ปาฐกถาพิเศษ
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
“ทิศทางเศรษฐกิจปี 2555”
ในงานสัมมนาเศรษฐกิจ “Thailand: Moving Forward with the New Government”
จัดโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน
วันพุธที่ 5 ตุลาคม 2554 เวลา 14.30 น.
คณะกรรมการธนาคาร
ประธานกรรมการบริหาร
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจ
ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมากล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปีของธนาคารไทยพาณิชย์ให้กับทุกท่านในที่นี้ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนั้น หัวข้อในวันนี้ คือ “ทิศทางเศรษฐกิจปี 2555” ท่ามกลางความผันผวนจากปัจจัยหลายอย่างทั้งภายในและนอกประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ น่าจะเป็นคำถามอยู่ในใจหลายๆ ท่านว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเป็นอย่างไร และนโยบายเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังจะมีทิศทางเช่นไร
โดยส่วนตัว ผมมองว่า ปี 2555 เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยในวันนี้ผมจะกล่าวถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในปีหน้า 3 เรื่องด้วยกัน คือ (1) แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทย (2) ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และ (3) ความท้าทายของนโยบายการเงินการคลัง
ประเด็นแรก เศรษฐกิจไทยยังมีแรงขับเคลื่อนภายในประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ในปีหน้า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2554 เศรษฐกิจไทยถือว่าขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี แม้เผชิญปัจจัยลบต่างๆ หลายประการโดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีนี้จะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้ในปีหน้า ทิศทางของรายได้ที่ยังเพิ่มขึ้น การจ้างงานที่เกือบเต็มกำลังแรงงานรวมถึงมาตรการเพิ่มรายได้และกระตุ้นการใช้จ่ายต่างๆ จากภาครัฐจะส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคยังมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง และสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในปีหน้ายังเดินหน้าต่อไปได้ ด้านการลงทุนของภาคเอกชนในปีหน้ายังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่ขยายตัวดี ผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจในระยะข้างหน้า คำสั่งซื้อในประเทศและการลงทุนก็ยังมีแนวโน้มดีเช่นกัน
แม้แนวโน้มของการใช้จ่ายทั้งการบริโภคและการลงทุนในประเทศ จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยโตได้ต่อเนื่องในปีหน้า แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นชัดเจนในขณะนี้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้
ประเด็นที่ 2 ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรเพิ่มขึ้นมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะเศรษฐกิจประเทศหลักอย่างสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรอ่อนแอลงมากในช่วงที่ผ่านมา และอาจฉุดให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงมากกว่าที่เคยคาดไว้ กรณีของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราต่ำเป็นเวลายาวนาน เพราะขาดแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งจากภาคเอกชนและทางการ โดยภาคครัวเรือนชะลอใช้จ่ายและอัตราว่างงานยังสูงต่อเนื่อง ขณะที่ช่องทางกระตุ้นจากนโยบายการเงินการคลังมีจำกัดมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะต้องลดการใช้จ่ายภาครัฐตามแผนที่ผูกพันไว้หลังการปรับเพิ่มเพดานหนี้ตลาดการเงินเองก็คาดหวังให้ทางการสหรัฐฯ ออกมาตรการที่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้รวดเร็ว แต่ด้วยข้อจำกัดของภาครัฐและตัวปัญหาเองที่ต้องใช้เวลาแก้ไขนาน ทำ ให้มาตรการที่ออกมายังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ ซึ่งความคาดหวังของตลาดที่แตกต่างจากมาตรการของทางการเช่นนี้คาดว่า ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ต่อไป และจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกเป็นระยะๆ
สำหรับเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรก็มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากประเทศสมาชิกยังขาดความร่วมมืออย่างจริงจัง ทำให้การแก้ปัญหาล่าช้า ไม่เด็ดขาด จนอาจลุกลามเป็นวงกว้างขึ้น ในระยะข้างหน้าก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ทั้งการคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับการตัดสินใจของ EU ว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่กรีซต่อไปหรือไม่ อย่างไร มากน้อยแค่ไหน และตลาดยังมีความกังวลเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของกรีซตลอดจนการดำรงสถานะของกรีซใน EU เพื่อแลกกับอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศอื่นๆ ในกลุ่มยูโรที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันด้วย ความไม่แน่นอนและความล่าช้าในการแก้ปัญหาของกลุ่มยูโรนี้ นับวันจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ PIIGS มากขึ้น และอาจกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรในภาพรวมได้ นอกจากนี้ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมาก และอาจก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกต่อไปเป็นระยะๆ หากไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาในทางที่ดีขึ้น
จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในอดีต ทำให้ผมเชื่อว่า ความสำเร็จในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปขึ้นอยู่กับการเลือกเงื่อนเวลา (Timing) ลำดับขั้นตอน (Sequencing) และขนาดของมาตรการ (Size) ที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเป็นในการเร่งดำเนินมาตรการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ในกรณีที่สถานการณ์ในสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรลุกลามบานปลาย ก็มีโอกาสเกิดปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกตึงตัวรุนแรงได้ โดยกระทบผ่านสถานะทางการเงินของ ธ.พ. ที่ถือครองพันธบัตรของประเทศในกลุ่ม PIIGS ที่ด้อยค่าลง เนื่องจากต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น จน ธ.พ. เหล่านี้อาจต้องเพิ่มทุน หรืออาจมีการขายสินทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ ทำให้ตลาดการเงินและตลาดทุนผันผวนอย่างรุนแรงได้ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ สหรัฐฯ และกลุ่มยูโรต้องมีการดำเนินนโยบายที่เด็ดขาดและควรพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของภาคธนาคาร รวมถึงแผนสร้างความยั่งยืนทางการคลังด้วย
ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรกำลังประสบปัญหา เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ไม่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจโลกได้ในเวลานี้เช่นกัน เนื่องจากต้องใช้เวลาเพื่อฟื้นตัวจากภัยพิบัติเมื่อช่วงต้นปีของปีนี้ และยังมีข้อจำกัดในนโยบายการเงินการคลังเช่นกัน สำหรับเศรษฐกิจเอเชียเองแม้ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้จากอุปสงค์ในประเทศที่ยังค่อนข้างแข็งแกร่ง ก็อาจถูกกระทบผ่านการค้าระหว่างประเทศที่ชะลอลง แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจประเทศหลัก ทั้งนี้ ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนการรวมตัวเป็นปึกแผ่นภายในภูมิภาคหรือประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 จะเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียได้ในระยะต่อไป
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลสำคัญต่อไทย 2 ด้านด้วยกัน ด้านแรกคือผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยและความผันผวนในตลาดเงินที่จะมีความเสี่ยงมากขึ้น ส่วนด้านที่สอง คือ ผลต่อเงินเฟ้อ
ในด้านแรก แม้ว่าขณะนี้ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ของไทยยังไม่สะท้อนว่าได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนดังกล่าว แต่เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกค่อนข้างสูง และ G3 ก็ยังเป็นคู่ค้าที่สำคัญซึ่งมีขนาดเกือบ 1 ใน 3*1ของการส่งออกของเรา เศรษฐกิจไทยจึงอาจได้รับผลกระทบผ่านการส่งออกได้ อย่างไรก็ตามหากสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนอย่างเป็นระบบจนไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มากนัก เศรษฐกิจไทยก็ยังพึ่งพาการขยายตัวของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และอุปสงค์ภายในภูมิภาคได้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเราชะลอตัวไม่มากนัก อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่ายังมีความเสี่ยงที่ไม่สามารถมองข้ามได้ในกรณีเลวร้าย โดยหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรชะลอตัวมากหรือถึงกับหดตัวนั้นจะกระทบเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้างจนเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักชะลอลง ส่งผลใหก้ รส่งออกตลอดจนเศรษฐกิจไทยโดยรวมชะลอลงมากตามไปด้วย ภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจส่งออกจึงควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินผลกระทบต่อคู่ค้าของเรา และเตรียมพร้อมรับมือแต่เนิ่นๆ
นอกจากผลต่อการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจแล้ว ความไม่แน่นอนในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีโอกาสผันผวนได้ทั้ง 2 ทิศทาง ตามความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ในภาพรวมเงินทุนเคลื่อนย้ายก็ยังมีแนวโน้มจะไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากในปีหน้าเศรษฐกิจเอเชียยังมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศในภูมิภาค ซึ่งนักลงทุนก็ต้องระมัดระวังในการเลือกสินทรัพย์เพื่อลงทุน สำหรับเศรษฐกิจไทย ความอ่อนไหวของเงินทุนเคลื่อนย้ายต่อความเชื่อมั่นดังกล่าวจะส่งผลให้ค่าเงินบาทก็ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและอาจผันผวนได้ทั้งสองทิศทาง ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจต้องเตรียมพร้อมบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นโดยใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในด้านที่สอง คือ ผลต่อเงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยที่มีอยู่แล้วเกิดความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยปัจจัยจากเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลให้อุปสงค์ของตลาดโลกชะลอลง จนทำให้อุปสงค์ในประเทศชะลอลงด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้า ทั้งราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสปรับลดลงได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยภายในประเทศที่อาจส่งผลให้ราคาสินค้ามีโอกาสปรับสูงขึ้นจากมาตรการของภาครัฐ ทั้งการกระตุ้นการใช้จ่าย การจำนำข้าว และการยกเลิกมาตรการลดค่าครองชีพ ตลอดจนการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนที่ยังคงสูงอยู่
มาถึงจุดนี้ ทุกท่านอาจสงสัยแล้วว่า นโยบายการเงินการคลังในปีหน้า จะมีบทบาทอย่างไรที่จะช่วยรับมือกับผลกระทบและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น
ประเด็นที่ 3 ความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นนี้ยิ่งสร้างความท้าทายในการตัดสินใจด้านนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง * การส่งออกไป G3 ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2554 คิดเป็นร้อยละ 31 ของการส่งออกรวม (USA 10.7%, EU 10.8%, JP 9.5%)
สำหรับนโยบายการเงิน ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นมากทำให้การตัดสินใจเกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบายของไทยต้องกระทำอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น โดยต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ในแต่ละช่วง ทั้งนี้ ในปีหน้า นโยบายการเงินยังคงต้องเป็นแกนหลักในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา โดยคำนึงถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการป้องกันความไม่สมดุลทางการเงินในระบบเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย เพื่อพร้อมรับแนวโน้มความไม่แน่นอนดังที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยในขณะนี้นโยบายการเงินถือว่ามีความพร้อม หากสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงและเศรษฐกิจต้องการแรงกระตุ้น เนื่องจากที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ได้ทยอยปรับเข้าสู่ระดับปกติพอสมควรแล้ว
ส่วนนโยบายการคลัง แนวโน้มการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปีหน้าอย่างไร ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยที่ยังมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจดีนั้นจะต้องเตรียมทรัพยากร ด้านการคลังไว้ให้พร้อมสำหรับยามจำเป็นหากจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต นโยบายการคลังในขณะนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้าจึงต้องรอบคอบและระมัดระวัง ไม่ควรใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น ในกรณีของไทย เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจขยายตัวใกล้เต็มศักยภาพและมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่แล้ว ทำให้ความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง แม้บางท่านมองว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่สูงขึ้นทำให้มีความจำเป็นต้องกระตุ้นทางการคลังแต่เนิ่นๆ แต่ด้วยลักษณะของนโยบายการคลังที่สามารถส่งผ่านผลไปยังเศรษฐกิจได้รวดเร็ว ในเวลานี้ ภาครัฐจึงสามารถที่จะรอเก็บกระสุนไว้ก่อนเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็นจริงๆ เพราะเมื่อสถานการณ์ชัดเจนแล้วก็ยังสามารถดำเนินมาตรการที่ส่งผลได้ทันท่วงที
แนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐในปีหน้าจึงควรทำเท่าที่จำเป็น และเน้นกลุ่มเป้าหมายตามลำดับความสำคัญเร่งด่วน โดยสิ่งสำคัญที่ภาครัฐจะมีบทบาทได้คือ การลงทุนเพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจ ภาครัฐไม่ควรเน้นการบริโภคซึ่งเป็นการใช้แล้วหมดไป เพราะการที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวในอนาคต ต้องอยู่บนพื้นฐานของความสามารถในการผลิตของประเทศอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้ซ้ำกับบทเรียนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในวิกฤตครั้งนี้ ภาครัฐจึงควรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาคุณภาพของแรงงานการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม
ภายใต้สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนนี้ การลงทุนของภาครัฐเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศจะเป็นอีกทางที่ช่วยปรับสมดุลให้เศรษฐกิจในประเทศมีบทบาทมากขึ้น และสามารถรองรับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกได้ อีกทั้งจะเป็นการส่งเสริมหรือ crowd in การลงทุนภาคเอกชนอีกด้วย ซึ่งในแง่นี้การลงทุนของภาคเอกชนก็ส่งผลเช่นเดียวกัน นอกเหนือไปจากผลดีต่อธุรกิจเองที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในระยะยาวให้พร้อมรับโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว ตลอดจนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ การเข้าสู่ AEC ไม่เพียงสร้างโอกาสทั้งด้านการค้า การลงทุน บริการทางการเงิน ตลอดจนประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่จะเพิ่มขึ้น แต่โอกาสเหล่านี้จะมาพร้อมกับการแข่งขันที่สูงขึ้นด้วย ภาครัฐจึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎระเบียบภายในให้พร้อมรองรับการเกิดขึ้นของ AEC ขณะเดียวกันภาคเอกชนเองก็ต้องปรับตัวหลายอย่างทั้งการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะและประสิทธิภาพสูง และเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า ตลอดจนการสร้างแบรนด์ที่จะเป็นที่นิยมของตลาดอาเซียน เพื่อให้ไทยสามารถรับประโยชน์จากการรวมตัวของอาเซียนอย่างเต็มที่
ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง ความสอดคล้องของนโยบายการเงินและการคลังจึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยก้าวผ่านปีหน้าไปได้ และเนื่องจากนโยบายการเงินและการคลังใช้เวลาในการส่งผลต่อเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน ผู้ดำเนินนโยบายจึงต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในระยะต่อไปเพื่อให้การดำเนินนโยบายรอบคอบและทันท่วงที โดยจำเป็นต้องมองไปข้างหน้าในระยะปานกลางถึงระยะยาว มาตรการการคลังคงไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากนัก หากอำนาจซื้อของประชาชนถูกบั่นทอนจากเงินเฟ้อที่เร่งตัว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการหารืออย่างใกล้ชิดเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตรงกันและผสมผสานการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังอย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายทั้งสองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเอื้อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้
ท้ายสุดนี้ ผมเชื่อว่าในปีหน้าจะเป็นปีที่ “ความร่วมมือ” จะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งในเวทีโลก เวทีอาเซียน และในประเทศเอง โดยเวทีโลกต้องการความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโร เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาหนี้สาธารณะได้อย่างเด็ดขาดและเป็นรูปธรรมโดยเร็วเพื่อลดทอนผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ในเวทีอาเซียนก็ต้องการความร่วมมือจากประเทศในอาเซียนเพื่อเริ่มปูทางไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกันไทยเองก็ต้องการความร่วมมือระหว่าง ธปท. และกระทรวงการคลังในการผสมผสานการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังอย่างเหมาะสม เนื่องจากเศรษฐกิจในปีหน้า แม้ยังมีแรงส่งให้เดินหน้าต่อไปได้จากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก แต่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาท อีกทั้งความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อก็ยังมีอยู่ การตัดสินใจด้านนโยบายทั้งการเงินและการคลังในปีหน้าจึงมีความท้าทายและต้องใช้ความรอบคอบอย่างมาก ภายใต้สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงนี้ ผู้ดำเนินนโยบายจึงต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงของเศรษฐกิจต่างๆ ให้ดี และเตรียมกระสุนนโยบายไว้ให้พร้อมอยู่เสมอ ซึ่งผมเชื่อว่าความร่วมมือของทุกฝ่ายที่จะแก้ปัญหาและร่วมดำเนินนโยบายอย่างจริงจังจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจสามารถก้าวผ่านปี 2555 ไปได้อย่างราบรื่น
ขอบคุณครับ
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย