แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนสิงหาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 5, 2011 14:34 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 11 /2554

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนสิงหาคม 2554 ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการลดลงในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิต การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน และภาคการค้าขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า ส่วนภาคการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวดี ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจแรงกดดันด้านราคายังสูงขึ้นต่อเนื่อง การว่างงานทรงตัวในระดับต่ำ ส่วนเงินฝากและเงินให้สินเชื่อขยายตัวดีต่อเนื่อง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

อุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวลดลง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงร้อยละ 1.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน ผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยโดยเฉพาะจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง อย่างไรก็ดี เครื่องชี้หมวดยานยนต์และการบริโภคสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันยังขยายตัว ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 6.9 ตามการชะลอตัวของงานก่อสร้าง เนื่องจากภาวะฝนตกต่อเนื่องและปัญหาอุทกภัย แต่มีสัญญานดีขึ้นจากปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างเพื่อเตรียมการฟื้นฟูสภาพหลังน้ำลด สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐขยายตัวร้อยละ 33.4 ทั้งงบประจำและงบลงทุนตามการเรื่องเบิกจ่ายหมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากใกล้สิ้นปีงบประมาณในเดือนหน้า

การส่งออกขยายตัวดี มูลค่าการส่งออกผ่านด้านศุลกากรในภาคเหนือมีมูลค่า 317.1 ล้านดอลลาร์สรอ. หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งเลนส์กล่องถ่ายรูปเครื่องตัดต่อวงจรไฟฟ้า อาหารแปรรูปและสิ่งทอที่ขยายตัวดีในตลาดจีนและยุโรป ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 136.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ด้านการค้าชายแดนการส่งออกเรื่องตัวต่อเนื่องร0อยละ 41.5 จากการส่งออกไปพม่า จีน และลาว ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร0อยละ 10.8 ตามการนำเข้าถ่านหินลิกไนท์จากลาวเป็นสำคัญ

ภาคการผลิต หดตัวทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.3 ตามการหดตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลงต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและคู่แข่งขันเพิ่มขึ้น และการผลิตเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 9.6 ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมและสินค้าคงคลังอยู่ในระดับสูง ขณะที่อุตสาหกรรมผลิตอาหารหมวดการแปรรูปผักและผลไม้ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ด้านการเกษตร ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นตามผลผลิตลำไยเป็นสำคัญ แต่ราคาพืชผลหลักหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.8 จากราคาลำไยและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปีและนาปรังยังสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงร้อยละ 10.3 ด้านการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการจัดโปรโมชันด้านราคาของธุรกิจเอกชนอย่างต่อเนื่อง กอปรกับอยู่ในช่วงปิดเทอมของกลุ่มยุโรป นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มครอบครัวเดินทางมาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่วนดัชนีการค้าขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนร้อยละ 2.4 จากหมวดค้าส่งและค้าปลีก ในขณะที่หมวดยานยนต์ชะลอตัวลงจากการรอมาตรการภาครัฐในการคืนภาษีรถคันแรก

เสถียรภาพในประเทศ แรงกดดันด้านราคายังสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 5.73 ตามการปรับเพิ่มขึ้นของราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 4.04

การว่างงานเดือนกรกฎาคม 2554 อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.5 จากการจ้างงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมาก โดยจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเดือนสิงหาคม 2554 เพิ่มขึ้นร0อยละ 4.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ประกอบด้วยผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ภาคบังคับ) และมาตรา 39 (ภาคสมัครใจ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 และร้อยละ 13.6 ตามลำดับ

เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2554 มีจำนวน 434,110 ล้านบาทขยายตัวร้อยละ 10.1 จากการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อระดมเงินฝากประจำที่ให้อัตราผลตอบแทนจูงใจด้านเงินให้สินเชื่อมีจำนวน 369,380 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.1 จากการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อกับธุรกิจผลิตและแปรรูปการเกษตร อพาร์ทเม้นท์ การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า และการเช่าซื้อรถยนต์ สำหรับสัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 85.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 82.8 จากระยะเดียวกันของปีก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ชนินทร์ เพชรไทย

โทร. 0-5393-1157

e-mail : Chaninp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ