สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนกรกฎาคม ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 2, 2011 14:13 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 17/2554

เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนกรกฎาคม

เศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมขยายตัวต่อเนื่อง ตามการผลิตภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวขยายตัว นอกจากนี้อุปสงค์ในต่างประเทศยังมีต่อเนื่องโดยเฉพาะยางพารา เนื่องจากการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์เข้าสู่ภาวะปกติในเดือนนี้ ด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากรายได้ภาคเกษตรที่อยู่ในระดับสูงตามราคาสินค้าเกษตร แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ภาคการผลิต ผลผลิตภาคการเกษตรเร่งขึ้นร้อยละ 5.7 ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันเป็นสำคัญ เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและพื้นที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตยางพาราปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ด้านอุปสงค์ต่างประเทศยังมีต่อเนื่องทำให้การส่งออกยางยังขยายตัว แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา และวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อของจีนก็ตาม ทำให้ราคาพืชผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.1 โดยราคายางและปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 และ 19.3 ส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.5 จากเดือนเดียวกันปีก่อน ด้านผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เร่งขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 10.1 ในเดือนก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตยางพาราแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง และไม้ยางพาราแปรรูป เนื่องจาก อุปสงค์จากจีนและญี่ปุ่นที่เป็นตลาดหลักยังมีต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นตามปริมาณวัตถุดิบ

ภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 30.8 ตามเศรษฐกิจเอเชียที่ขยายตัว ทำให้นักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย จีน และเกาหลี เพิ่มขึ้น

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เนื่องจากรายได้จากภาคการผลิตและการท่องเที่ยวอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสะท้อนได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการจดทะเบียนรถใหม่ทุกประเภทยังขยายตัว แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น

การลงทุนโดยรวม ชะลอลงตามดัชนีการลงทุนภาคการก่อสร้าง โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง และทุนจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลรายใหม่ลดลง ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ และเงินทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรายใหม่เพิ่มขึ้น

การส่งออก มีมูลค่า 2,044.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวสูงต่อเนื่องจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 64.0 ตามมูลค่าส่งออกยางพาราที่เร่งขึ้นเป็นสำคัญ จากอุปสงค์ในต่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นสูง ได้แก่ อาหารบรรจุกระป๋อง และน้ำมันปาล์ม

ทางด้านสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ขยายตัวประมาณร้อยละ 16.5 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการเงินทุนหมุนเวียน และสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นขณะเดียวกันเงินฝากขยายตัวประมาณร้อยละ 13.9 เป็นผลจากขยายฐานเงินฝากที่มีผลิตภัณฑ์เงินฝากเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ และรักษาฐานลูกค้าในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นประกอบกับรายได้เกษตรกรอยู่ในเกณฑ์ดี

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.79 ตามการปรับราคาสินค้าบางรายการในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น อาทิ เนื้อสัตว์ และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น รวมทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้าซึ่งปรับเพิ่มเนื่องจากในปีก่อนมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพในการลดค่าใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร.0-7427-2000 ต่อ 4346 e-mail: Somtawis@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ