สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนกรกฎาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 1, 2011 14:24 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 16/2554

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกรกฎาคม 2554 ขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากเดือนก่อน ทั้งด้านอุปทานในภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม และด้านอุปสงค์ จากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน สำหรับด้านการเบิกจ่ายของภาครัฐลดลงจากงบไทยเข้มแข็งเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 4.24 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ที่มีอัตราร้อยละ 4.27

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้
1. ด้านการผลิต

ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชผลสำคัญสูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.3 ขยายตัวลดลงจากเดือนก่อน โดยดัชนีราคาพืชผลเกษตรหดตัวร้อยละ 1.6 ตามราคาหัวมันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขณะที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าว และยางพารา เป็นสำคัญ ข้าวเปลือกหอมมะลิ มีราคาเฉลี่ยเกวียนละ 14,019 บาท สูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.8 เพิ่มขึ้นน้อยกว่าเดือนก่อน เนื่องจากพ่อค้ายังมีสต็อกเพียงพอ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการประมูลข้าวของรัฐบาลเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ในขณะที่ข้าวเปลือกเหนียวมีราคาเฉลี่ยเกวียนละ 15,773 บาท สูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.1 เพิ่มขึ้นน้อยกว่าเดือนก่อนเช่นกัน หัวมันสำปะหลัง ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.21 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.6 ตามราคาส่งออก ประกอบกับผู้ส่งออกยังมีสต็อกเพียงพอต่อการส่งมอบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แม้ราคายังอยู่ในเกณฑ์ดีเฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.43 บาท แต่ก็ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.2 ยางพารา ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ยังอยู่ในเกณฑ์ดีเฉลี่ยกิโลกรัมละ 131.2 สูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.2 แต่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าเดือนก่อน เนื่องจากความต้องการจากตลาดต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมถุงมือยางในประเทศมาเลเซีย

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.7 ขยายตัวลดลงจากเดือนก่อน โดยอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) หดตัวร้อยละ 12.1 จากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ชะลอลง ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัวร้อยละ 6.7 หลังจากที่มีการเร่งการผลิตในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลเพิ่มขึ้น 1.3 เท่า ตามความต้องการบริโภคในประเทศและต่างประเทศ

ภาคการค้า ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.6 และขยายตัวจากเดือนก่อน ตามการขยายตัวของการค้าส่ง ส่วนใหญ่เป็นการค้าในหมวดสินค้าไม่คงทน โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดวัตถุดิบทางการเกษตรและสัตว์มีชีวิต สำหรับการค้ายานยนต์ ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัว จากการผลิตรถยนต์ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้สามารถส่งมอบรถได้เร็วขึ้น ขณะที่การค้าปลีกขยายตัวลดลงในทุกหมวดสินค้าตามรายได้ของเกษตรกร

2. ด้านอุปสงค์

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นน้อยลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และร้อยละ 15.1 ตามลำดับขณะที่การจดทะเบียนรถจักรยานยนต์และรถบรรทุกส่วนบุคคลยังขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 22.0 และร้อยละ 7.4 ตามลำดับ การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นน้อยลงจากเดือนก่อน แต่ยังจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเครื่องชี้สำคัญคือพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 58.7 จากการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในจังหวัดขอนแก่นและการก่อสร้างโรงภาพยนตร์ในจังหวัดอุดรธานี นอกจากนี้ มูลค่าเงินทุนของโรงงาน อุตสาหกรรมตั้งใหม่เพิ่มขึ้น 2.2 เท่า ส่วนใหญ่ เป็นโรงงานผลิตยางแท่ง/ยางเครป และโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า สำหรับ เงินทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 77.1 จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นสำคัญ ส่วนแนวโน้มการลงทุนขยายตัวต่อเนื่องโดยมูลค่าโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแม้ว่าจะหดตัวร้อยละ 91.2 หากไม่นับรวมโครงการขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนหลายพันล้านในช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วจะขยายตัวที่ร้อยละ 64.5 จากการลงทุนในโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเป็นสำคัญ

ภาคการคลัง รายได้ของภาครัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีอากรทั้งสิ้น 3,117.7 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.3 ตามการลดลงของภาษีสุรา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ประกอบกับภาษีมูลค่าเพิ่มมีอัตราเพิ่มน้อยลงตามอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลังเป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณมีจำนวน 20,697.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.4 ทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน โดยเฉพาะการเบิกจ่ายในหมวดเงินเดือนค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม หากนับรวมการเบิกจ่ายของโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 การเบิกจ่ายรวมลดลงร้อยละ 9.2

3. ภาคต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย-ลาว ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 66.6 เพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกและการนำเข้าสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปลาวเพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดน้ำมันปิโตรเลียม และหมวดวัสดุก่อสร้างและเหล็ก สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปลาวลดลง ได้แก่ หมวดผ้าผืนและอุปกรณ์ตัดเย็บ สำหรับเสื้อผ้าและรองเท้า หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดสินแร่ โดยเฉพาะสินแร่ทองแดง หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ หมวดเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย หมวดผลิตภัณฑ์เกษตร และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์ ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าลดลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์

การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา (ด้านจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี) ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 51.2 เนื่องจากไม่มีการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านด่านช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ และด่านช่องอานม้า จังหวัดอุบลราชธานี อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดสินค้าบริโภคในครัวเรือนและหมวดวัสดุก่อสร้างและเหล็ก สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานพาหนะและอุปกรณ์ ส่วนสินค้านำเข้าที่ลดลง ได้แก่ ของป่า (ชัน ยางรง พรรณไม้)

4. ภาวะการเงิน

ธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน มีเงินฝากคงค้าง 471.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13.0 จากเงินฝากออมทรัพย์ สำหรับสินเชื่อคงค้าง 486.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.0 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวทั้งสินเชื่อภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ สะท้อนจากสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ขยายตัว สำหรับสินเชื่อภาคธุรกิจที่ขยายตัว ได้แก่สินเชื่อเพื่อการบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อเพื่อการผลิต และสินเชื่อเพื่อการค้าปลีกค้าส่ง อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากในเดือนนี้อยู่ที่ 103.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 100.6

สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน มีเงินฝากคงค้าง 258.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.9 ขยายตัวต่อเนื่อง จากการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะเงินฝากประเภทลุ้นรางวัลและเงินฝากระยะยาว โดยขยายตัวจากเงินฝากของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับสินเชื่อมียอดคงค้าง 658.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.2 แต่เพิ่มขึ้นน้อยลงจากเดือนก่อน เป็นผลจากสินเชื่อของธนาคารอาคารสงเคราะห์ลดลง

5. เสถียรภาพราคาและการจ้างงาน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 4.24 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.27 โดยราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 6.45 เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาเครื่องประกอบอาหาร น้ำตาล เนื้อสัตว์ และข้าวเป็นสำคัญอย่างไรก็ตาม ราคาไข่ในเดือนนี้ชะลอลงจากผลผลิตไข่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าในหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 2.76 เป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 13.25 และค่าไฟฟ้าสูงขึ้นร้อยละ 16.89 เนื่องจากมีการยกเลิกมาตรการการใช้ไฟฟ้าฟรี 0-90 หน่วย มีผลทำให้ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยเพิ่มขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.02

ภาวะการจ้างงาน การจัดหางานของภาครัฐ ในเดือนนี้มีผู้สมัครงาน ตำแหน่งงานว่างและการบรรจุงานลดลง โดยมีผู้สมัครงาน 8,716 คน ตำแหน่งงานว่าง 4,192 อัตราและมีการบรรจุงาน 5,974 คน ลดลงร้อยละ 10.1 ร้อยละ 10.6 และร้อยละ 8.8 ตามลำดับ

แรงงานไทยจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มีจำนวน 8,434 คนลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.0 ตามการลดลงของแรงงานที่เดินทางไปทำงานในประเทศสิงคโปร์สาธารณรัฐเกาหลี ฮ่องกง และบรูไน ขณะที่แรงงานที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์มีจำนวน 1,691 คนเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28 สำหรับแรงงานที่เดินทางไปส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากจังหวัดชัยภูมิอุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่นและหนองบัวลำภู

ส่วนเศรษฐกิจภาค

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม: นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา เศรษฐกรอาวุโส

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

โทร: 0-4333-3000 ต่อ 3411

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ