แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกรกฎาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 31, 2011 14:37 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 34/2554

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม 2554 ชะลอลง โดยการผลิตทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมลดลง ส่วนอุปสงค์ในประเทศชะลอลง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวดี สำหรับอัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อและต้นทุนยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

การผลิตหดตัวทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.3 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามผลผลิตข้าวที่ลดลงจากการรณรงค์ให้เกษตรกรงดทำนาปรังรอบสอง ตั้งแต่ต้นปี ด้านราคาสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.8 ชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากปริมาณสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดมากขึ้นทั้งผลไม้ ยางพารา ปาล์มน้ำมันและมันสำปะหลัง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 2.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 1.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวในหลายอุตสาหกรรม ที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มหดตัวต่อเนื่องจากคำสั่งซื้อที่ชะลอลง ประกอบกับมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบหดตัวเป็นเดือนแรกตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวและสินค้าคงคลังเริ่มอยู่ในระดับสูง ส่วนการผลิตในหมวดเคมีภัณฑ์หดตัวชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงงาน อย่างไรก็ดี การผลิตในหมวดอื่นๆ ยังคงขยายตัวตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ

อุปสงค์ในประเทศ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ รวมทั้งปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินที่ลดลงจากการปรับขึ้นราคา นอกจากนี้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถจักรยานยนต์เนื่องจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์ ยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์กลับมาขยายตัวร้อยละ 10.1 หลังจากหดตัวใน 2 เดือนก่อนเพราะปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนนำเข้าจากญี่ปุ่น ขณะที่เครื่องชี้รายการอื่นขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งปริมาณนำเข้าสินค้าทุน พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล และปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ สอดคล้องกับสินเชื่อภาคธุรกิจที่เร่งขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 16.0 สำหรับภาครัฐยังมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยขาดดุลเงินสด 38.6 พันล้านบาท

อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวดีทั้งการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว โดยการส่งออกมีมูลค่ารวม 21,098 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 36.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน (หากไม่รวมทองคำ การส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 30.2)เป็นการขยายตัวในทุกกลุ่มสินค้า ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวและยางพาราขยายตัวดีทั้งด้านปริมาณและราคา ยานยนต์ส่งออกได้มากขึ้นหลังปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนคลี่คลาย พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกขยายตัวดีตามอุปสงค์จากจีนและอาเซียน สำหรับวิสัยทัศน์ เป็นองค์กรที่มองการณ์ไกล พนักงานมีความสามารถสูงและอุทิศตนเพื่อดูแลเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นความผันผวนได้อย่างราบรื่น

การท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมีจำนวน 1.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 21.5 เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียและรัสเซียเป็นสำคัญ

การลดลงของภาคอุตสาหกรรมและการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ ส่งผลให้การนำเข้าขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 13.1 (หากไม่รวมทองคำ การนำเข้าจะขยายตัวร้อยละ 21.1) เป็นการชะลอลงตามการนำเข้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบสำหรับผลิตพลาสติกที่หดตัวตามการปิดซ่อมบำรุงในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และการนำเข้าในหมวดยานยนต์ที่หดตัวตามการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป ขณะที่การนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าในหมวดอื่นยังขยายตัวดี โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงที่เร่งตัวขึ้นหลังจากปิดปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันในเดือนก่อน

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ อัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อและต้นทุนยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 4.08 และ 2.59 ตามลำดับ และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน สำหรับเสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินเกินดุล และเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ