ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 1, 2011 11:52 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 55/2554

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ในวันนี้ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อรวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงจากปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเงินของประเทศหลักมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำและตลาดแรงงานที่ซบเซาอยู่ ทำให้การฟื้นตัวยังเปราะบาง สำหรับเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ขยายตัวชะลอลงในไตรมาสที่ 3 จากการส่งออกที่เริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก แม้อุปสงค์ในประเทศยังเติบโตได้

ปัญหาอุทกภัยส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงและเป็นวงกว้างกว่าที่ปรากฏในช่วงการประชุมครั้งก่อนโดยการผลิตบางส่วนหยุดชะงักจากผลกระทบทางตรงของอุทกภัยและผลกระทบทางอ้อมผ่านเครือข่ายการผลิตชิ้นส่วน ทำให้ส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อการส่งออกที่เริ่มชะลอตัวตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก และทำให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนปรับลดลงมาก ทั้งนี้ คาดว่าผลจากอุทกภัยจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 และทั้งปี 2554 ขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่ประเมินไว้มาก และแม้ว่าสถานการณ์อุทกภัยได้ผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว และเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการบูรณะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ถ้าหากมีปัญหาล่าช้าก็จะกระทบความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศในระยะต่อไปได้

แม้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังมีอยู่จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และอุปสงค์ภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นจากการบูรณะฟื้นฟูภายหลังปัญหาอุทกภัยคลี่คลาย แต่เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอจะมีผลลดแรงกดดันดังกล่าวลงระดับหนึ่ง ขณะที่การขาดแคลนสินค้าจากภาวะอุทกภัยเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวและส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้นเฉพาะในบางกลุ่มสินค้าและในบางพื้นที่เท่านั้น ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเร่งขึ้นจนบั่นทอนเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจจึงมีไม่มาก

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอลงมีมากขึ้น และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนยังอ่อนแอ ส่วนแรงกดดันด้านราคายังมีอยู่ แต่ไม่น่าจะเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้นโยบายการเงินซึ่งแม้ปัจจุบันอยู่ในภาวะผ่อนปรนอยู่แล้ว ก็สามารถมีบทบาทสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะต่อไปได้มากขึ้น จึงมีมติ 5 ต่อ 2 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 3.25 ต่อปี โดย 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามผลกระทบของเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับความจำเป็นของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ข้อมูลเพิ่มเติม : ทีมกลยุทธ์นโยบายการเงิน 1 โทร: 0-2283-5621, 0-2283-6186

e-mail: MonetaryPolicyStrategyTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ