ปาฐกถา: การเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวด้านภาคการเงินของธุรกิจเพื่อเตรียมพร้อมสู่การค้าเสรี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 10, 2011 14:34 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปาฐกถา

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

“การเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวด้านภาคการเงินของธุรกิจเพื่อเตรียมพร้อมสู่การค้าเสรี”

ในงานสัมมนาและตลาดนัดการเงิน “เขตการค้าเสรี : โอกาสของ SMEs”

ณ โรงแรมอมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม 2554 เวลา 13.30 น.

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานสัมมนาและตลาดนัดการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ได้ร่วมกับชมรมธนาคารภาคเหนือ 17 จังหวัด และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมสำนักงานสาขาพิษณุโลกจัดขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยให้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจภายใต้ความท้าทายต่างๆในสภาวะผันผวนของตลาดโลกในปัจจุบัน โดยหัวข้อที่ผมจะ พูดในวันนี้คือ “การเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวด้านภาคการเงินของธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การค้าเสรี” โดยผมจะขอแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อด้วยกัน คือ

1. บริบทใหม่ของเศรษฐกิจโลกและบทบาทของเอเชีย

2. การเปิดเสรีทางการค้าและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

3. ผลกระทบจากการเปิดเสรีในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการค้า บริการ และการลงทุนต่อประเทศไทยและการเตรียมพร้อมรับมือของ SMEs และ

4. ระเบียบ ธปท. ที่เอื้อต่อการปรับตัวและดำเนินธุรกิจของ SMEs

เรื่องที่ 1: บริบทใหม่ของเศรษฐกิจโลกและบทบาทของเอเชีย

อย่างที่ท่านคงทราบกันดี สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะและสถาบันการเงินในกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายและความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มนี้ และต่อการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศ G3 (ซึ่งได้แก่ อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น) ที่เรียกได้ว่า “สามวันดีสี่วันไข้” และมีแนวโน้มจะชะลอตัวไปอีกนาน มีผลให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของโลกมีความผันผวนมากขึ้น ในขณะที่เอเชียและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างๆ ยังสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้ามายังภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ซึ่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียได้มีความสำคัญมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลกจากการเปิดเสรีของประเทศจีนและอินเดีย เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้ประชากรจำนวนมากในทั้งสองประเทศมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นและทำให้จีนและอินเดียกลายเป็นตลาดส่งออกสำคัญของประเทศในภูมิภาค ทดแทนตลาดส่งออกไปประเทศเศรษฐกิจหลัก และส่งผลให้ความมั่งคั่งของเอเชียเพมิ่ ขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ในระยะยาว มีการคาดการณ์กันว่าเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ ในฐานะที่เป็นฐานการผลิตและประเทศคู่ค้าที่สำคัญๆ ของหลายประเทศในโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประเมินว่าสัดส่วนเศรษฐกิจเอเชียใน GDP โลกได้เพิ่มอย่างก้าวกระโดดจากร้อยละ 8 เมื่อต้นศตวรรษ 1980 เป็นร้อยละ 25 ในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ในปี 2015 โดยได้รับแรงขับเคลื่อน เศรษฐกิจจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะจากจีนและอินเดียสะท้อนให้เห็นถึงบริบทที่เปลี่ยนไปของเศรษฐกิจโลก และบทบาทของเอเชียที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

เรื่องที่ 2: การเปิดเสรีทางการค้าและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ท่านน่าจะเคยได้ยินทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วนพูดถึงความสำคัญและการเตรียมพร้อมรับมือการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือที่เรียกกันว่า ASEAN Economic Community หรือ AEC ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะกำหนดการที่จะรวมตัวเป็น AEC อย่างเต็มรูปแบบในปี 2015 กำลังใกล้เข้ามาทุกทีเหลือเวลาอีกแค่ 3 ปีกว่าเท่านั้น แน่นอนครับว่าเรื่องที่ผมจะพูดในวันนี้ต้องมี AEC ด้วย แต่ก่อนจะพูดถึงเรื่อง AEC ผมจะขอเล่าถึงกระแสการเปิดเสรีทางการค้าที่เริ่มแรกมีมาตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้ง WTO ในปี 1995 ซึ่งเป้าหมายของ WTO ก็คือต้องการให้ประเทศในโลกเปิดเสรีทางด้านการค้าระหว่างกันมากขึ้น ต่อมาหลายๆ ประเทศเห็นว่า WTO มีความคืบหน้าค่อนข้างช้าเพราะประกอบไปด้วยสมาชิกเป็นร้อย จึงต้องการเร่งการเจรจาความตกลงให้มีผลอย่างรวดเร็วมากขึ้น จึงเกิดกระแสการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) เริ่มแรกก็ทำเป็นคู่ๆ ต่อมาก็จับกลุ่มรวมกันโดยเริ่มจากกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกันก่อน เช่นประเทศในกลุ่มอาเซียนก็มี AFTA เป็นต้น

การเปิดเสรีทางการค้าหมายถึงการลดหรือยกเลิกกำแพงทางการค้าต่างๆ ระหว่างกลุ่มประเทศคู่สัญญา เช่น ภาษี หรือกฎเกณฑ์ข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้สินค้าและปัจจัยการผลิตสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีมากขึ้น ซึ่งการเปิดเสรีดังกล่าวจะมีประโยชน์อย่างมากในการขยายโอกาสทางการค้า และสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นการรักษาเสถียรภาพและศักยภาพการส่งออกของไทย โดยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยในตลาดประเทศคู่ค้าและตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการไทยในการลดต้นทุนการผลิตต่างๆ ทั้งด้านวัตถุดิบ แรงงาน หรือเทคโนโลยี และช่วยผู้ประกอบการหาแหล่งเงินทุนและแหล่งออกไปลงทุนใหม่ๆ ด้วย

ปัจจุบันประเทศไทยได้ลงนามเปิดเสรีการค้าทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศต่างๆ มาแล้วหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ทั้งในนามของประเทศไทยเองและในนามของกลุ่มประเทศ ASEAN

สำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA (ASEAN Free Trade Area) ซึ่งมีมาเมื่อประมาณเกือบ20 ปีแล้ว เป็นการเปิดเสรีการค้าสินค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งการรวมเป็น AEC ในปี 2015 ก็ถือเป็นการสานต่อ AFTA ในอดีตของอาเซียนนั่นเอง โดยมีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นตลาดฐานการผลิตร่วม สร้างขีดความสามารถการแข่งขันของภูมิภาคอาเซียน พัฒนาเศรษฐกิจอาเซียนอย่างยั่งยืน และบูรณาการภูมิภาคอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก แต่ข้อแตกต่างก็คือ AFTA เป็นการเปิดเสรีการค้าอย่างเดียว ในขณะที่ AEC จะมีด้านอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยด้วย ซึ่งจะทำให้ SMEs หลีกเลี่ยงไม่ได้กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายเสรีด้านการค้า การลงทุน บริการ และแรงงานไปสู่ประเทศอื่นๆ

ท่านผู้มีเกียรติครับ
ผมจะขอเล่าภาพรวมแนวทางการเตรียมพร้อมรับ AEC ด้านตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศไทย ให้ท่านฟังโดยสังเขป 3 ด้านดังนี้

1. เปิดเสรีการค้าบริการทางการเงินตามความพร้อมและให้สอดคล้องกับแผนของแต่ละประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการเงินและความสามารถในการเข้าถึงบริการทางการเงินของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมถึงช่วยลดต้นทุนทางการเงิน โดยขณะนี้ ธปท. ได้ร่วมมือกับธนาคารกลางอื่นๆ ในอาเซียนในหลายด้าน เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการกำกับดูแลสถาบันการเงินข้ามชาติ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเสรีระยะต่อไป

2. เปิดเสรีตลาดทุน โดยจะมีการเชื่อมโยงตลาดทุน ASEAN ให้เป็น platform เดียวกันนักลงทุนสามารถเข้ามาลงทุนหรือระดมทุนในตลาดทุนของอาเซียนได้สะดวกจากการมีมาตรฐานและกฎระเบียบที่สอดคล้องกัน นอกจากนี้ ยังมีพัฒนา ASEAN products ให้ลึกและหลากหลายขึ้น รวมถึงมีการรวมกลุ่มหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่เป็นที่น่าสนใจของตลาดแต่ละแห่งในอาเซียน ที่เรียกว่า ASEAN Stars เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนซึ่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทที่จัดทำดัชนีชั้นนำของโลกอย่าง FTSE ได้ยกระดับตลาดทุนไทยจาก Secondary Emerging Market เป็น Advanced Emerging Market โดยจะเริ่มนำไปใช้ในการคำนวณ FTSE Global Equity Index Series ในเดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนทั่วโลกต่อโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุนไทยว่าอยู่ในระดับชั้นนำของประเทศเกิดใหม่เท่ากับประเทศมาเลเซีย บราซิล และไต้หวันจึงคาดกันว่าจะมีผลช่วยดึงดูดเงินทุนจากนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นด้วย

3. เปิดเสรีเงินทุนเพิ่มขึ้นตามความพร้อมของประเทศ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ชัดเจน เป็นระบบ และมีขั้นตอนที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและสภาวะแวดล้อมทางการเงินโลก เพื่อให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลกันมากขึ้นและเสริมความแข็งแรงทางการเงินให้กับประเทศในระยะยาว โดยจะเน้นการผ่อนคลายด้าน capital outflows ของประเทศ เช่น การออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย เป็นต้น

เรื่องที่ 3: ผลกระทบต่อการเปิดเสรีในด้านต่างๆ ต่อประเทศไทยและการเตรียมพร้อมรับมือของ SMEs

การเปิดเสรีทั้งที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นเพิ่มอีกย่อมก่อให้เกิดผลกระทบซึ่งอาจจะมีทั้งผู้ได้รับประโยชน์และผู้เสียประโยชน์หากปรับตัวไม่ทันหรือยังมีความพร้อมไม่เพียงพอ ดังนั้น การจะสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ในโลกแห่งการแข่งขันนี้ ภาคธุรกิจจะต้องวางยุทธศาสตร์เชิงรุกควบคู่ไปกับเชิงรับและใช้โอกาสจากเขตการค้าเสรีต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ ผู้ประกอบการจะต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า โอกาสไม่ได้มีแค่ที่เห็น ยังมีโอกาสที่รอการค้นพบอีกมากมายที่มาพร้อมกับการเปิดเสรี ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มองให้กว้างและรอบด้าน เน้นวางแผนธุรกิจระยะยาวมากขึ้น และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและทันที ผู้ประกอบการยุคใหม่จะ แค่ Know What ไม่ได้ แค่รู้ว่าจะทำธุรกิจอะไรยังไม่พอ แต่จะต้อง Know How ด้วย คือ เรียนรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถผูกมัดใจลูกค้าได เช่น รู้ว่าจะต้องสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้าตน มีการทำ branding และผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานเพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ และ สุดท้ายต้อง Know When คือ รู้จังหวะว่าเมื่อใดจะสามารถใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ถ้าค่าเงินบาทแข็ง อาจจะพิจารณาออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น หรือซื้อเครื่องจักรนำเข้ามาปรับปรุงการผลิต เป็นต้น

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ผมจะขอลงรายละเอียดเพื่อให้ท่านได้เห็นภาพอย่างชัดเจนมากขึ้นว่าในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ท่านจะได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง ซึ่งภาคธุรกิจน่าจะทราบกันดีอยู่แล้ว แต่สำหรับท่านที่ยังไม่แน่ใจ ผมจะขอยกตัวอย่างแนวทางการปรับตัวของธุรกิจเพื่อจุดประกายให้เร่งเตรียมความพร้อม เริ่มจากด้านการขยายธุรกิจ การเปิดเสรีทั้ง FTA และ AEC จะเป็นโอกาสที่ดีให้ท่านสามารถขยายตลาดสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ภาครัฐได้ตกลงกันไว้ ตัวอย่างเช่นในกลุ่มประเทศอาเซียน ความตกลง AEC มีผลให้ภาษีนำเข้าในกรอบอาเซียนลดลงเหลือศูนย์ ซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบด้านราคาสินค้าไทยเมื่อเทียบกับสินค้านอกกลุ่มอาเซียน จึงเป็นโอกาสที่ดีที่มีส่วนเอื้อให้ SMEs ไทยสามารถเปิดหรือเจาะตลาดคู่ค้าในอาเซียน โดยขยายการส่งออกสินค้าไปในตลาดอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของผู้นำเข้าเองก็จะมีต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากประเทศอาเซียนด้วยกันเองต่ำลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มส่วนต่างกำไรแก่ธุรกิจ SMEs ของไทยมากขึ้น แต่ท่านก็ต้องไม่ลืมว่าในขณะเดียวกันท่านก็จะมีคู่แข่งใหม่เกิดขึ้นด้วย เนื่องจากกำแพงภาษีหมดไป สินค้าของ SMEs ไทยก็อาจจะเผชิญการแข่งขันรุนแรงจากตลาดประเทศอื่นเช่นกันโดยเฉพาะในตลาดอาเซียนที่มีสินค้าคล้ายคลึงกับไทย เช่น ข้าวจากประเทศเวียดนาม หรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศมาเลเซีย

ด้านแหล่งวัตถุดิบ ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเปิดเสรีของภาครัฐ ศึกษาและเสาะหาแหล่งวัตถุดิบหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากแหล่งผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียนหรือประเทศที่ท่านได้รับสิทธิประโยชน์ เพื่อความได้เปรียบด้านราคาวัตถุดิบและช่วยลดต้นทุนการผลิต และเนื่องจากการลงทุนจะสามารถทำได้อย่างเสรีมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยอาจจะพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เหมาะเป็นแหล่งผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้ดีเพื่อใช้ทรัพยากรของประเทศนั้นๆ เช่น กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม) ที่มีต้นทุนต่ำกว่า และมีแรงงานราคาถูกจำนวนมากกว่าโดยใช้โอกาสจากการเปิดเสรีด้านการลงทุนและประโยชน์ทางสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้กรอบ AEC

ทั้งนี้ การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าใช้จ่ายทั้งด้านวัตถุดิบและแรงงานต่ำ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงแล้ว ยังเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านแรงงานด้วย โดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบัน การที่วัตถุดิบจะมีราคาต่ำลงจาก AEC และค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปัจจุบันจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนและเทคโนโลยีถูกลง จึงถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยอาจจะพิจารณานำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้ทดแทนแรงงานที่ขาด รวมถึงเพื่อปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต

อนึ่ง ท่านต้องไม่ลืมว่าตลาดแรงงานฝีมือจะมีการแข่งขันกันมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น เพื่อปรับเปลี่ยนความเป็นสากลและเข้าสู่มาตรฐานอาเซียน บุคคลากรวิชาชีพต่างๆ ของไทยจึงจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาทักษะของแรงงาน โดยเฉพาะในด้านภาษา ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนสำคัญของแรงงานไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้แรงงานไทยที่มีอยู่จำกัดสามารถผลิตสินค้าได้ปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น และพัฒนาบุคคลากรให้มีคุณภาพและความรู้ดีพอที่จะคิดค้นเทคโนโลยีและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตและเป็นการยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการได อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดแรงงานจะมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกแย่งแรงงานฝีมือ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรต้องคิดหาวางแผนกลยุทธ์ไว้ล่วงหน้าด้วยว่า “ทำอย่างไรลูกจ้างแรงงานฝีมือถึงจะอยู่กับท่านนานๆ?”

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ดังที่ท่านคงทราบกันดี การจะดำเนินธุรกิจให้ได้ผลกำไรดีอย่างต่อเนื่องและราบรื่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตหรือแรงงานเพียงสองอย่างเท่านั้น แต่ด้านผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ท่านจำหน่ายจะเป็นกลไกขับเคลื่อนธุรกิจที่สำคัญและเป็นตัวชี้วัดว่าธุรกิจนั้นจะอยู่หรือไป การเปิดเสรีไม่ว่าจะเป็น FTA ต่างๆหรือ AEC 2015 ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะทำให้สินค้าทั้งที่มีคุณภาพหรือมีลักษณะใกล้เคียงกับสินค้าที่ SMEs ไทยผลิตอยู่เข้ามาแข่งขันในตลาดในประเทศ และสินค้าเหล่านี้อาจจะมีราคาที่ต่ำกว่าสินค้าไทย ซึ่งจะเห็นได้ชัดในตัวอย่างของสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนที่วางขายกันอย่างแพร่หลายทุกวันนี้ เนื่องจากสินค้าเหล่านี้มีต้นทุนการผลิตทั้งด้านวัตถุดิบและค่าแรงงานการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศไทยมาก หากจะแข่งขันด้านราคาอย่างเดียว ประเทศไทยคงสู้ลำบาก ดังนั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทย ผู้ประกอบการ SMEs จึงจำเป็นจะต้องสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้าของตน โดยอาจจะพัฒนาและแปรรูปสินค้าที่ทำขายให้มีความหลากหลายและแหวกแนวเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญต้องไม่ลืมการสร้างตราสินค้าและนวัตกรรมที่เป็นของตนเองให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในด้านคุณภาพและการออกแบบ

ทั้งนี้ Global Warming เป็นประเด็นร้อนที่ท่านจะมองข้ามไม่ได้ ท่านต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับด้านการผลิตสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม หรือเน้นการใช้เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technologies) เข้ามาในกระบวนการผลิตมากขึ้น และอาจจะมีการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม เนื่องจากประเด็นเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าหรือการเป็นฐานการผลิตร่วมของประเทศคู่เจรจามากขึ้นในอนาคต

เรื่องที่ 4: ระเบียบ ธปท. ที่เอื้อต่อการปรับตัวและดำเนินธุรกิจของ SMEs

เขตการค้าเสรีต่างๆและการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทย ธปท. ในฐานะธนาคารกลางของประเทศได้พยายามช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวพร้อมรับการเปลยี่ นแปลงดังกล่าวโดยผ่อนคลายระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในต่างประเทศและการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ การผ่อนคลายระเบียบของ ธปท. ที่ผ่านมาทำให้การออกไปลงทุนต่างประเทศของผู้ประกอบการไทยทำได้ง่ายขึ้น โดยอนุญาตให้นิติบุคคลไทยสามารถออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (คือ ถือหุ้นมากกว่า 10%) หรือให้กู้ยืมกับกิจการในเครือในต่างประเทศได้ไม่จำกัดวงเงิน ซึ่งธุรกิจอาจถือโอกาสนี้ประกอบกับแนวโน้มค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น พิจารณาไปตั้งโรงงานในประเทศที่มีการขายสินค้า เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งและลดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน หรือย้ายฐานการผลิตไปยังกลุ่มประเทศที่มีแรงงานและวัตถุดิบราคาถูกกว่า เพื่อลดต้นทุนในการผลิต สำหรับในด้านการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ธปท. ได้เพิ่มวงเงินให้กับสำนักงาน กลต. สำหรับจัดสรรให้กับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนบุคคลไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้ภาคธุรกิจและบุคคลธรรมดาด้วย

ท่านผู้มีเกียรติครับ

การเปิดเสรีและการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน รวมทั้งบริบทใหม่ของเศรษฐกิจโลก จะทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีมากขึ้น และมีเงินทุนเคลื่อนย้ายมาสู่ประเทศไทยและอาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการระดมทุนของธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการเองก็ต้องพึงระวัง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ขณะนี้ไหลเข้าประเทศไทยมากก็มีโอกาสที่จะไหลออกจากประเทศไทยได้ ค่าเงินบาทจึงอาจผันผวนได้ทั้ง 2 ทิศทาง ทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น และปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อผลกำไรขาดทุนและอนาคตของกิจการ ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้เข้าไปดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เคลื่อนไหวรุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจและการปรับตัวของภาคเอกชน แต่การเข้าแทรกแซงดูแลดังกล่าวมีข้อจำกัด และเราไม่สามารถฝืนกลไกตลาดได้ เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นมากที่ภาคธุรกิจไทยจะต้องมีวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพอื่ รองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะหากมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่ดี ธุรกิจ SMEs จะไม่ต้องมาคอยกังวลเรื่องความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และมีเวลาหันไปมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาวแทน

ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถควบคุมปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน แต่เราสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ ธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางจะมีความอ่อนไหวต่อค่าเงินมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงมีความจำเป็นต้องเลือกเครอื่ งมือทางการเงินที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งวันนี้ผมจะขอพูดถึงการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน 2 ลักษณะ คือ การป้องกันความเสี่ยงแบบ natural hedge และ การป้องกันความเสี่ยงโดยใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ

การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Natural Hedge

หลักการง่ายๆ ของ natural hedge ก็คือ ผู้ประกอบการมีรายรับเป็นเงินสกุลไหน ก็ควรจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งด้านต้นทุน แรงงาน และด้านอื่นๆ ออกไปเป็นเงินสกุลนั้น เพื่อจะช่วยลดต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งการป้องกันความเสี่ยงแบบนี้ผู้ประกอบการอาจทำได้หลายวิธีแล้วแต่ประเทศคู่ค้าและอำนาจต่อรองกับคู่ค้าผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว หรือกัมพูชา ที่มีการใช้เงินบาทกันค่อนข้างแพร่หลายอยู่แล้ว และมีต้นทุนการผลิตสินค้าหรือต้นทุนด้านแรงงานเป็นเงินบาท อาจจะทำการซื้อขายสินค้ากันเป็นเงินบาทแทนเงินดอลลาร์เพื่อจะได้ไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือ การย้ายโรงงานไปผลิตในประเทศที่มีทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตเพื่อจำหน่ายสินค้าในประเทศนั้นที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ก็ถือเป็นการทำ natural hedge วิธีหนึ่งด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ธปท. ได้สนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อชำระค่าสินค้าบริการกันแทนเงินดอลลาร์ เช่น ผู้ประกอบการที่ค้าขายกับประเทศจีนหรือมาเลเซียโดยมีทั้งรายรับและรายจ่ายเป็นเงินสกุลท้องถิ่นอาจจะพิจารณาใช้เงินหยวนชำระค่าสินค้ากับคู่ค้าจีน หรือใช้เงินริงกิตชำระค่าสินค้ากับคู่ค้ามาเลเซียได้ เพราะนอกจากจะเป็นป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนส่วนหนึ่งแล้ว ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาเงินสกุลใดสกุลหนึ่ง (เงินดอลลาร์) มากเกินไปด้วย

นอกเหนือไปจากนั้น ที่ผ่านมา ธปท. ยังได้มีการผ่อนคลายระเบียบหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ หรือบัญชี FCD (Foreign Currency Deposit) โดยได้ยกเลิกวงเงินฝากสำหรับเงินฝากที่มีแหล่งที่มาจากต่างประเทศ และอนุญาตให้ผู้ส่งออกหรือบริษัทในประเทศที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศสามารถชำระค่าสินค้าหรือบริการเป็นเงินตราต่างประเทศกับบริษัทคู่ค้าในประเทศได้ โดยผ่านการโอนเงินจากบัญชี FCD ของตนเข้าบัญชี FCD ของคู่ค้า เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจและเอื้อให้ธุรกิจมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนโดยใช้เครื่องมือทางการเงิน

ธปท. ได้สนับสนุนให้มีการใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมและเอื้อต่อการบริหารความเสี่ยงของภาคเอกชน เช่น forward, options หรือธุรกรรมอนุพันธ์อื่นๆ โดยได้มีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้กับผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศผ่านการร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่จัดสัมมนาขึ้นเป็นประจำ นอกจากนี้ ธปท. ยังได้มีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถทำสัญญาจากประมาณการค่าสินค้าและบริการภายใน 1 ปี ได้ รวมถึงผ่อนผันให้ผู้ประกอบการสามารถยกเลิกสัญญาป้องกันความเสี่ยงค่าสินค้าและบริการได้ทุกกรณีเพื่อให้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกมีความคล่องตัวในการบริหารความเสยี่ งจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อเพิ่มศักยภาพ และความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาตลาดเงินตราต่างประเทศให้สามารถสะท้อนปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศมากขึ้น

นอกจากการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจแล้ว ธปท. ยังได้สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในตลาดการเงินอื่นๆเพื่อให้ตลาดการเงินของไทยมีความลึกและกว้างมากขึ้น และเพื่อเพิ่มทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการไทย ซึ่งในขณะนี้ ธปท. ได้ร่วมกับ TFEX พิจารณารายละเอียดของการจัดให้มี currency futures เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้ธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs มีการเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารความเสี่ยง

อย่างไรก็ดี ในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs นั้น สิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้คือการมีแนวทางที่ชัดเจนในการทำธุรกิจ และจะต้องมีระบบบัญชีของบริษัทที่มีมาตรฐานสากล โปร่งใส น่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา เพื่อสร้างประวัติทางการเงินที่ดีสำหรับเป็นข้อมูลให้แก่ธนาคารพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศหรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่างๆ ในการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อให้ท่าน ท่านจะต้องทำให้บัญชีมีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับสากล เพื่อแสดงถึงฐานะที่แท้จริงของธุรกิจ ซึ่งจะทำให้การขอสินเชื่อหรือหา partners มาร่วมทุนทำหรือขยายธุรกิจทำได้ง่ายขึ้น

ท่านผู้มีเกียรติครับ

เรื่องการค้าเสรีและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ท่านจะต้องรู้และเห็นโอกาสที่เข้ามา มีการปรับตัวเชิงรุกและพร้อมตั้งรับ ท่านจะต้องตระหนักแต่ไม่ตระหนก รู้เท่าทันและมองการณ์ไกลถึงสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ธุรกิจของท่านสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนตำราพิชัยสงครามของซุนวูได้เขียนไว้ และหลายๆท่านในที่นี้คงเคยได้ยินมา “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” การเปิดเสรีที่เกิดขึ้นก็ไม่ต่างอะไรกับการลั่นกลองศึกทางเศรษฐกิจ หากต้องการเป็นผู้ชนะท่านจะต้องเริ่มจาก “รู้เขา” กล่าวคือ รู้และเข้าใจว่าผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบจากเขตการค้าเสรีและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกเป็นอย่างไร รวมถึงการรู้เท่าทันคู่แข่งในตลาด และศึกษาตลาดต่างประเทศเพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น อาจพิจารณาร่วมทุนกับธุรกิจท้องถิ่นในประเทศอาเซียน ซึ่งจะช่วยสร้างตลาดและขยายลู่ทางทางธุรกิจเพิ่มขึ้น และยังต้องศึกษาหาแนวทางจัดสรรแหล่งวัตถุดิบและวางแผนห่วงโซ่การผลิตที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยบริหารด้านต้นทุน รวมถึงนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ

เมื่อ “รู้เขา” แล้ว สิ่งสำคัญที่ตามมาคือ “รู้เรา” กล่าวคือ ท่านจะต้องวิเคราะห์ธุรกิจของตนเองเพื่อพัฒนาจุดแข็งและกำจัดจุดอ่อนอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงหมั่นหาวิธีการหรือนวัตกรรมใหม่ๆที่จะช่วยในการพัฒนาศักยภาพในการผลิตหรือลดต้นทุนการผลิต นอกจากนั้น ท่านยังต้องศึกษาและทำความเข้าใจในสิทธิของท่านที่จะได้จากการประกอบธุรกิจหรือการลงทุนกับประเทศต่างๆ ตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยได้ลงนามตกลงไว้ และต้องไม่ลืมบริหารความเสี่ยงต่างๆ ทางธุรกิจอย่างเหมาะสม เพื่อรองรับความผันผวนและความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สุดท้ายนี้ อย่าลืมนะครับว่าการ “รู้” อย่างเดียวไม่พอ ท่านจะต้องลงมือปฏิบัติด้วย และหากทำได้ดังนี้ ธุรกิจ SMEs ของประเทศไทยก็จะพร้อมรับทุกสถานการณ์และสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ในยุคที่เศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกันเช่นทุกวันนี้ เวลาล้มไม่ได้ล้มคนเดียว หากคู่ค้าเราล้ม ท่านก็มีสิทธิล้มด้วย เหมือนการขับรถ ถ้ามีคนขับคนเดียวขับไม่ดี เกิดอุบัติเหตุ จะทำให้ผู้ใช้ถนนทั้งหมดเดือดร้อนรถติดหลายชั่วโมงได้ โดยแบงค์ชาติและภาครัฐจะทำหน้าที่เป็นตำรวจจราจร คอยอำนวยความสะดวกให้การจราจรทางเศรษฐกิจมีความคล่องตัวและราบรื่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ประกอบการเองจะต้องตื่นตัวระมัดระวัง และพร้อมรับมือกับสายฝนที่อาจโปรยปรายหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นตลอดเวลา เพื่อว่าหากเห็นรถคันข้างหน้าเกิดอุบัติเหต ท่านจะได้เหยียบเบรกหรือเลี้ยวหลบหลีกได้ทัน

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ