ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 11, 2011 16:06 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 31/2554

นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงินเปิดเผยว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2554 มีเสถียรภาพ ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น สินเชื่อขยายตัวต่อเนื่อง สภาพคล่องตึงตัวขึ้นเล็กน้อยแม้การระดมทุนจากเงินฝากและตั๋วแลกเงินจะสูงขึ้น สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลง ฐานะเงินกองทุนยังอยู่ในระดับสูงจากกำไรที่เพิ่มขึ้นและเพียงพอที่จะรองรับการขยายสินเชื่อตามภาวะเศรษฐกิจ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2554 ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.1 เร่งขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 13.4 ในไตรมาสก่อน จากการขยายตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจ (สัดส่วนร้อยละ 71.4 ของสินเชื่อรวม) ที่ขยายตัวร้อยละ 14.9 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 ในไตรมาสก่อน ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งเพื่อรองรับการเพิ่มการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่สามารถกลับมา ดำเนินการได้หลังจากประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจากเหตุภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม 2554 โดยสินเชื่อขยายตัวเร่งขึ้นทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการ SME ที่ร้อยละ 17.9 และร้อยละ 12.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินเชื่อขยายตัวมากในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การพาณิชย์ และสาธารณูปโภค ขณะที่สินเชื่อแก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างชะลอตัว เนื่องจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐสิ้นสุดลง สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภค (สัดส่วนร้อยละ 28.6 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 15.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนทขี่ ยายตัวร้อยละ 16.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย

เงินฝากรวมตั๋วแลกเงิน (B/E) ขยายตัวเร่งขึ้น โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 14.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 11.6 ในไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแข่งขันกันระดมเงินไว้รองรับการขยายสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของเงินฝากและ B/E ที่น้อยกว่าสินเชื่อ ส่งผลให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้นเล็กน้อย โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวม B/E เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 89.1 จากร้อยละ 87.1 ในไตรมาสก่อน

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มียอดคงค้าง 284.7 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2554 จำนวน 15.7 พันล้านบาท จากการโอนหนี้ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์และการรับชำระคืน เป็นสำคัญ ทำให้ สัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงทั้ง Gross NPL จากร้อยละ 3.2 เหลือร้อยละ 3.0 และ Net NPL จากร้อยละ 1.7 เหลือร้อยละ 1.6 ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจมีสัดส่วน NPL ลดลงเหลือร้อยละ 3.2 จากการลดลงในเกือบทุกภาคธุรกิจ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจ SME ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคมีสัดส่วน NPL ลดลงเช่นกันเหลือร้อยละ 2.1 สำหรับสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Delinquent Loan) ก็มีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือร้อยละ 2.1 ด้วย

ในไตรมาส 2 ปี 2554 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานและกำไรสุทธิ 68.9 พันล้านบาท และ 45.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 10.7 พันล้านบาท และ 11.5 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิตามการขยายตัวของสินเชื่อ ส่งผลให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.4 เป็นร้อยละ 2.6 และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset: ROA) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.1 และร้อยละ 1.5

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นมากตามสินเชื่อที่ขยายตัว ทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง(Tier-1 ratio) ลดลงเหลือร้อยละ 15.4 และร้อยละ 12.0 ตามลำดับ นับว่ายังอยู่ในระดับสูงและเพียงพอรองรับการขยายสินเชื่อในระยะต่อไป

โดยสรุปแล้ว ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง จากการที่ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในต่างประเทศมีความผันผวนสูง

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ