สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนสิงหาคม ปี 2554 เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนสิงหาคม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 3, 2011 13:23 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 18/2554

เศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมขยายตัวต่อเนื่อง ตามการผลิตภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว ขณะเดียวกันการส่งออกขยายตัว โดยเฉพาะยางพารา เนื่องจากการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ สะท้อนได้จากการส่งออกยางแปรรูปที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมทั้งเงินเฟ้อของจีนอาจทำให้การส่งออกชะลอลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องจากแรงกดดันของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ภาคการผลิต ผลผลิตภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 6.6 ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันเป็นสำคัญ แม้ว่า ผลผลิตยางพาราลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.3 เนื่องจากฝนตกมากในแหล่งผลิตสำคัญ ขณะเดียวกันราคาพืชผลเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8 โดยราคายางและปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.9 และ 11.8 ตามความต้องการทั้งในต่างประเทศและในประเทศแม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมทั้งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของจีน ส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.3 จากเดือนเดียวกันปีก่อน ด้านผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.5 ในเดือนก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตยางพาราแปรรูป และไม้ยางพาราแปรรูป เนื่องจากตลาดจีนและญี่ปุ่นมีความต้องการต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน อาหารทะเลกระป๋องเพิ่มขึ้นจากตลาดใหม่ที่ทดแทนตลาดหลัก ได้แก่ ประเทศฟินแลนด์ และซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งผลผลิตน้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณวัตถุดิบ

ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25.5 จากนักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย จีน และเกาหลี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเพิ่มขึ้นในทุกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้ เนื่องจาก เป็นช่วงวันหยุดจากเทศกาลฮารีรายอและวันชาติของประเทศมาเลเซีย

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เนื่องจากรายได้เกษตรขยายตัวจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและการท่องเที่ยวอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสะท้อนได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวสูงร้อยละ 16.5 และการจดทะเบียนรถใหม่ทุกประเภทขยายตัว โดยเฉพาะรถยนต์เพื่อการพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.2 เนื่องจาก ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตรถยนต์ได้คลี่คลาย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับ ค่าครองชีพและราคาสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

การลงทุนโดยรวม เพิ่มขึ้นตามดัชนีการลงทุนภาคการก่อสร้าง โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 เป็นการเพิ่มขึ้นของโครงการบ้านจัดสรรในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน ทุนจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลรายใหม่ และมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์เพิ่มขึ้น

การส่งออก ขยายตัวในเกณฑ์สูง มีมูลค่า 2,019.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 59.8 ตามมูลค่าส่งออกยางพาราที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสำคัญ จากอุปสงค์ในต่างประเทศที่มีต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น แม้ว่าการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาจะลดลงก็ตาม นอกจากนี้ สินค้าที่ส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ ถุงมือยาง สัตว์น้ำแช่แข็ง และดีบุก

ทางด้านสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ขยายตัวประมาณร้อยละ 16.4 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทำให้ความต้องการเงินทุนหมุนเวียน และสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเงินฝากขยายตัวประมาณร้อยละ 15.9 เป็นผลจากการขยายฐานเงินฝากที่มีผลิตภัณฑ์เงินฝากเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ และรักษาฐานลูกค้าในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น กอปรกับรายได้เกษตรกรยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.15 เร่งขึ้นตามการปรับราคาสินค้าบางรายการในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาทิ เนื้อสัตว์ ผลไม้สด และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวลดลงตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก และนโยบายภาครัฐ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร.0-7427-2000 ต่อ 4713 e-mail: Somtawis@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ