สรุปสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ครั้งที่ 24
โดย ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล (ในฐานะตัวแทนของกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา
วันที่ 24 กันยายน 2554
ในระหว่างการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (Worldbank) ปี 2554 ระหว่างวันที่ 21-25 กันยายน 2554 ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เป็นตัวแทนกลุ่มออกเสียงเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ (กลุ่มออกเสียงฯ ประกอบด้วยประเทศในภูมิภาค 13 ประเทศ) เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกองทุนการเงินระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 24 กันยายน โดยผู้ว่าการ ธปท. ได้มีสุนทรพจน์เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายของกองทุนการเงินระหว่างประเทศใน 4 ด้าน โดยสามารถสรุปได้ดังนี้
การประชุม IMFC ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้สภาพเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงมาก และมีความเสี่ยงสำคัญคือ ปัญหาหนี้สาธารณะ และปัญหาการระดมทุนของภาคธนาคาร ซึ่งได้ส่งผลให้สาธารณชนขาดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งส่งผลกระทบมายังประเทศเกิดใหม่ที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจดีด้วย
ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันส่งผลให้ต้องมีการดำเนินนโยบายที่เด็ดขาด ประเทศพัฒนาแล้วควรต้องมีแผนสร้างความยั่งยืนทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ที่น่าเชื่อถือ และยืดหยุ่นพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น สำหรับยุโรปนั้น มาตรการของผู้นำ Eurozone ที่เพิ่งประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นแนวทางที่ดี แต่ควรพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของภาคธนาคาร สร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งอาจต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ กองทุนการเงินฯ จึงควรมีบทบาทในเชิงรุกเพื่อร่วมหาทางออกและแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ ความพยายามแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย เป็นบทเรียนที่ชี้ว่าการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการเงินอย่างเข้มงวดได้ช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย
กองทุนการเงินฯ ต้องคอยประเมินให้มีเงินทุนที่เพียงพอต่อความต้องการของสมาชิก โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาด การเงินมีความผันผวนสูง โดยกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใตพ้ ร้อมให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านหน้าต่าง New Arrangements to Borrow (NAB) อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กองทุนการเงินฯ ควรให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประสบปัญหาอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการลุกลามของปัญหาที่อาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งควรมีการพัฒนาเครื่องมือหรือหน้าต่างการให้ความช่วยเหลือที่ไม่ก่อให้เกิดตราบาป (stigma) โดยเฉพาะต่อประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ
กลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นด้วยกับการปรับปรุงการสอดส่องดูแลเศรษฐกิจของกองทุนการเงินฯ ที่จะดูแลภาพรวมของความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจและภาคการเงิน กองทุนการเงินฯ เป็นองค์กรที่เหมาะสมในการทำหน้าที่วิเคราะห์ภาพรวมนี้ เนื่องจากเป็นผู้เห็นภาพของเศรษฐกิจการเงินของประเทศสมาชิกทั่วโลก โดยในระยะต่อไปกองทุนการเงินฯ ควรสอดส่องดูแลภาวะเศรษฐกิจการเงินในภาพที่กว้างขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งความเสี่ยงจากฐานะการคลังและระบบการเงิน
ในระยะต่อไป กองทุนการเงินฯ ควรเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับระบบการเงินระหว่างประเทศ โดยสำหรับกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging markets) ที่ได้เผชิญกับความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ มีความประสงค์จะให้กองทุนการเงินฯพิจารณานโยบายทคี่ รอบคลุมทั้งประเทศที่เป็นแหล่งที่มาของเงิน (source) และประเทศผู้รับ (recipient) นอกจากนั้น ควรทำการศึกษาการขยายตระกร้า SDR เพิ่มเติม โดยการเพิ่มสกุลเงิน เพื่อจะนำไปสู่การกระจาย (diversify) การถือครองเงินสำรองระหว่างประเทศ
เนื่องจากธรรมาภิบาลของกองทุนการเงินฯ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คำแนะนำของกองทุนการเงินฯ มีความน่าเชื่อถือ กลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงสนับสนุนการปฏิรูปสิทธิออกเสียง (quota) และองค์ประกอบของกรรมการบริหาร(Executive Board) โดยเห็นว่าควรดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2013
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย