พันธบัตรออมทรัพย์อัตราดอกเบี้ยลอยตัว: ทางเลือกใหม่ในการออม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 23, 2011 13:11 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายณัฐธรรม จูฑศรีพานิช

ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภายใต้ภาวะที่โลกยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจหลายประการ ประชาชนเริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญต่อการวางแผนการออมและการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับสถาบันการเงินที่ต่างก็นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายรูปแบบ ที่มีอัตราผลตอบแทน และความเสี่ยงแตกต่างกันออกไปแม้ว่าในปัจจุบันนักลงทุนจะมีทางเลือกในการออมและลงทุนที่หลากหลาย แต่นักลงทุนก็ควรคำนึงถึงการกระจายสัดส่วนเงินลงทุนให้อยู่ในสินทรัพย์หลากหลายประเภทที่มีระยะเวลา ผลตอบแทน และระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป ตามหลักการบริหารความเสี่ยงขั้นพื้นฐานที่ว่า “อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าเพียงใบเดียว”หรือ “don't put all your eggs in one basket”

พันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์ผู้ที่สนใจออมเงินในตราสารที่มีความ เสี่ยงต่ำ โดยได้รับผลตอบแทนในอัตราที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด โดยในปี 2554 นี้ ธปท. ได้เปิด จำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. และเนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ ธปท. เพิ่มทางเลือกใหม่ให้กับนักลงทุนราย ย่อยโดยเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว อายุ 3 ปี จึงขอใช้โอกาสนี้อธิบาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนมากขึ้นว่าพันธบัตรออมทรัพย์แบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัวคืออะไร และเป็น ทางเลือกที่ดีในการออมอย่างไร

พันธบัตรออมทรัพย์ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว คือพันธบัตรที่อัตราผลตอบแทน (คูปอง) ปรับเปลี่ยนตามอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงหนึ่งๆ ซึ่งในกรณีพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว อัตราผลตอบแทนจะแปรผันตามดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 3 เดือน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ใช้อ้างอิงในการปล่อยกู้กันระหว่างธนาคารในปริมาณมากๆ โดยที่ผู้ลงทุนในพันธบัตรประเภทดังกล่าวจะได้รับดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน โดยดอกเบี้ยในแต่ละงวดที่ได้รับจะแตกต่างกันไปขึ้นกับว่าอัตราดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 3 เดือน ณ วันที่กำหนดคูปองสำหรับงวดถัดไป (reset date) เป็นเท่าใด โดย ธปท. จะประกาศอัตราดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ในช่วง 2 วันทำการก่อนวันก่อนวันเริ่มคำนวณดอกเบี้ยงวด 3 เดือนข้างหน้า

จากลักษณะข้างต้น อาจมองได้ว่าการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ประเภทนี้คล้ายกับการฝากประจำ หรือการลงทุนในตราสารหนี้ ระยะ 3 เดือน ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี โดยผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับจะปรับเปลี่ยนตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งข้อดีของการที่อัตราดอกเบี้ยปรับเปลี่ยนตามภาวะ คือผู้ลงทุนจะไม่พลาดโอกาสที่จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น หากเศรษฐกิจมีการขยายตัว และอยู่ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นซึ่งต่างจากการลงทุนในตราสารหนี้แบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ผู้ลงทุนอาจพลาดโอกาสได้รับดอกเบี้ยเพิ่มหากดอกเบี้ยในตลาดปรับสูงขึ้น เนื่องจากไปลงทุนระยะยาวโดยได้รับอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดคงที่ไว้แล้ว

นอกจากนี้ การลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัวยังเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ลงทุน เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาไปหาช่องทางการลงทุนใหม่ทุกๆ 3 เดือน และไม่ต้องนั่งลุ้นว่าเมื่อเงินลงทุนระยะสั้นครบกำหนดแล้ว สถาบันการเงินต่างๆ ยังจะมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจออกมารองรับความต้องการอีกหรือไม่

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าอัตราดอกเบี้ย BIBOR เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ใช้อ้างอิงกันในระดับ wholesale ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลังระหว่างอัตราดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 3 เดือน กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะเท่ากัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยระดับ retail จะเห็นได้ชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 3 เดือนอยู่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำมาโดยตลอด อีกทั้งเคลื่อนไหวสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ค่อนข้างดี (ตามแผนภาพ) โดยจากข้อมูลวันที่ 19 ส.ค. 54 อัตราดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 3 เดือน เท่ากับร้อยละ 3.54

เมื่อพิจารณาถึงอัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจ ในระยะที่ไม่ยาวมาก ร่วมกับปัจจัยต่างๆ อาทิ แนวโน้มความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ การปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากในเดือนสิงหาคมปีนี้เหลือ 50 ล้านบาท และเดือนสิงหาคมปีหน้าเหลือเพียง 1 ล้านบาท การกระจายความเสี่ยงโดยปันเงินออมบางส่วนมา อยู่ในรูปพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัวก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าลงทุนไม่น้อย โดยท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูล และติดต่อจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. ได้ระหว่างวันที่ 26 ส.ค. ถึง 6 ก.ย. 54 ผ่านทางสาขาของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 11 แห่ง ทั่วประเทศ

หมายเหตุ: ท่านผู้อ่านที่สนใจรายละเอียดพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. และอัตราดอกเบี้ย BIBOR สามารถ download หนังสือชี้ชวน และหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ ธปท. ภายใต้หัวข้อตลาดการเงิน (www.bot.or.th)

* บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2554

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ