สรุปการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อรองรับปัญหาจากสถานการณ์อุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 23, 2011 14:02 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 53/2554

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยได้ประสบปัญหาอุทกภัยที่รุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน ตลอดมาจนถึง เดือนตุลาคม 2554ซึ่ง ธปท. ได้มีการติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดและมีความเป็นห่วงด้านผลกระทบต่อการทำงานของระบบการเงินและสถาบันการเงิน ธปท. จึงเห็นความจำเป็นที่ต้องสร้างระบบการสื่อสารกับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างรวดเร็วและชัดเจนโดยผ่านระบบ VDO conference ซึ่งเป็นกลไกช่วยให้สามารถสื่อสารสถานการณ์ระหว่าง ธปท.และสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้อย่างใกล้ชิด และสามารถร่วมกันตัดสินใจแก้ปัญหาในประเด็นที่ฉุกเฉินและสำคัญ เช่น ความจำเป็นในการนำแผนฉุกเฉินมาใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ และการหาข้อสรุปร่วมกันในการกำหนดเงื่อนไขการตัดสินใจหากจะมีการกำหนดให้สถาบันการเงินหยุดให้บริการ และจากการประเมินสถานการณ์ตลอดจนเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ธปท. ร่วมกับสถาบันการเงินร่วมกันตัดสินใจไม่ประกาศหยุดทำการ โดยสถาบันการเงินเองก็พยายามให้บริการแก่ประชาชนโดยมีการเปิดทำการในส่วนที่มีความเร่งด่วนและมีความสำคัญ โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของพนักงาน และมีการสื่อสารให้กับพนักงานได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพิจารณาลดทอนการดำเนินงานให้เหลือเฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน และความต่อเนื่องในการให้บริการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจซึ่งในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากพนักงานภาคสถาบันการเงินที่ให้บริการอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงที่สถานการณ์อุทกภัยส่งผลกระทบรุนแรงทำให้สาขาธนาคารพาณิชย์หลายแห่งรวมทั้งเครื่อง ATM ต้องหยุดให้บริการ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นได้เริ่มทยอยกลับมาให้บริการได้ตามปกติ แม้ว่าในขณะนี้ยังมีบางพื้นที่ที่ยังคงได้รับผลกระทบอยู่อีกจำนวนหนึ่ง

จากการหารือ VDO Conference ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 พบว่า ระบบสถาบันการเงินมีความเสี่ยงจากภาวะอุทกภัยลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารทหารไทยก็สามารถกลับเข้ามาดำเนินงานที่สำนักงานใหญ่ได้ตามปกติแล้ว

ธปท. ขอเรียนสรุปมาตรการต่าง ๆ ที่ได้มีการดำเนินการแล้ว ดังนี้

1. มาตรการดูแลสภาพคล่องของระบบการเงิน : ธปท. ยังเปิดให้ทำธุรกรรมการเงินเป็นปกติโดยมีการติดตามสภาพคล่องในระบบอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินมาตรการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบตามความเหมาะสม นอกจากนี้ ยังได้สื่อสารให้ธนาคารพาณิชย์มีการสำรองเงินไว้ในบัญชีที่ ธปท. เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเบิกถอนเงินสดของลูกค้าให้เพียงพอ

2. การสนับสนุนสภาพคล่องแก่สถาบันการเงิน ธปท. และธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ร่วมมือกันในการสนับสนุนสภาพคล่องเงินบาทแก่สถาบันการเงินในประเทศไทยโดยการรับหลักทรัพย์รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นหลักประกัน ซึ่ง ธปท. คาดว่าช่องทางนี้จะช่วยสนับสนุนสถาบันการเงินในประเทศไทย รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นที่ดำเนินงานอยู่ในประเทศไทยสามารถให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูและรองรับความต้องการสภาพคล่องของบริษัทและธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

3. มาตรการรองรับด้านการชำระเงิน : ธปท. ออกหนังสือเวียนซักซ้อมความเข้าใจในแนวทางการเตรียมการของระบบการหักบัญชีเช็คกรณีเกิดอุทกภัย โดยเตรียมศูนย์สำรองเพื่อรองรับระบบการโอนเงินระหว่างธนาคาร (บาทเน็ต) และระบบการหักบัญชีเช็ค ที่พุทธมณฑลสาย 7 สำหรับระบบรองรับการโอนเงินรายย่อยข้ามธนาคาร รวมทั้ง ประสานงานกับผู้ให้บริการระบบให้มีการเตรียมความพร้อมทั้งที่ศนู ย์หลักและศูนย์สำรองมาตรการการเตรียมเงินสดรองรับการเบิกจ่าย : เพื่อให้ประชาชนไม่เกิดปัญหาในการเบิกถอนเงินสด ธปท. จึงได้เตรียมสำรองธนบัตรไว้ล่วงหน้า 3 เดือน หรือคิดเป็นมูลค่า 5.7 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการเบิกจ่ายของประชาชนในช่วงที่มีเหตุอุทกภัยหลายพื้นที่ และได้มีการสำรองธนบัตรไว้ที่ศูนย์จัดการธนบัตรที่มีการคมนาคมสะดวก เช่น ศูนย์จัดการธนบัตรระยอง และนครราชสีมา

4. มาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้:

1) ธปท. ได้ออกหนังสือเวียนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2554 และวันที่ 19 ตุลาคม 2554 สรุปสาระสำคัญ คือ

  • ผ่อนผันให้สถาบันการเงิน และ non-bank คงสถานะจัดชั้นของลูกหนี้ไว้เดิมก่อนการประสบอุทกภัย และให้ถือว่าการให้สินเชื่อใหม่ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ การลดเงินต้น และ/หรือ ดอกเบี้ย หรือการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั่วไปตามแนวนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของ ธปท.
  • ให้สามารถลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำได้ต่ำกว่า 10% ของยอดคงค้างได้ สำหรับลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัย จนถึง 30 มิถุนายน 2555

นอกจากนี้ ธปท. โดยคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน เห็นควรผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการออกหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงิน ดังนี้

  • ขยายเวลาการบังคับใช้หลักเกณฑอ์ ตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV Ratio) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีราคาซื้อขายต่ำกว่า 10 ล้านบาทออกไป 1 ปี (มีผลบังคับใช้ วันที่ 1 มกราคม 2556)
  • กำหนดน้ำหนักความเสี่ยง (Risk Weight) สำหรับสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้มี น้ำหนักความเสี่ยงร้อยละ 35 โดยมีระยะเวลาผ่อนปรนจนถึง 31 ธันวาคม 2555

2) สมาคมธนาคารไทย สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ Non-bank ได้ประกาศแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัย โดยจะมีการผ่อนผันการชำระเงินต้น และ/หรือดอกเบี้ยเป็นเวลาสูงสุด 6-12 เดือน ขยายเวลาการผ่อนชำระหนี้ ให้สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ รวมทั้งสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ Non-bank แต่ละแห่ง ก็ได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าของตนเองเพิ่มเติมแล้ว

3) บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ได้ผ่อนผันการรายงานข้อมูลลูกหนี้ และการรายงานข้อมูลเครดิต โดยได้มีหนังสือถึงสมาชิกให้ลูกหนี้ที่ทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือการขยายเวลาการชำระหนี้กับสมาชิก ไม่ต้องบันทึกเข้าในประวัติของลูกหนี้ และให้สมาชิกสามารถขยายเวลาการส่งข้อมูลเครดิต เดือนตุลาคม 2554 ออกไป 1 เดือน

5. การแบ่งเบาภาระของประชาชน โดยมี ธนาคารพาณิชย์ไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน และธนาคารอิสลาม ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดผ่าน ATM ข้ามเขต ระหว่างวันที่ 4-30 พฤศจิกายน 2554

การบรรเทาภาระให้กับสถาบันการเงิน : ธปท. ได้ดำเนินการผ่อนผันการส่งรายงานข้อมูลเดือนตุลาคม 2554 ออกไปอีก 1 เดือนนับจากระยะเวลาที่กำหนดไว้เดิม เพื่อลดภาระของ สถาบันการเงินที่ต้องดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานควบคู่ไปด้วย โดยให้มีเฉพาะพนักงานที่จำเป็นมาปฏิบัติงาน เท่านั้น ส่วนพนักงานอื่นสามารถปฏิบัติงานที่บ้านได ?

6. การให้บริการรับเรื่องร้องเรียนจากลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัยผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ในช่วงแรกของการเกิดเหตุอุทกภัย ยังมีเรื่องร้องเรียนจากลูกหนี้ผู้ประสบอุทกภัยไมม่ กนัก แตภ่ ยหลังจากที่ สถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มทยอยดีขึ้น ก็เริ่มมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยในช่วงวันที่ 1— 18 พฤศจิกายน 2554 มีเรื่องร้องเรียนด้านสถาบันการเงินจากลูกหนี้ทั้งสิ้นรวม 56 ราย ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการขอขยายระยะเวลาชำระ หนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ และการติดตามทวงถามหนี้ของสถาบันการเงินและ Non-bank ซึ่ง ธปท. ได้ติดต่อและประสานงานโดยตรงไปยังกับสถาบันการเงินและ Non-bank เป็นรายกรณีแล้ว เพื่อให้กระบวนการติดตามแก้ไขปัญหาของลูกหนี้ผู้ประสบอุทกภัยได้ดำเนินการลุล่วงโดยเร็ว

แม้ว่าระบบการเงินจะสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ ธปท. ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์อุทกภัยที่มีความรุนแรงและต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน และการดำเนินธุรกิจของกิจการที่ต้องการการฟื้นฟูในวงกว้าง ธปท.จึงอยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกับสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยสนับสนุนการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งช่วยคลี่คลายสถานการณ์ผลกระทบของลูกหนี้และสถาบันการเงินให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

จากเหตุการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ อาจมองอีกมุมหนึ่งได้ว่าเป็นโอกาสที่ ธปท. ร่วมกับสถาบันการเงินทุกแห่งสามารถเรียนรู้และสรุปเป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงแผนฉุกเฉินให้มีความเหมาะสมทั้งในด้านการเตรียมการการป้องกัน ตลอดจนการรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้า

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ