สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนกันยายน ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 2, 2011 14:42 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 20/2554

เศรษฐกิจภาคใต้เดือนกันยายนโดยรวมขยายตัวชะลอลง แม้ว่า การผลิตภาคการเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการส่งออก ที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกทั้งสหรัฐอเมริกา และยุโรป กอปรกับสถานการณ์อุทกภัยในประเทศ ทำให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแรงกดดันของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอลงจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงก็ตาม

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ภาคการผลิต ผลผลิตภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 14.2 ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันเป็นสำคัญ ในขณะที่ผลผลิตยางพาราลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.5 ด้านราคาพืชผลเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 แม้ว่าจะชะลอลงจากเดือนก่อนทั้งราคายางและปาล์มน้ำมัน เนื่องจากอุปสงค์ยางพาราที่ชะลอตัวจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และยุโรป ส่วนราคาปาล์มน้ำมันชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาในตลาดโลกเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ทั้งผลผลิตในประเทศ และในแหล่งผลิตสำคัญของมาเลเซียและอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันโรงกลั่นในภาคกลางชะลอซื้อจากปัญหาอุทกภัย อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรยังคงอยู่ในระดับสูงโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.9 ด้านผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยผลผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและถุงมือยางลดลง จากความต้องการของตลาดสหภาพยุโรปที่มีสัดส่วนมากลดลง ขณะที่การผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดมาก นอกจากนี้ ผลผลิตยางพาราแปรรูป และไม้ยางพาราแปรรูป เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดจีนที่มีต่อเนื่อง

ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวชะลอลง เนื่องจาก สภาพอากาศที่แปรปรวนและเหตุการณ์ระเบิดที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เป็นนักท่องเที่ยวหลักของภาคใต้ชายแดนลดลง ร้อยละ 11.4 โดยเดือนนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือน เดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.2 จากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย และสิงคโปร์ เป็นสำคัญ

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 5.4 ชะลอลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอุทกภัยที่ทำให้สินค้าไม่เพียงพอ จะเห็นได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชะลอตัวจากเดือนก่อน แต่อย่างไรก็ตาม จากรายได้เกษตรที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีประกอบกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยสามารถผลิตและส่งมอบรถยนต์ได้ตามปกติ ส่งผลให้การจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี

การลงทุนโดยรวม ชะลอตัวตามดัชนีการลงทุนภาคการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 ขณะที่เงินลงทุนรวมของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรายใหม่ และมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ลดลงส่วนหนึ่ง เนื่องจากการรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐ

การส่งออก ขยายตัวในเกณฑ์ดี มีมูลค่า 1,799.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 38.9 ตามมูลค่าส่งออกยางพาราที่ชะลอตัวจากอุปสงค์ในต่างประเทศที่กังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และยุโรป แม้ว่าการส่งออกไปตลาดจีนจะยังเพิ่มขึ้นก็ตาม นอกจากนี้ สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ น้ำมันปาล์ม และก๊าซธรรมชาติ

ทางด้านสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ขยายตัวประมาณร้อยละ 18.2 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ทำให้ความต้องการเงินทุนหมุนเวียน และสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นขณะเดียวกันเงินฝากขยายตัวประมาณร้อยละ 15.1 เป็นผลจากการขยายฐานเงินฝากเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ กอปรกับรายได้เกษตรกรยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.86 ชะลอตัว ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ขณะที่ราคาสินค้าบางรายการในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาทิ อาหารสำเร็จรูปผักและผลไม้ ไข่ และไก่สด เป็นต้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร.0-7427-2000 ต่อ 4713 e-mail : somtawis@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ