กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 6, 2011 13:48 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและเหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ใช้ในปัจจุบันคืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสระหว่างร้อยละ 0.5 — 3.0 ต่อปี ซึ่งใช้มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 และเป็นการปรับช่วงเป้าหมายให้แคบลงจากก่อนหน้าที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 — 3.5 ต่อปี

การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อนับว่าประสบความสำเร็จ โดย ธปท. สามารถดูแลเสถียรภาพด้านราคาได้ดี และรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1: เปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อไทยในช่วงก่อนและหลังใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ค่าเฉลี่ย                         ก่อนใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ                 หลังใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

(ไตรมาสที่ 1 ปี 2537 — ไตรมาสที่ 1 ปี 2543) (ไตรมาสที่ 2 ปี 2543 — ไตรมาสที่ 2 ปี 2554)

อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ             3.0                                        4.4
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป                     4.95                                       2.61
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน                    4.70                                       1.10

พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ระบุให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หารือและทำความตกลงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อสำหรับปีถัดไป ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติภายในเดือนธันวาคมของทุกปี ในปีนี้ กนง. จึงได้มีการพิจารณากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่เหมาะสมสำหรับปี 2555 เพื่อใช้ในการหารือร่วมกับ รมว. คลัง และเห็นควรเสนอปรับเป้าหมายเงินเฟ้อจากเดิมเป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยรายปีที่ร้อยละ 3.0 โดยสามารถเบี่ยงเบนไปจากค่ากลางนี้ได้ไม่เกิน ? ร้อยละ 1.5 ตามเหตุผลดังนี้

1. จากการที่ระยะหลังอัตราการขยายตัวของราคาในหมวดพลังงานและอาหารสดแตกต่างจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมาก การใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นดัชนีเป้าหมายแทนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะช่วยสะท้อนค่าครองชีพของประชาชนได้ดีขึ้น และเนื่องจากเป็นดัชนีที่ครัวเรือนและธุรกิจใช้อ้างอิงในชีวิตประจำวัน จึงเอื้อต่อการสื่อสาร ง่ายต่อความเข้าใจ และสามารถยึดเหนี่ยวคาดการณ์เงินเฟ้อได้ดีกว่า

2. การกำหนดระยะเวลาของเป้าหมายให้ยาวขึ้นจากรายไตรมาสเป็นรายปี นอกจากจะสื่อถึงการมองไปข้างหน้ามากขึ้น ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของนโยบายการเงินในการรองรับปัจจัยที่ไม่คาดฝัน (Shock) ต่างๆ ง่ายต่อการสื่อสาร และสอดคล้องกับระยะเวลาที่ใช้ในการส่งผ่านนโยบายการเงินที่ 4 — 8 ไตรมาส รวมถึงการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อที่ทำเป็นประจำทุกปีด้วย

3. การกำหนดค่ากลางที่ชัดเจน จะเหมาะสมกว่าในการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อ เมื่อเทียบกับการกำหนดเป็นช่วงเป้าหมายที่มีเฉพาะขอบบนและขอบล่าง และการอนุญาตให้อัตราเงินเฟ้อสามารถเบี่ยงเบนไปจากค่ากลางเป็นการรักษาความยืดหยุ่นของการดำเนินนโยบายการเงิน โดยค่ากลางและค่าความเบี่ยงเบนที่กำหนดนี้ได้พิจารณาให้มีความสอดคล้องกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง เพื่อป้องกันการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และมีความเหมาะสมกับพื้นฐานเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางถึงระยะยาว

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ