ปาฐกถาพิเศษ: "ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้บทบาทของภูมิภาคเอเชียที่มีความท้าทายมากขึ้น"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 12, 2011 11:36 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปาฐกถาพิเศษ

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

“ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้บทบาทของภูมิภาคเอเชียที่มีความท้าทายมากขึ้น”

ในโอกาสครบรอบ 43 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ณ ห้องออคิดบอลรูม 1-2 ชั้น 2 โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2554

เรียน ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมรู้สึกยินดีที่ได้มาร่วมงานในโอกาสครบรอบ 43 ปีแห่งการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ สภอ. ทั้งนี้ เป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษมาแล้ว ที่ สภอ. ได้ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และวิจัย กิจกรรมในสาขาเศรษฐกิจสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินการสำรวจภาวะธุรกิจและผลกระทบจากนโยบายการเงินภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ธปท. กับผู้ประกอบการ รวมทั้งจัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน

หัวข้อที่ผมจะพูดในวันนี้ คือ “ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้บทบาทของภูมิภาคเอเชียที่มีความท้าทายมากขึ้น” ซึ่งความท้าทายของเอเชียในปัจจุบันก็คือ การก้าวขึ้นมาเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ซึ่งเป็นผลจากบริบทใหม่ของเศรษฐกิจโลก ส่วนความท้าทายที่ใกล้ตัวเข้ามาก็คือ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 ซึ่งผมจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้ ทุกฝ่ายจะต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายที่สำคัญเหล่านี้ เพื่อลดผลกระทบในเชิงลบ

สำหรับในส่วนของ ธปท. นั้น ผมจะกล่าวถึงนโยบายการเงิน และนโยบายอื่นๆของ ธปท.เพื่อรองรับและเปลี่ยนความท้าทายเหล่านั้นให้เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย โดยวันนี้ ผมจะขอแบ่งการพูดออกเป็น 5 ส่วน คือ ส่วนแรกจะกล่าวถึงเอเชียและอาเซียนภายใต้บริบทใหม่ของเศรษฐกิจโลก ส่วนที่สอง ภาพรวมการรวมตัวของอาเซียน ส่วนที่สาม จะกล่าวถึง AEC หรือที่เรียกกันว่า ASEAN Economic Community และผลกระทบต่อไทย ส่วนที่สี่ จะกล่าวถึงแนวการเปิดเสรีของไทยโดยสังเขป และส่วนสุดท้าย คือ บทบาทของนโยบายการเงินและ ธปท. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ AEC

ส่วนแรก เอเชียและอาเซียนภายใต้บริบทใหม่ของเศรษฐกิจโลก

ทุกวันนี้เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงมากขึ้น หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจล่าสุดประเทศเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มจะก้าวขึ้นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าประเทศเศรษฐกิจหลัก อันจะเห็นได้จากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อยู่ในภาวะถดถอยที่ยาวนาน ส่วนกลุ่มสหภาพยุโรป ยังมีปัญหาหนี้สาธารณะและสถาบันการเงิน ซึ่งมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายและความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้ ญี่ปุ่นเองก็ประสบกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาอย่างเรื้อรัง แถมยังถูกซ้ำเติมจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังได้ประเมินไว้ว่า สัดส่วนของเศรษฐกิจเอเชียใน GDP โลกได้เพิ่มอย่างก้าวกระโดดจากร้อยละ 8 เมื่อต้นทศวรรษ 1980 เป็นร้อยละ 25 ในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ในปี 2015 สะท้อนถึงบทบาทของเอเชียในเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียดังกล่าวข้างต้น มาจากความต้องการบริโภคสินค้าภายในประเทศที่สูงขึ้น จากจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มอย่างมาก โดยเฉพาะที่จีนและอินเดีย การที่ชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้นนั้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทมากขึ้น จากการผลิตเพื่อการค้าส่งออกไปยังประเทศเศรษฐกิจหลัก จึงเป็นแรงจูงใจให้แรงงานจำนวนมากในภาคเกษตรซึ่งมีรายได้น้อยย้ายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีรายได้สูงกว่า การที่แรงงานจำนวนมากมีรายได้สูงขึ้นจนกลายเป็นชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นนั้น ทำให้กลุ่มนี้กลายเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญภายในภูมิภาค และทดแทนตลาดส่งออกไปประเทศเศรษฐกิจหลัก จากบริบทที่เปลี่ยนไปของเศรษฐกิจโลกดังกล่าว ทำให้เห็นว่า การรวมตัวเข้าสู่ AEC เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกันจะช่วยป้องกันและรับมือกับผลกระทบดังกล่าวได จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งโดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็ก เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ การรวมตัวเข้าสู่ AEC ยังทำให้อาเซียนได้รับความสนใจจากประเทศใหญ่ๆ หลายประเทศ เช่น จีนและอินเดีย ที่อยากเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจด้วย สิ่งที่น่าสังเกตของการรวมตัวของอาเซียนคือ ไม่ใช่ทำในลักษณะสร้างป้อมปราการแบบสหภาพยุโรปที่ inward-looking แต่ในทางตรงกันข้ามเป็นการรวมตัวกันที่ยื่นมือไปเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค หรือ outward-reaching ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขตการค้าเสรีกับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้แต่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ หรือจัดทำความร่วมมือทางการเงินกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีภายใต้แนวคิดริเริ่มเชียงใหม่ เป็นต้น โดยปัจจุบันนี้ เอเชียถือว่าเป็นศูนย์กลางการผลิต (production hub) และศูนย์กลางทางการค้าของโลกไปแล้ว

จากการที่การค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่องทำให้ประชากรเอเชียมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ทำให้มีความต้องการด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้นเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดปรากฎการณ์คอขวดที่การขยายตัวของเศรษฐกิจโตเร็วกว่าระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการจัดสรรเงินออมจำนวนมากเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นแหล่งเงินทุนหลักที่มั่นคงภายในภูมิภาค เพื่อการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ความจำเป็นนี้จึงนำไปสู่การพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน

ส่วนที่สอง ภาพการรวมตัวของอาเซียน

ที่ผ่านมาภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับ AEC มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกำหนดการที่จะรวมตัวเป็น AEC อย่างเต็มรูปแบบในปี 2015 กำลังใกล้เข้ามาทุกที เหลือเวลาอีก 3 ปีกว่าเท่านั้น โดยจริงๆ แล้ว AEC ในปี 2015 เป็นเพียงจุดหมายหนึ่งในการเดินทางของอาเซียนเท่านั้น ไม่ใช่ปลายทางสุดท้ายของการเดินทาง แต่จุดหมายนี้มีความพิเศษตรงที่จะสร้างความชัดเจนและจริงจังในการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนมากขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อมุ่งเน้นให้อาเซียนเปน็ ตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน

ทั้งนี้ การรวมตัวเป็น AEC 2015 ไม่ได้เพิ่งทำขึ้นในปีสองปีที่ผ่านมา แต่เป็นการสานต่อผลงานในอดีตของอาเซียน จากการก่อตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA (ASEAN Free Trade Area) ประมาณเกือบ 20 ปีที่แล้ว ซึ่ง AFTA เป็นการเปิดเสรีการค้าสินค้าอย่างเดียว และถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่งในกระบวนการเปิดเสรีของอาเซียน โดยประเทศสมาชิกหลักได้ทยอยลดภาษีสินค้านำเข้าในรายการสินค้าส่วนใหญ่จนเหลือ 0% ไปแล้วตั้งแต่ปี 2010 แต่ยังมีสินค้าอ่อนไหวที่แต่ละประเทศขอสงวนไว้ไม่ต้องลดภาษีนำเข้า ให้เหลือ 0% ในช่วงต่อไปคือ ในปี 2015 จะมีการเปิดเสรีการค้าสินค้าเพิ่มขึ้นอีก โดยประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) จะต้องลดภาษีนำเข้าให้เหลือ 0% รวมทั้งประเทศสมาชิกหลักจะต้องพิจารณาลดภาษีในรายการสินค้าอ่อนไหวที่เคยขอสงวนไว้ให้เหลือ 0% สำหรับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรีการค้าสินค้าด้วยนั้น จะมีการเจรจาระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อยกเลิกเป็นระยะๆ โดยมีเป้าหมายขจัดมาตรการเหล่านี้ให้หมดภายในปี 2018

การขจัดอุปสรรคด้านภาษีและมาตรการการค้าเหล่านี้คือเป็นหัวใจสำคัญของ AEC เพราะจะทำให้การค้าขายสินค้าทำได้อย่างเสรี เชื่อมอาเซียนเป็นตลาดเดียวกันสำหรับคนเกือบ 600 ล้านคน ส่วนการเปิดเสรีด้านอื่นๆ ได้แก่ ด้านการค้าบริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงาน ก็จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวด้วย นั่นคือ นักลงทุนอาเซียนสามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจในอาเซียนได้อย่างเสรี รวมทั้งปัจจัยการผลิตต่างๆ ก็สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี หรือ เสรียิ่งขึ้นด้วย

ดังนั้น เมื่อมอง AEC ในภาพรวมแล้วนั้น จะเห็นได้ว่ามีส่วนประกอบที่สำคัญสองส่วน คือ การรวมตัวและการเปิดเสรี ซึ่งการรวมตัว (Integration) หมายถึงการพึ่งพาและร่วมมือกันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนมากขึ้น เช่น ในด้านการค้ามีการเชื่อมโยงด้านการผลิตระหว่างประเทศสมาชิกหรือในด้านตลาดทุนมีการส่งเสริมการรวมตัวและพัฒนาตลาดทุนในอาเซียนให้มีมาตรฐานเดียวกันในรูปแบบของตราสารและผู้เล่นในตลาด มีการรวมกลุ่มหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่เป็นที่น่าสนใจของตลาดแต่ละแห่งในอาเซียน ที่เรียกว่า ASEAN Stars เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน

ส่วนการเปิดเสรี (Liberalization) จะหมายถึง การลดหรือยกเลิกกำแพงภาษีนำเข้า การยกเลิกหรือผ่อนคลายกฎเกณฑ์และข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้สินค้าและปัจจัยการผลิตสามารถเคลื่อนย้ายได้เสรีมากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนอาเซียนในธุรกิจภาคต่างๆ การเปิดเสรีเป็นเครื่องมือสำคัญที่อาเซียนใช้ในการทำให้เกิดการรวมตัวเพื่อไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจที่ผ่านมา การดำเนินงานตามแผนการจัดตั้ง AEC จนถึงปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่ดี โดยสำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้รายงานแผนงานสำหรับปี 2008-2009 ได้ดำเนินการไปแล้ว 84% ขณะที่แผนงานสำหรับปี 2010-2011 ก็ดำเนินการไปแล้ว 53%

ส่วนที่สาม AEC และผลกระทบต่อไทย

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบภายในป? 2558 จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเศรษฐกิจไทยในทุกด้าน ทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ การเคลื่อนย้ายการลงทุนและที่ควรจะให้ความสนใจมากขึ้นคือด้านแรงงานและเงินทุน

ในเรื่องของแรงงานนั้น ปัจจุบันผู้ประกอบการของไทยกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ อีกทั้งสังคมไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมชราภาพ ธนาคารโลกได้เคยรายงานว่า ประเทศไทยกำลังจะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาวในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า โดยไทยจะเข้าสู่สังคมชราภาพเร็วกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน ปัญหาเหล่านี้จะทำให้อุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานของไทย (Labour Intensive Industry) สูญเสียความความสามารถในการแข่งขัน จึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพจากการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน ซึ่งเมื่อเสริมกับวัตถุดิบที่จะมีราคาต่ำลงจากการได้รับอานิสงส์จาก AEC แล้ว ก็น่าจะทำให้อุตสาหกรรมไทยก้าวต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการยังคงต้องอาศัยแรงงานก็อาจทำได้โดยการย้ายฐานการผลิตไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีแรงงานจำนวนมากและราคาต่ำกว่า โดยใช้โอกาสจากการเปิดเสรีด้านการลงทุนและประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้กรอบ AEC

อย่างไรก็ดี การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือภายใต้ AEC จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดแรงงานฝีมือในอนาคต บุคลากรในวิชาชีพต่างๆ ของไทยจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาทักษะเพื่อรับมือกับการแข่งขันดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาษา ซึ่งบุคลากรไทยยังเสียเปรียบคู่แข่งอื่นๆ ในอาเซียนอยู่มากรวมทั้งการปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานที่เป็นสากล

สำหรับเรื่องเงินทุนนั้น การไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ของนักลงทุนไทยจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านบริการทางการเงิน ซึ่งการเปิดเสรีบริการทางการเงิน จะเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ของไทย สามารถเข้าไปเปิดสาขาในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อช่วยสนับสนุนการค้าการลงทุนของไทยได้ โดยผมจะได้กล่าวถึงแนวการเปิดเสรีของไทยโดยสังเขปต่อไปส่วนที่สี่ แนวการเปิดเสรีของไทยโดยสังเขป

ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน โดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีมี 3 ด้าน ได้แก่

ด้านที่หนึ่ง คือ การเปิดเสรีตลาดทุน ซึ่งได้มีการเชื่อมโยงตลาดทุนในอาเซียนเป็น platform เดียวกัน นักลงทุนต่างๆ สามารถเข้ามาลงทุนหรือระดมทุนในตลาดทุนของอาเซียนได้สะดวก รวดเร็ว จากการมีมาตรฐานและกฎระเบียบที่สอดคล้องกัน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา ASEAN products ให้มีความลึกและหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การจัดทำ ASEAN asset class ให้เป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั่วโลก ในที่สุด ต้นทุนทั้งการซื้อ-ขายและระดมทุนในตลาดอาเซียนจะลดลง P/E จะสูงขึ้น market cap จะใหญ่ขึ้น โดยสำหรับประเทศไทยเองก็ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อรองรับเป้าหมายของ AEC โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2012 ที่จะเปิดเสรีให้มีการทำธุรกิจหลักทรัพย์ได้เต็มรูปแบบ ซึ่งหมายความว่านักลงทุนจะมีทางเลือกมากขึ้นค่าใช้จ่ายลดลง แต่ในขณะเดียวกันบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ก็ต้องปรับตัวโดยการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ หรือร่วมมือกับหุ้นส่วนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อให้พร้อมรับการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้น

ด้านที่สอง คือ การเปิดเสรีบริการทางการเงิน ทั้งนี้ เนื่องจากการธนาคารเป็นสาขาที่มีบทบาทสูงต่อการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสาขาที่ค่อนข้างมีความอ่อนไหวอาเซียนจึงใช้หลักการเปิดเสรีแบบ ASEAN-X คือตามความพร้อมและให้สอดคล้องกับแผนของแต่ละประเทศ ดังเช่น แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะ 2 (2010-2014) ของไทย โดยขณะนี้ ธปท. ได้ร่วมมือกับธนาคารกลางอื่นๆ ในอาเซียนในหลายด้าน เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการกำกับดูแลสถาบันการเงินข้ามชาติ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเสรีในระยะต่อไป ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงิน และจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และภาคธุรกิจ ซึ่งสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่มขึ้นและลดต้นทุนทางการเงิน

ด้านที่สาม คือ การเปิดเสรียิ่งขึ้นของเงินทุน จะเป็นไปตามความพร้อมของแต่ละประเทศเช่นกัน โดยประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น โดยจะเน้นผ่อนคลายการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยมากขึ้น

ส่วนสุดท้าย บทบาทของนโยบายการเงินและ ธปท. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ AEC

การเปิดเสรีและการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน รวมทั้งบริบทใหม่ของเศรษฐกิจโลก จะทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมาสู่อาเซียนและประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทย โดยแนวโน้มค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นถือว่าเป็นสัญญาณที่บอกว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง และจะช่วยสร้างโอกาสในการนำเข้าสินค้าทุนและเทคโนโลยีที่มีต้นทุนถูกลง ซึ่งจะมีประโยชน์ในการปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันภายในภูมิภาคและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และยังสร้างโอกาสในการขยายการลงทุนไปยังประเทศที่มีทรัพยากรที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้ดี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน เงินทุนเคลื่อนย้ายก็มีโอกาสที่จะไหลออกไปจากประเทศไทยได้ ค่าเงินบาทจึงอาจผันผวนได้ 2 ทิศทาง ดังนั้น ธุรกิจจึงควรเตรียมพร้อมสร้างภูมิคุ้มกันในการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขยายตัวได้ดี ก็จะส่งผลให้มีความต้องการน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับสูง ประกอบกับนโยบายกระตนุ้ เศรษฐกิจของภาครัฐก็เป็นแรงกดดันเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง นโยบายการเงินจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการจัดการกับความท้าทายดังกล่าวได้ โดยการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม ดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวนจะทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคสามารถวางแผนตัดสินใจลงทุนและบริโภคได้อย่างเหมาะสม ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้พิจารณาอย่างรอบคอบในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อแล้ว ยังจะทำให้ดอกเบี้ยในตลาดการเงินปรับเข้าสู่ระดับปกติ หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำเป็นพิเศษมานานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์การเงินโลก อย่างไรก็ดี ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวในปัจจุบัน การปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องมาแล้วระยะหนึ่งก็ยังทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในปัจจุบันติดลบอยู่ประมาณร้อยละ 0.65 ซึ่งนับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค การที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบยาวนานขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง อาจนำไปสู่ความไม่สมดุล เช่น การออมเงินของประชาชนลดลง อาจทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ของธุรกิจและประชาชนเร่งขึ้นจนนำไปสู่ปัญหาฟองสบู่ในท้ายที่สุด

ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินนอกจากจะต้องมองให้ไกลเพื่อให้การกำหนดนโยบายทำได้อย่างทันท่วงทีแล้ว ยังต้องมองให้กว้างด้วยเพราะในปัจจุบันเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกันสูงขนึ้ เราจึงต้องพิจารณาความเสี่ยงต่างๆ ในเศรษฐกิจประเทศหลักและในกลุ่มอาเซียนเอง เพราะการส่งผ่านความเสี่ยงจากประเทศเหล่านั้นเป็นไปได้ง่ายขึ้น ในภาวะโลกที่เปลี่ยนบริบทไปในปัจจุบัน ซึ่งทำให้มีความจำเป็นที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะต้องดูแลสอดส่องเศรษฐกิจซึ่งกันและกันด้วย

นอกจากการดูแลเงินเฟ้อแล้ว ที่ผ่านมา ธปท. ก็ดูแลค่าเงินไม่ให้มีความผันผวนเกินไปและอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่จะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยในเวทีการค้าระหว่างประเทศแต่ก็ยังคงต้องอยู่ในพื้นฐานตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และการดูแลของ ธปท. ก็จะต้องไม่ทำให้ผู้ร่วมตลาดสามารถคาดการณท์ ศทางของค่าเงินและนำไปสู่การเก็งกำไรในที่สุดได?

ทั้งนี้ ถ้ามองบทบาทของนโยบายการเงินให้กว้างออกไปอีก จะเห็นว่านโยบายการเงินไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือเดียวในการรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจมหภาค (Macro-stability) แต่โดยลำพัง การที่ภาวะแวดล้อมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจการเงินในหลายมิติ โดยเฉพาะการไหลเข้าของเงินทุนระหว่างประเทศจำนวนมาก ดังนั้น ธปท. จึงนำเครื่องมือประเภท Macroprudential เช่น การจำกัดวงเงินสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เข้ามาช่วยในการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากการใช้นโยบายการเงินอีกด้วย

นอกจากนโยบายการเงินและมาตรการ macro-prudential แล้ว นโยบายอื่นๆ เช่น การพัฒนาเครื่องมือที่เอื้อให้ประชาชนสามารถป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ดีขึ้น และการพัฒนาขนาดและความลึกของตลาดการเงินผ่านความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ก็เป็นสิ่งที่ ธปท. จะพยายามทำเพื่อสร้างเสริมการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจต่อไป

นอกจากบทบาทด้านนโยบายต่างๆ ข้างต้นแล้ว ธปท. ยังมีบทบาทสำคัญอีกประการที่ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการรวมตัวและการเปิดเสรีในอาเซียน ซึ่งเป็นการดำเนินการไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นั่นก็คือการพัฒนาศักยภาพของประเทศที่ยังมีการพัฒนาไม่มากนัก ทั้งนี้ เนื่องจากระดับการพัฒนาของประเทศต่างๆ ควรต้องอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยการที่ไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย ประกอบกับมีสถานะทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศ CLMV ดังนั้น ธปท. จึงมีแผนงานในการมีบทบาทการเป็นตัวกลางในการพัฒนาศักยภาพ (capacity building) ของประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะความรู้ ความเข้าใจทางด้านการเงิน

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ในปัจจุบันนี้ ทุกประเทศทั่วโลก ต่างก็พัฒนาตนเองให้เดินไปข้างหน้า ทั้งนี้ บางประเทศอาจเดินได้เร็ว บางประเทศอาจเดินได้ช้า หรือบางประเทศก็เดินอยู่กับที่ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประเทศต้องมีหลักสำคัญคือต้องมีความยั่งยืน เพราะแม้ว่า เราจะเดินทางไปได้เร็วเท่าใด แต่เมื่อเราประสบปัญหาและไม่สามารถเดินต่อไปได้ เราก็จะถูกคนอื่นแซงไปในตอนท้าย และกลายเป็นว่าเราเดินถอยหลัง ฉะนั้นเราจึงควรพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนโดยการเดินไปพร้อมๆ กับเพื่อนร่วมเดินทางของเราที่จะต้องพึ่งพากันและกันและจะช่วยทำให้เราไปได้ไกลนั้น ก็คืออาเซียนนั่นเอง ดังคำโบราณที่ว่า “หากต้องการเดินทางได้เร็ว ให้เดินทางไปคนเดียว แต่หากต้องการเดินทางได้ไกล ให้ไปกันหลายคน” ดังนั้น การมีเพื่อนร่วมเดินทางจึงมิใช่ทางเลือก หากแต่เป็นความจำเป็นของประเทศไทยครับ

ขอบคุณครับ

--------------------------------------

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ