุณครับ

*1 IMF, Citibank และ Standard Chartered คาดว่าจีนจะกลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2016, 2015, 2020 ตามลำดับ โดย IMF ใช้ PPP (Purchasing Power Parity) concept เปรียบเทียบซึ่งต่างจากแหล่งอื่นที่เทียบเป็น USD และใช้ข้อสมมติการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ ที่ 9.5 และ 2.7% ตามลำดับจนถึงปี 2016 ในขณะที่ Citibank คาดว่าจีนจะมีปริมาณการค้าที่ใหญ่ที่สุดโดยมีข้อสมมติของการขยายตัวของการค้าโลกที่ 7.1% ต่อปีจนกระทั่งปี 2030 และ 4.7% ต่อปีหลังจากปี 2030

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ