คำกล่าวเปิดงาน: สัมนาวิชาการ ประจำปี 2554 “เศรษฐกิจไทยก้าวไกลไปกับเอเชีย”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 21, 2011 11:24 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

คำกล่าวเปิดงาน

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

“เศรษฐกิจไทยก้าวไกลไปกับเอเชีย”

“Keeping Pace with Rising Asia”

ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2554

ณ ห้อง Bangkok Convention Centre โรงแรม Centara Grand at Central Word

วันที่ 20 ตุลาคม 2554 เวลา 09.30-10.00 น.

---------------------------------------------

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติ ที่ได้ต้อนรับทุกท่านสู่งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2554 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจัดเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2543 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 12 แต่ละครั้งได้รับความสนใจจากทุกท่านด้วยดีเสมอมา

ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่เต็มไปด้วยความผันผวนอย่างรุนแรง และเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้การพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายมากกว่าแต่ก่อน การดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินทกี่ อให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จึงต้องอาศัยวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล และกลั่นกรองมาจากขุมปัญญาที่ได้รับการสนับสนุนจากประสบการณ์ที่สั่งสมสืบทอดกันมา

วิสัยทัศน์เช่นว่านี้ คงมิได้เกิดจากความคิดความอ่านของธนาคารแห่งประเทศไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่มักจะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่ผสานรวมเป็นแนวทางที่จะเดินไปด้วยกัน เวทีสัมมนาวิชาการในวันนี้ จึงเป็นโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้แลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองกับทุกท่าน เพื่อจะสร้างพลวัตรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติไปในทิศทางที่เหมาะสม

ท่านผู้มีเกียรติครับ

เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักกำลังสั่นคลอนจากการกอบกู้เศรษฐกิจให้ฟื้นจากวิกฤติการเงิน และจากปัญหาหนี้สาธารณะที่เรื้อรังในขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีหน้าและระยะต่อไปของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะขยายตัวได้ในระดับสูง สูงกว่าอัตราการขยายตัวของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายเท่าตัว ซึ่งในการสัมมนาวิชาการในปีก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้แสดงทัศนะไว้แล้วว่าเศรษฐกิจเอเชียจะกลายมาเป็นหัวรถจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในทศวรรษต่อไป

ดังนั้น หากเราเปรียบความสำคัญของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเช่นหัวรถจักรที่กำลังพุ่งทะยานไปข้างหน้า ประเทศไทยจะเปรียบได้กับตู้ขบวนที่แล่นไปพร้อมกับรถไฟขบวนนี้ เหตุนี้ประเทศไทยจึงต้องปรับยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับดุลยภาพเศรษฐกิจใหม่ และนี่คือที่มาของหัวข้อการสัมมนาวิชาการประจำปีนี้ “เศรษฐกิจไทยก้าวไกลไปกับเอเชีย”

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับทุกท่านในฐานะฟันเฟืองของเศรษฐกิจไทย ให้เกิดความเข้าใจ ทั้งในส่วนของภาวะแวดล้อมนอกประเทศ และสภาพที่เป็นอยู่ของไทยในการแล่นไปกับรถด่วนขบวนเอเชียงานวิจัยที่จะนำเสนอในการสัมมนาครั้งนี้ มีเนื้อหาแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ (1) การก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน (2) การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และ (3) ความพร้อมของประเทศไทย

ท่านผู้มีเกียรติครับ

เนื้อหาในเรื่องแรก ผมมีสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศจีนว่า ถ้าไม่รวมประเทศผู้ส่งออกน้ำมันแล้ว ประเทศจีนเป็นเพียงประเทศเดียวในประวัติศาสตร์ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยเป็นตัวเลขสองหลักต่อเนื่องกันมากกว่า 30 ปี จีนในปัจจุบันจึงมีความสำคัญทั้งในการเป็นประตูการส่งออกของเอเชีย และเป็นตลาดที่มีมูลค่าการบริโภคสูงอีกด้วย การสัมมนาในปีนี้จึงเปรียบเทียบจีนเสมือนดั่งหัวรถจักรสมรรถนะสูง ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจจีนทำให้เศรษฐกิจเอเชียยังวิ่งต่อไปได้คำถามที่สำคัญ คือ การเติบโตนี้จะยั่งยืนหรือไม่ จะต้องใช้เชื้อเพลิงใหม่ประเภทใดมาป้อนหัวรถจักรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และบรรทุกน้ำหนักมากขึ้นให้แล่นไปได้ด้วยความเร็วระดับเดิม

การวางยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เติบโตไปพร้อมกับจีน เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เพราะไม่ว่าประเทศไทยจะเลือกเดินในทางเลือกใด ก็จะต้องยกระดับผลิตภาพต้องลงทุนมากขึ้นในการวิจัยและพัฒนา และต้องสร้างนวัตกรรมของตนเอง

ส่วนเรื่องที่สอง เป็นที่น่าจับตามองว่าประเทศในเอเชียที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดเล็กกว่าจีนรวมทั้งประเทศไทย จะมีการรวมกลุ่มเพื่อเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กันและกัน ณ จุดเริ่มของการรวมกลุ่มมีเป้าหมายเพื่อเปิดเสรีด้านการค้าและบริการ ซึ่งมีพัฒนาการต่อเนื่องมายาวนานกว่า 20 ปี เป้าหมายก้าวต่อไป คือ การรวมกลุ่มที่เหนียวแน่นมากขึ้นภายใต้การเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (AEC) ในปี พ.ศ. 2558 ภายใต้การรวมกลุ่มของประชาคมนี้ จะครอบคลุมไปถึงการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตเพิ่มเติมจากสินค้าและวัตถุดิบ นั่นคือ แรงงานฝีมือ และเงินทุน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการผลิตจากการแบ่งงานกันทำ การสร้างขีดความสามารถรวมไปถึงการสร้างพัฒนาการ และบูรณาการให้เข้ากับเศรษฐกิจโลก

สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในกลุ่มประเทศสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย คือ การก้าวเดินไปตามพิมพ์เขียวที่ตกลงไว้ร่วมกัน ซึ่งในระยะต่อไป ประชาคมอาเซียนจะช่วยกันลดอุปสรรคที่ทำให้การเปิดเสรีไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎระเบียบและความแตกต่างกันในตัวบทกฎหมายของแต่ละประเทศ การเปิดเสรีในสาขาที่ยังต้องหาข้อยุติร่วมกันอีกมาก ได้แก่ สาขาบริการ การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ บริการทางการเงิน และการเคลื่อนย้ายเงินทุน

และในเรื่องสุดท้าย เมื่อมองความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคแล้ว คงต้องย้อนถามตนเองว่าในบริบทของประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยัง ความใหญ่โตของเศรษฐกิจจีนทำให้ประเทศไทยต้องหาจุดยืนที่เหมาะสม ความกังวลแรก คือ ความเร่งด่วนในการกำหนดทิศทางของประเทศก่อนที่จะถูกจีนเบียดตกเวทีการค้าโลก ในขณะที่ความกังวลรองลงมาคือ การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาศักยภาพเพื่อให้มีการขยายตัวในระดับที่ไม่ด้อยไปกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค จุดเปลี่ยนเชิงนโยบายเหล่านี้จะเป็นปัจจัยกำหนดว่าจะต้องยกระดับเชิงโครงสร้างครั้งใหม่มากเพียงใด ซึ่งนัยของการเปลี่ยนแปลงมิได้จำกัดแค่ในแวดวงหน่วยงานผู้กำหนดนโยบายเท่านั้นแต่รวมถึงภาคธุรกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกันไปด้วย

ในระยะอันใกล้นี้ เราคงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งทางด้านกฎระเบียบ และแผนแม่บทการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงประโยชน์จากการผนวกรวมเป็นเขตเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เรามักจะนึกถึงประโยชน์ทางด้านสินค้าส่งออก และการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ แต่มักจะมองข้าม โอกาสในการส่งเสริมให้คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่นพบว่าเรายังมีระดับการไปลงทุนต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ นั่นคือ ขาดการกระจายการลงทุน ซึ่งทำให้ประเทศไทยไม่มีความยืดหยุ่นที่จะรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้เท่าที่ควร

การส่งเสริมให้มีการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น นอกจากจะสอดคล้องกับการเปิดเสรีด้านการลงทุน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนอันเป็นผลพวงมาจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ยังจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในการก้าวข้ามข้อจำกัดของทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่น้อยและช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของไทยในเวทีโลกท่านผู้มีเกียรติครับ

ระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อกันมากขึ้นจะทำให้ความเปลี่ยนแปลงหรือแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้น ณประเทศใดประเทศหนึ่ง กระทบไปถึงประเทศอื่น ไม่ว่าผลกระทบนั้นจะเป็นด้านบวก หรือด้านลบก็ตามที่กล่าวเช่นนี้ เพราะมีนัยต่อประเทศไทยในการเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ไม่เฉพาะส่วนที่กระทบต่อประเทศไทยโดยตรงเท่านั้น แต่ต้องพร้อมรับมือผลกระทบทางอ้อม (หรือ Spill-over effect และ Network effect) จากการเปลี่ยนแปลงในภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งอีกด้วย

การสร้างความแข็งแกร่ง และเสริมความสามารถในการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญอันยิ่งยวด การจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องอาศัยการปรับกระบวนทรรศน์ของเราให้ได้เสียก่อน ผมมองว่าการทำธุรกิจในยุคเอเชียใหม่ เราต้องตระหนักว่าเรามีทางเลือกในการใช้ปัจจัยการผลิตที่มากขึ้น และมิได้จำกัดแค่แหล่งในประเทศเท่านั้น อาทิ ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ การเคลื่อนย้ายแรงงาน เงินลงทุน และทำเลที่ตั้ง เป็นต้น นักธุรกิจจะต้องปรับแนวความคิดออกจากกรอบประเทศไทย และยกระดับการบริหารจาก “ผู้บริหารระดับท้องถิ่น” (Local manager) เป็น “ผู้บริหารระดับภูมิภาค” (Regional manager) เพื่อเลือกทางเลือกการใช้ปัจจัยการผลิตที่ดีที่สุด อ้นจะเป็นการลดต้นทุน และผลักดันตำแหน่งทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ระดับที่สูงขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะธนาคารกลางได้มีการเตรียมพร้อมเชิงนโยบายให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และแสวงหาความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระยะยาวเป็นสำคัญแนวนโยบายที่ดำเนินการผ่านมา นอกเหนือไปจากการเตรียมรองรับความผันผวน และการสร้างเสถียรภาพในระยะยาวแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมุ่งที่จะสื่อสารแนวการดำเนินนโยบายให้เป็นเรื่องที่ประชาชนเข้าใจได้ง่าย และสามารถวางแผนการดำเนินธุรกิจ การออม และการลงทุน ให้สอดรับกับแนวนโยบาย เพื่อที่ภาคผู้กำหนดนโยบาย และภาคเอกชนจะได้มีเป้าหมายการพัฒนาไปสู่จุดร่วมเดียวกันในอนาคต

ท่านผู้มีเกียรติครับ

เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของการจัดงาน ผมขอเชื้อเชิญทุกท่านใช้โอกาสในการสัมมนาแห่งนี้เป็นเวทีในการแสดงความเห็น แลกเปลี่ยนทรรศนะและประสบการณ์ ซึ่งเป็นกระบวนการเชื่อมโยงไปสู่ข้อเสนออันเป็นประโยชน์ต่อทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจผมขอถือโอกาสนี้ขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ให้เกียรติและสละเวลามาเป็นผู้วิจารณ์บทความ และผู้ร่วมเสวนา ทำให้การสัมมนาในครั้งนี้มีมิติ และมุมมองที่กว้างและลึกยิ่งขึ้น

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ได้เวลาอันควรแล้ว ผมขอเปิดการสัมมนาวิชาการประจำปี 2554 ของธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อเรื่อง “เศรษฐกิจไทยก้าวไกลไปกับเอเชีย” ณ บัดนี้

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ