ปาฐกถาพิเศษ
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
“มองเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ผ่านสายตาผู้ว่าแบงก์ชาติ” ในโอกาสครบรอบ 72 ปีแห่งการสถาปนาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จัดโดย สมาคมนิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ
วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2554 เวลา 20.00-21.00 น.
เรียน ท่านคณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อดีตคณบดีทุกท่าน
ผู้บริหาร สมาคมนิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาในค่ำคืนนี้ในโอกาสที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสถาปนาครบ 6 รอบ นับเป็นเวลาที่ยาวนานถึง 72 ปี ที่สถาบันแห่งนี้ได้ทำหน้าที่ผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้แก่ประเทศของเรา และประสบความสำเร็จในพันธกิจด้วยดีตลอดมา
สำหรับหัวข้อในวันนี้ คือ “มองเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ผ่านสายตาผู้ว่าแบงก์ชาติ” ซึ่งเป็นหัวข้อที่น่าจะอยู่ในความสนใจของทุกท่านในที่นี้ โดยเฉพาะท่านที่อยู่ในแวดวงธุรกิจ ซึ่งต้องติดตามความเป็นไปของเศรษฐกิจอยู่เป็นประจำ นับเป็นโอกาสอันดีที่ผมจะได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังให้ทุกท่านได้ทราบกัน
ในช่วงที่ผ่านมา ทุกท่านคงทราบดีว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัจจัยลบต่างๆ หลายประการทั้งราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์ที่เร่งตัวสูง ภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงผลกระทบจากภัยพิบัติในญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งขณะนี้ได้คลี่คลายลงแล้ว การส่งออกในช่วงที่ผ่านมาก็ขยายตัวได้ดี แม้จะมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยานยนต์อันเนื่องมาจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น แต่การส่งออกสินค้าอื่นๆ ก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อมองโดยรวม เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกถือว่าขยายตัวในเกณฑ์ดี สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังนั้น หากมองผ่านสายตาของผม ก็คิดว่ามีประเด็นที่สำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยในส่วนแรก ผมจะกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ว่าจะมีทิศทางอย่างไร และส่วนที่สอง จะเป็นการชี้ให้เห็นถึงความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ซึ่งทุกภาคส่วนต่างก็มีบทบาทสำคัญในการเตรียมรับมือกับความท้าทายเหล่านั้น
ส่วนแรก ผมเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปียังมีแรงส่งให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง และการขยายตัวของทั้งปีจะกลับเข้าสู่แนวโน้มปกติหลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์การเงินโลกที่เกิดขึ้นในปี 2551 เป็นต้นมา ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังนี้ แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจะมาจากการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยด้านการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคคาดว่ายังไปต่อได้ จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับสูงตามแนวโน้มราคาสินค้าเกษตร ภาวะการจ้างงานดีต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ และคนที่ทำงานอยู่นอกภาคเกษตรกรรมก็มีจำนวนชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายในเกณฑ์ดี ด้านการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากที่มีแรงส่งมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่อั้นมานานจากปัจจัยการเมืองที่ยืดเยื้อต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2549 ตามมาด้วยวิกฤตการณ์การเงินโลก แม้เครื่องชี้การลงทุนจะแผ่วลงชั่วคราวในช่วงไตรมาสสอง จากผลกระทบของภัยพิบัติในญี่ปุ่นและความไม่แน่นอนทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งใหม่ แต่การลงทุนในระยะข้างหน้าน่าจะขยายตัวได้ดีตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง การใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้น และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งก็สอดคล้องกับผลสำรวจของแบงก์ชาติที่ชี้ว่า ผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มที่จะลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตต่อไป ความต้องการสินเชื่อทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังคงเพิ่มขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดี
ในภาพรวมจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังมีแรงส่งให้ก้าวไปข้างหน้าได้ต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ในภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 นี้ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งทางแบงก์ชาติ คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 ในปีนี้ และร้อยละ 4.2 ในปีหน้า ซึ่งถือว่า เป็นการเติบโตใกล้ระดับที่เต็มศักยภาพแล้ว เราจึงเห็นตลาดแรงงานที่ตึงตัว และมีแรงกดดันต่อต้นทุนและราคา อย่างต่อเนื่องผมมองว่า เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายที่อยู่รอบด้าน จากปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งผมกำลังจะกล่าวต่อไปในส่วนที่สอง คือความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นมุมมองทั้งในช่วงครึ่งปีหลัง และต่อเนื่องไปถึงปีหน้า โดยความท้าทายที่ผมอยากจะหยิบยกในวันนี้มี 4 ด้านด้วยกัน
ความท้าทายด้านแรก คือ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศ G3 ที่คาดว่าจะยังชะลอตัวต่อไปเป็นเวลานาน เนื่องจากมีปัญหาโครงสร้างที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีภาคที่อยู่อาศัยและตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่นโยบายการเงินนั้นเรียกได้ว่าหมดกระสุน เพราะลดดอกเบี้ยไม่ได้อีกแล้ว ส่วนกระสุนทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีจำกัดตามแผนลดการใช้จ่ายของภาครัฐ หลังการขยับเพดานหนี้ให้สูงขึ้น นอกจากนี้ การที่พันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือยังเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมที่กระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการฟื้นตัวในระยะต่อไปอีกด้วย ด้านกลุ่มประเทศยูโร ยังคงมีปัญหาหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่รอการสะสาง ซึ่งหากมีแนวทางการแก้ปัญหาที่จริงจังในระดับผู้นำประเทศและมีความชัดเจนขึ้น ก็จะเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นในระยะสั้น แต่ในระยะยาว การแก้ปัญหาในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ง่าย ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่ปัญหาอาจลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในกลุ่มได้อีก สำหรับญี่ปุ่นแม้ฟื้นตัวจากภัยพิบัติในช่วงครึ่งปีแรกชัดเจนและมีการเร่งฟื้นฟูประเทศในระยะต่อไป แต่ภาครัฐก็มีกระสุนทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างจำกัดเช่นกัน เนื่องจากมีภาระผูกพันด้านการคลังและหนี้สาธารณะในระดับสูง
จากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G3 โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป คาดว่าจะส่งผลกระทบให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอตัวลงได้ และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศมายังเอเชียรวมถึงไทยได้ เนื่องจากกลุ่ม G3 เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ดังนั้น การที่เศรษฐกิจกลุ่ม G3 ชะลอตัวลงอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยบ้าง โดยผลกระทบส่วนใหญ่คาดว่าจะมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นหลัก สำหรับตลาดส่งออกในยุโรปนั้น คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบไม่มาก หากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะกลุ่มประเทศ PIIGS ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.8 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย นอกจากนี้ การที่ไทยมีการกระจายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเอเชียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลอดจนกระจายสินค้าให้หลากหลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยลดทอนผลกระทบได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี หากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักไม่ลุกลามจนส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ มากนัก คาดว่าจะไม่กระทบแรงส่งของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมากนัก แต่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกซึ่งขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ความท้าทายด้านที่สอง คือ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวในระดับสูง โดยมีสาเหตุที่สำคัญ 3 ประการ คือ (1) ด้านอุปสงค์หรือความต้องการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศยังขยายตัวตามเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยยังถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก (2) ด้านอุปทานหรือต้นทุนการผลิต แม้จะมีแนวโน้มแผ่วลงบ้าง จากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักอย่างสหรัฐฯ และยุโรป แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก และ (3) ด้านการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อไปได้ ทำให้ประชาชนยังคาดการณ์ว่าราคาสินค้าและบริการจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต รวมถึงการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้ออาจสูงขึ้นจากแผนการใช้จ่ายของภาครัฐในระยะต่อไป และนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ภายใต้ภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจยังเติบโตดี ผู้ประกอบการจึงยังสามารถส่งผ่านต้นทุนสินค้าไปยังผู้บริโภคได้
จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง จนเติบโตในระดับใกล้เต็มศักยภาพแล้ว ประกอบกับเงินเฟ้อเร่งตัวชัดเจน นโยบายการเงินจึงจำเป็นต้องมีบทบาทช่วยชะลอไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรงเกินไป โดยที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้ดอกเบี้ยในตลาดการเงินปรับเข้าสู่ระดับปกติ หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำเป็นพิเศษมานานเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์การเงินโลก ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติในช่วงที่ผ่านมาได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบโดย กนง. และเป็นการปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้แรงส่ง (momentum) ของเศรษฐกิจต้องเสียไป อย่างไรก็ดี แม้จะได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้วแต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในปัจจุบันยังติดลบประมาณร้อยละ 0.65 ซึ่งนับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย การปล่อยให้ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวดีแล้วย่อมไม่เป็นผลดี อาจนำไปสู่ความไม่สมดุล เช่น การออมเงินของประชาชนลดลง การใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นจนเกินตัว รวมถึงการเกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป นอกจากจะต้องประเมินความเสี่ยงของเงินเฟ้อแล้ว ยังจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยด้วย เพื่อให้นโยบายการเงินสอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หากนโยบายการเงินสามารถควบคุมแรงกดดันและการคาดการณ์เงินเฟ้อได้ ก็จะช่วยรักษาต้นทุนของภาคธุรกิจให้อยู่ในระดับต่ำได้ในระยะยาวได้
อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจควรเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะยาวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อลดต้นทุนของธุรกิจ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ อันจะเป็นการสร้างจุดแข็งของสินค้าและบริการของธุรกิจเพื่อเน้นการแข่งขันเชิงคุณภาพมากกว่าราคา ซึ่งผมเห็นว่าแนวทางการปรับตัวนี้ไม่เพียงเป็นการสร้างเกราะป้องกันเงินเฟ้อให้กับธุรกิจได้อย่างแท้จริง แต่ยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในระยะยาวอีกด้วย
ความท้าทายด้านที่สาม คือ แนวโน้มของเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาทที่ยังคงมีความผันผวน เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจของกลุ่ม G3 จะฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ลักษณะเช่นนี้จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มจะไหลเข้ามายังภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นแต่อาจผันผวนได้ทั้งสองทิศทางตามภาวะตลาดในแต่ละช่วง
ทุกท่านคงยอมรับว่า แนวโน้มดังกล่าวเกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ยากจะฝืนหรือหลีกเลี่ยงได้ แต่สิ่งที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นในวันนี้ คือ แนวโน้มนี้เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายแก่ภาคธุรกิจในด้านโอกาสนั้น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะเอื้อต่อการนำเข้าเพื่อการบริโภคและลงทุน โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนหรือเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ถูกลง เพื่อปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงยังสร้างโอกาสให้ธุรกิจไทยที่ต้องการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศด้วย
นอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจแล้ว ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและอาจผันผวนได้สองทิศทางยังเป็นความท้าทายที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการสร้างความคุ้นเคยในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ที่ผ่านมา แบงก์ชาติได้เข้าไปดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เคลื่อนไหวรุนแรง จนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจและการปรับตัวของภาคธุรกิจ แต่เราคงฝืนแนวโน้มของตลาดไม่ได้ ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องดูแลความเสี่ยงเองด้วย โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะสั้น ซึ่งผมเห็นว่า เรื่องนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะต่อธุรกิจขนาดเล็กซึ่งผลประกอบการมีความอ่อนไหวต่อค่าเงินได้มากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้น แบงก์ชาติจึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมาโดยตลอด ทั้งในแง่ของการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเครื่องมือต่างๆ และในแง่ของการผ่อนคลายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังมีแนวนโยบายเกี่ยวกับการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะยาว เพื่อเพิ่มความสมดุลของเงินทุนระหว่างขาเข้าและขาออก โดยจัดทำแผนแม่บทการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะมีการประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นระยะๆ ภายในสิ้นปีนี้
ส่วนความท้าทายด้านสุดท้าย มาจากแนวนโยบายการคลังในระยะต่อไป ภายใต้รัฐบาลใหม่ที่มีแนวโน้มใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจุบันเศรษฐกิจขยายตัวดีใกล้เต็มศักยภาพการผลิตและมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่แล้ว ทำให้ความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง และการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศอาจนำไปสู่เงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้ หากเปรียบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนกับการขับรถยนต์ ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้เหยียบคันเร่งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจนพ้นจากวิกฤตมาระยะหนึ่งแล้วการเร่งเครื่องยนต์ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไปอาจทำให้เครื่องร้อนและพังเสียหายได้ ขณะนี้ภาครัฐจึงควรผ่อนคันเร่งลงบ้าง เพื่อถนอมเครื่องยนต์และประคองให้รถยนต์วิ่งอยู่ในเส้นทางได้อย่างมั่นคงและปลอดภัยยิ่งไปกว่านั้น การขับเคลื่อนในระยะยาวภาครัฐจำเป็นต้องลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์หรือลงทุนซื้อเครื่องยนต์ใหม่มาเสริมให้มีสมรรถนะดีขึ้น กล่าวคือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะเป็นการยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจให้สามารถโตได้มากขึ้นโดยไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อและเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงช่วยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนของภาครัฐมากขึ้นด้วย (crowding in)
อย่างไรก็ดี จากบทเรียนวิกฤตหนี้ในยุโรป ตลอดจนปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูงของสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นความสำคัญของวินัยทางการคลัง ซึ่งเป็นที่จับตามองมากขึ้น ภาครัฐจึงควรระมัดระวังการใช้จ่าย เพื่อไม่ให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจนเกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง และกลายเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพด้านการคลัง และความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว
ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและฐานะทางการคลังของไทย ภาครัฐจึงควรจัดลำดับความสำคัญของนโยบาย รวมทั้งทยอยดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินศักยภาพและเกิดผลกระทบรุนแรงต่อเงินเฟ้อ โดยมุ่งใช้นโยบายต่อกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้การใช้จ่ายเกิดประโยชน์สูงสุด และยึดกรอบวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันควรเร่งรัดการปฏิรูปโครงสร้างทางการคลังให้เกิดความสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่ายเพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวด้วย
มาถึงจุดนี้ ผมอยากจะย้ำว่า ผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของภาครัฐ หรือ แบงก์ชาติต่างก็มีเป้าหมายเศรษฐกิจเดียวกันคือ การเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและทั่วถึง ซึ่งในส่วนของแบงก์ชาติก็ได้ยึดมั่นในเป้าหมายนี้มาโดยตลอด โดยในส่วนของแบงก์ชาติเองมีหน้าที่หลักคือ การรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน โดยการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ตลอดจนความมั่นคงและความมีประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนทุกท่านในที่นี้คงเห็นพ้องต้องกันว่า ทั้งเป้าหมายเศรษฐกิจของประเทศและเป้าหมายของแบงก์ชาติต่างก็เป็นเป้าหมายในระยะยาวที่ต้องอาศัยการมองไกลไปข้างหน้าทั้งสิ้น การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบโดยไม่หวังเพียงผลดีในระยะสั้นที่อาจส่งผลกระทบทางลบที่ยากจะแก้ไขในระยะยาว ทั้งนี้ แบงก์ชาติเองก็พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการดูแลเศรษฐกิจให้ลุล่วงตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้
สุดท้ายนี้ ผมอยากจะสรุปสั้นๆ ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังมีแรงส่งให้เดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง ที่เปรียบเสมือนกับเมฆหมอกที่บดบังทัศนวิสัยของเรา ดังนั้น การจะเดินเครื่องต่อไปข้างหน้าจึงต้องเตรียมพร้อมรับความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ แนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาทที่ยังมีความผันผวน รวมถึงความท้าทายจากแนวนโยบายการคลังของภาครัฐ แต่ไม่ว่าเศรษฐกิจไทยต้องเจอกับความท้าทาย หรืออุปสรรคขวากหนามเพียงใด ผมเชื่อว่า หากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐภาคธุรกิจ และแบงก์ชาติมีความพร้อมในการรับมือต่อความท้าทายเหล่านั้น ก็จะสามารถนำพาเศรษฐกิจไทย ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและแข็งแกร่งต่อไปได้
ขอบคุณครับ
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย